หายนะในกาซา หายนะในรัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ
บทความโดย โคทม อารียา
ผมตั้งใจรอฟังข่าวจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าจะสามารถมีมติให้ยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาได้หรือไม่ ญัตติในเรื่องนี้เสนอโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และได้เข้าสู่การพิจารณามาราวหนึ่งสัปดาห์แล้ว ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า คณะมนตรีฯจะลงมติในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 แต่ไม่ถึงชั่วโมงมานี้ ได้มีการเลื่อนการลงมติออกไปอีก หลังจากที่พยายามต่อรองกับสหรัฐฯเพื่อขอให้ยอมรับการหยุดความเป็นปฏิปักษ์ในฉนวนกาซา (cessation of hostilities ซึ่งหมายถึงการพักการสู้รบนั่นเอง อันที่จริง ได้มีการเสนอคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น truce, cease fire, pause แต่สหรัฐฯที่ทำตามอิสราเอลมักวีโต้คำเหล่านี้ โดยอ้างว่าการพักรบจะเอื้อประโยชน์แก่ฮามาส) หมายความว่าจนบัดนี้ มีความชะงักงันในคณะมนตรีความมั่นคง คาดเดาว่าถ้าระบุถึงการพักการสู้รบ สหรัฐฯอาจวีโต้ แต่ถ้าไม่พูดถึงเลย รัสเซียที่อยู่ข้างปาเลสไตน์อาจวีโต้ และก็มีประเด็นโต้แย้งอีกประเด็นหนึ่งคือ สหรัฐฯเห็นว่าควรให้อิสราเอลตรวจพัสดุที่จะส่งไปช่วยทางมนุษยธรรม แต่ดูเหมือนว่ารัสเซียอยากให้องค์การสหประชาชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจตรามากกว่า
เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละวัน จะมีการทิ้งระเบิดสู่เป้าหมายในกาซากว่า 200 แห่ง มีผู้เสียชีวิตราว 260 คน (คิดโดยเฉลี่ยจากตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 รายในเวลา 76 วันนับแต่เริ่มสงครามในวันที่ 7 ตุลาคม 2566) อันโตนิอู กุแตเรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า ฉนวนกาซากำลังประสบหายนะด้านมนุษยธรรม มีรายงานจากหน่วยงานด้านอาหารองค์การสหประชาชาติว่า ชาวกาซาราวหนึ่งในสี่ (ประมาณ 576,000 คน) กำลังเผชิญความหิวโหยและความอดอยากอย่างรุนแรง และต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน ทั้งในเรื่องอาหาร น้ำ และยารักษาโรค การโจมตีโรงพยาบาลในกาซา เช่นล่าสุด มีการทิ้งระเบิดโรงพยาบาลนัสเซอร์ 2 ครั้งในเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยไม่มีสิ่งของและเครื่องดูแลพื้นฐานอันจำเป็น เด็กที่บาดเจ็บจนต้องตัดแขนหรือตัดขาและอยู่ในระหว่างฟื้นตัว ต้องตายลง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานว่า มีการสูญเสียตำแหน่งงานไปแล้ว 192,000 ตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 66% และอาจมีการสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก ทุกวันนี้ แทบไม่มีใครมีรายได้จากการทำงาน
ขอส่งใจไปยังญาติพี่น้องของตัวประกัน และของผู้เสียชีวิต ประมาณ 1.200 รายจากการโจมตีของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ขอส่งใจไปยังญาติพี่น้องชาวปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล ขอแบ่งปันความทุกข์และขอให้ทุกคนฟื้นจากทุกข์โศกด้วยกันเทอญ
ขอเปลี่ยนเรื่องมาที่ความทุกข์ของชาวเกาะที่อาศัยในรัฐขนาดเล็ก 39 รัฐในทะเลคาริเบียน มหาสมุทรแปซิฟิก แอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ รัฐเหล่านี้รวมตัวกันภายใต้ชื่อว่า พันธมิตรของรัฐเกาะขนาดเล็ก (Alliance of Small Island States AOSIS; จะมีรัฐใดบ้างขอให้สืบค้นจาก Google) ปัญหาร่วมกันของรัฐเหล่านี้คือการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน รัฐเหล่านี้กำลังค่อยๆ จมหายไปในทะเล ถ้าชาวโลกไม่หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ชาวโลกเริ่มตระหนักรู้ถึงหายนภัยของภาวะโลกร้อนเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ประเทศส่วนใหญ่จึงมาร่วมลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) เมื่อปี 2535 และเริ่มมีการประชุมภาคีของอนุสัญญา (Conference of the Parties COP) ตั้งแต่ปี 2537 