เกิดอะไรขึ้นที่เปรู เมื่อความไม่พอใจที่ผู้นำถูกปลด นำไปสู่การประท้วงที่มีคนตายแล้ว 40 ศพ
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เพจTHE STANDARD วิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศเปรู โดยรายงานว่า ดูเหมือนว่ากระแสการประท้วงเดือดทั่วเปรูที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 เดือนนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ซ้ำร้ายจำนวนผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดเพิ่งปะทุขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 มกราคม) เมื่อผู้ประท้วงได้เข้าปะทะกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยของเปรูในภูมิภาคปูโน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย โดย 17 รายเป็นพลเรือน ส่วนอีก 1 รายคือตำรวจที่ถูกผู้ประท้วงจุดไฟเผารถยนต์จนวอด
นับตั้งแต่ที่การประท้วงเปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 40 รายด้วยกัน และมีผู้บาดเจ็บอีกหลักร้อยราย THE STANDARD ขอขมวดไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่เปรู ชนวนความไม่พอใจมาจากอะไร และมันจะสิ้นสุดลงที่ไหน
เกิดอะไรขึ้นที่เปรู
ต้นตอของความวุ่นวายทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่เปโดร กัสติโย อดีตประธานาธิบดีเปรู วัย 53 ปี ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและถูกจับเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้สนับสนุนกัสติโยอย่างมาก จนทำให้ประชาชนออกมาประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
โดยการประท้วงเริ่มเปิดฉากขึ้นในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม ในพื้นที่ห่างไกลทางตอนใต้ของประเทศ ก่อนที่จะขยายวงกว้างไปสู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออก โดยผู้ประท้วงได้ทำลายทรัพย์สินของรัฐจำนวนมาก อีกทั้งยังฉวยโอกาสปล้นสะดมท่ามกลางสภาพความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และสำนักงานภาษีประจำภูมิภาคหลายแห่งถูกผู้ประท้วงจุดไฟเผา
ในหลายพื้นที่ ผู้ประท้วงได้ปิดถนนหนทางและเข้าปิดล้อมสนามบินจนทำให้การเดินทางสัญจรในเปรูปั่นป่วน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนหลายครั้งทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลของดินา โบลัวร์เต ประธานาธิบดีคนใหม่ ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศในวันที่ 14 ธันวาคม โดยให้อำนาจพิเศษแก่ตำรวจ และจำกัดสิทธิในการชุมนุม หลังจากที่สถานการณ์ประท้วงรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายในระยะเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว
ชนวนเหตุมาจากอะไร
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าชนวนเหตุความไม่พอใจมาจากการที่กัสติโยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่เราขอเล่าย้อนกลับไปให้อ่านถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ถูกเด้งออกไปกลางคัน
เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม กัสติโยได้ประกาศยุบสภา พร้อมประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และแต่งตั้ง ‘รัฐบาลชุดพิเศษ’ เพราะต้องการที่จะขัดขวางไม่ให้สภาเปิดการประชุมถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งเป็นครั้งที่ 3 (ในรอบเกือบ 2 ปีที่เขานั่งเก้าอี้ผู้นำ) ซึ่งสมาชิกสภาได้ต่อต้านการกระทำของกัสติโยอย่างรุนแรง โดยภาคการเมืองของเปรูมองว่าสิ่งที่กัสติโยทำนั้นไม่ต่างอะไรกับการก่อรัฐประหาร
แต่ภายหลังจากนั้นแค่ไม่กี่ชั่วโมง ความพยายามของกัสติโยก็ต้องพังทลายลง หลังตำรวจและทหารปฏิเสธที่จะทำตามการตัดสินใจของเขา ขณะรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลประกาศลาออกทันที อีกทั้งยังกล่าวประณามการกระทำที่ไม่ต่างกับการรัฐประหาร รวมถึงโจมตีพันธมิตรทางการเมือง กองกำลังติดอาวุธ ตำรวจ และทนายความที่เห็นดีเห็นงามด้วย
เมื่อท่าเริ่มไม่ดี กัสติโยจึงรีบพยายามขอลี้ภัยในสถานทูตเม็กซิโก แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกจับกุมตัว ก่อนที่จะถูกตั้งข้อหา ‘ก่อกบฏ’ ในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน ด้านรัฐสภาเปรูได้เดินหน้าลงมติถอดถอนกัสติโยออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 101 ต่อ 6 เสียง ส่งผลให้กัสติโยถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเป็นผู้นำที่มีความบกพร่องทางศีลธรรม
หลังจากนั้น ดินา โบลัวร์เต รองประธานาธิบดีในเวลาดังกล่าว ก็ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับไม้ต่อเป็นผู้นำคนใหม่ พร้อมให้สัญญาว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนธันวาคม 2023 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมในปี 2026 อยู่มาก
ทำไมประชาชนถึงโกรธนัก
แม้กัสติโยจะพยายามยึดอำนาจไปในลักษณะที่ใครๆ มองว่าไม่ชอบธรรมนัก รวมถึงยังโดนข้อกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชันหลายคดี แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้ทำให้ผู้สนับสนุนของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบชนบทนั้นโกรธเคือง ตรงกันข้าม พวกเขาต่างเดือดดาลที่สภาคองเกรสขับผู้นำที่ตนชื่นชอบออกจากตำแหน่ง
