กัมพูชาพบยอดเจ็บ-ดับจาก ‘ทุ่นระเบิด-วัตถุระเบิดตกค้าง’ พุ่ง 54%
.
วันอังคาร (19 ก.ค.) รายงานจากสำนักปฏิบัติการทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้เสียหายแห่งกัมพูชา (CMAA) เปิดเผยว่ากัมพูชาพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม (ERW) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 จำนวน 40 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับตัวเลข 26 รายในช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
รายงานระบุว่ากัมพูชาพบประชาชนเสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 23 ราย และสูญเสียอวัยวะอีก 7 ราย ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตัวเลขดังกล่าวประกอบด้วยผู้ชาย 27 ราย ผู้หญิง 1 ราย และเด็ก 12 ราย
.
ช่วงระหว่างปี 1979 จนถึงมิถุนายน 2022 ทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามได้คร่าชีวิตประชาชน 19,818 รายแล้ว และส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะอีก 45,186 ราย
.
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามมากที่สุดในโลก โดยในช่วงสงครามและความขัดแย้งภายในยาวนาน 3 ทศวรรษที่สิ้นสุดในปี 1998 มีทุ่นระเบิดและอาวุธอื่นๆ ถูกทิ้งไว้ในกัมพูชาราว 4-6 ล้านชิ้น
.
อนึ่ง ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ระบุว่าสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดราว 230,516 ลูก ในพื้นที่ 113,716 จุดทั่วกัมพูชา ระหว่างปี 1965-1973
.
หลี ทุจ รองประธานคนแรกของสำนักฯ กล่าวว่ากัมพูชากำจัดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม 2,410 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกว่า 1.1 ล้านชิ้น ทุ่นระเบิดทำลายยานพาหนะมากกว่า 26,000 ชิ้น และวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามเกือบ 3 ล้านชิ้น ทว่ากัมพูชายังต้องกำจัดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดดังกล่าวที่เหลืออีก 716 ตารางกิโลเมตร
.
ทุจเผยว่าชาวกัมพูชาราว 1 ล้านคนยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว และทำงานในพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างอยู่ อย่างไรก็ดีกัมพูชาตั้งเป้ากำจัดอาวุธตกค้างเหล่านี้ภายในปี 2025 และต้องการงบประมาณอย่างน้อย 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.29 พันล้านบาท) เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้