กัสติโยถือเป็น ‘ขวัญใจ’ ของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยและคนรากหญ้า เพราะภูมิหลังของเขาคือลูกชายชาวนาที่ไม่รู้หนังสือ รวมถึงเป็นครูสอนหนังสือในชนบท ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง ด้วยเหตุนี้กัสติโยจึงถือเป็นตัวแทนของคนจนจากแถบชนบทคนแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้สำเร็จ และเป็นดั่ง ‘ความหวัง’ ที่จะช่วยพลิกฟื้นให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวเปรูที่มีฐานะยากจนรู้สึกไม่พอใจกับภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้พวกเขาต้องแบกค่าครองชีพที่สูงกว่าเดิม ประกอบกับความไม่พอใจที่คนรากหญ้าแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเปรูมายาวนาน การที่ผู้นำในดวงใจของพวกเขาซึ่งเคยประกาศในระหว่างการหาเสียงว่า “จะไม่มีคนจนในประเทศที่ร่ำรวยอีกต่อไป” จึงยิ่งทำให้พวกเขาโกรธแค้น
ผู้ที่สนับสนุนกัสติโยมองว่าการลงมติถอดถอนครั้งนี้เต็มไปด้วยคำโกหกและกลอุบาย และโบลัวร์เตเองก็ไม่สมควรที่จะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเธอไม่ใช่คนที่ประชาชนเลือก นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เปรูต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกรัฐบาลจากเสียงของตัวเองเองจริงๆ
ขณะที่ เอดูอาร์โด กามาร์รา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำมหาวิทยาลัยฟลอริดา อินเตอร์เนชันแนล ชี้ว่า รัฐสภาเปรูสามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ และประธานาธิบดีเปรูเองก็มีความสามารถในการสั่งยุบสภาเช่นกัน ดังนั้นแล้วในทางเทคนิค นี่จึงอาจไม่ใช่การรัฐประหาร แต่จำเป็นต้องอาศัยการตีความว่า แท้ที่จริงแล้วรัฐสภาและประธานาธิบดี ใครมีอำนาจเหนือกว่ากัน ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
โดยผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้โบลัวร์เตลาออกจากตำแหน่ง และขอให้มีการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด รวมถึงปล่อยตัวกัสติโยซึ่งถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลา 18 เดือนในข้อหาสมรู้ร่วมคิดและก่อกบฏ ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
สถานการณ์ล่าสุด
เมื่อวันที่ 10 มกราคม สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นกับประธานาธิบดีเปรู รวมถึงสมาชิกในคณะรัฐมนตรีอีกหลายคน หลังเหตุประท้วงรุนแรงตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมจนถึงปัจจุบันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 40 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยราย
นอกเหนือจากโบลัวร์เตแล้ว อัยการสูงสุดของเปรูกล่าวว่า ขณะนี้ทางการกำลังดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นต่ออัลเบอร์โต โอตาโรลา นายกรัฐมนตรี รวมถึงจอร์จ ชาเวซ (Jorge Chávez) รัฐมนตรีกลาโหม และวิคเตอร์ โรจัส (Victor Rojas) รัฐมนตรีมหาดไทยร่วมด้วย ในข้อกล่าวหาด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฆาตกรรม และทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวโจมตีว่า ทางการเปรูใช้อาวุธปืนโจมตีผู้ประท้วงและทิ้งระเบิดควันจากเฮลิคอปเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้เปรูเคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการสากลในการรับมือกับการประท้วง เพื่อจะได้ไม่ต้องมีใครเสียชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ทางกองทัพโต้ว่า ผู้ประท้วงใช้อาวุธและวัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเองเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่
ขณะเดียวกัน ทางการเปรูก็ได้ประกาศเคอร์ฟิวในภูมิภาคปูโนเมื่อวันที่ 10 มกราคม เพื่อหวังลดระดับความรุนแรงในการประท้วงลง หลังการปะทะระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 8 มกราคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 18 ราย โดยนายกรัฐมนตรีโอตาโรลากล่าวว่า จะมีการใช้เคอร์ฟิวช่วงกลางคืนเป็นเวลา 3 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 น. ไปจนถึง 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ชาวเปรูหลายร้อยคนในภูมิภาคเปรูได้แบกโลงศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปตามท้องถนน เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้ที่จากไป ก่อนที่จะนำไปฝังพร้อมกับรูปถ่าย ดอกไม้ ธงชาติเปรู และป้ายข้อความที่กล่าวโทษรัฐบาลที่ใช้กำลังสลายการประท้วงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
“เหตุการณ์นองเลือดจะไม่ถูกลืม” นี่ถือถ้อยคำที่ผู้ประท้วงตะโกนขึ้น
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แทบไม่มีรัฐบาลไหนในเปรูที่จะอยู่ได้จนครบวาระ โดยหากย้อนดูเฉพาะในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เปรูเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีไปแล้วถึง 7 คนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2020 เปรูเคยเปลี่ยนประธานาธิบดีถึง 3 คนใน 5 วัน อีกทั้งในตอนนี้ก็ดูไม่มีทีท่าว่าความโกรธแค้นของประชาชนจะลดน้อยลงเลย ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งที่โบลัวร์เต ประธานาธิบดีหญิงคนใหม่จะต้องเอาชนะให้ได้ มิเช่นนั้นเราคงจะได้เห็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ในรอบ 6 ปีอีกไม่ช้า
และท้ายที่สุดนี้ THE STANDARD ยังคงยืนยันว่า ‘ความรุนแรง’ ไม่ใช่ทางออก ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ควรต้องแลกด้วยชีวิตของใคร
อ้างอิง:
No Result
View All Result