เรื่อยมาเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี 2563 เพราะโรคระบาดโควิด-19) ในปี 2566 นี้ มีการประชุมครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2566 (ซึ่งเป็นกำหนดการเดิม แต่เมื่อยังตกลงกันไม่ได้เลยขยายวันประชุมออกไปอีกหนึ่งวัน จนตกลงกันได้ในวันที่ 13 ธันวาคม) ระหว่างการเริ่มตระหนักรู้เมื่อปี 2535 ถึงการวางเป้าหมายในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส จนถึงการประชุม COP28 ที่ระบุว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลคือสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซ CO2 เวลาประมาณ 30 ปีได้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
ในปี 2535 ชาวโลกตระหนักว่าภาวะโลกร้อนคือความทุกข์ ต่อมายอมรับว่าสมุทัยคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นผลมาจากการผลิตและใช้พลังงานเป็นสำคัญ ในปี 2558 การประชุม COP21 ที่ปารีสกำหนดว่า ต้องหาทางมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20) ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจึงจะพอรับได้ สภาพภูมิอากาศจะไม่แปรปรวนจนรุนแรงมากนัก และรัฐ AOSIS จึงจะไม่ถูกน้ำทะเลท่วมจนมิด มาถึงปีนี้ ที่ประชุม COP28 เห็นแล้วว่า มรรควิธีที่จะหยุดภาวะโลกร้อนได้ ไม่ใช่อื่นไกล หากได้แก่การหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม ประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ค้าน้ำมันปฏิเสธข้อเสนอให้ค่อย ๆ ยุติ (phase out) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเห็นว่าเป็นข้อความที่แรงเกินไป จึงต้องเจรจาต่อรองอีกพักใหญ่ จนยอมรับข้อความใหม่ใหม่ได้ นั่นคือ ‘การเปลี่ยนผ่านออกจาก (transition out of) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ซึ่งอาจตีความได้ว่า ค่อยเป็นค่อยไป แต่ในที่สุดอาจมีใช้อยู่บ้าง ไม่ถึงกับยุติการใช้เสียเลย
30 ปีผ่านไป เราก็ได้ประมาณนี้ แต่เวลาข้างหน้าเหลือน้อยเต็มที และภารกิจก็ใหญ่หลวงเหลือเกิน คนธรรมดาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต รัฐบาลที่รวยและธุรกิจใหญ่ ๆ ต้องยอมเฉือนทรัพย์สินที่ครอบครองเพื่อคืนสู่ส่วนรวม ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เฉือนทรัพย์สินและทรัพยากรส่วนรวมมาใช้เพื่อความมั่งคั่งของตนมายาวนาน เรื่องนี้เป็นไปได้ยากมาก แต่ผมเห็นว่าเราไม่มีทางเลือกอื่น
มาถึงตอนนี้ ขออ้างหนังสือชื่อ Le Monde sans Fin (โลกที่ไม่รู้จบ) เขียนโดย Jean-Luc Jancovici และ Christophe Blain นำมาเขียนเป็นการ์ตูน และขออ้างสัดส่วนของ “เชื้อเพลิง” หรือแหล่งพลังงานต้นทางที่นำมาแปลงเป็นพลังงานในรูปแบบที่ใช้สะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำมันที่กลั่นแล้ว ฯลฯ พบว่าประมาณ 80% ของพลังงานที่เราใช้ มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ดังแสดงในตารางต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่า ถ้าจะเปลี่ยนผ่านออกจากการใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน (เชื้อเพลิงฟอสซิล) เราต้องเพิ่มการผลิตพลังงาน เช่นไฟฟ้า จากแหล่งอื่นอย่างมากมาย เกินกว่าจินตนาการการเปลี่ยนผ่านจะเล็งเห็นได้ ในขณะนี้ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ต้องการภูมิประเทศที่เหมาะสม ซึ่งแทบจะไม่มีแล้ว ชีวมวลไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จริง แต่ก็เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน กังหันลมและเซลล์แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดก็จริง แต่มีข้อจำกัดมากทีเดียว หลายประเทศได้พยายามส่งเสริมมาหลายปี แต่ก็นำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้เพียง 2% และ 0.9% ตามลำดับ ถึงจะเพิ่มสัดส่วนอีก 3 เท่าตามข้อเสนอของ COP28 ก็จะเพิ่มสัดส่วนรวมกันเป็น 8.7% ซึ่งยังห่างไกลจากการมาทดแทนแหล่งพลังงานที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล
ยังมีแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและมีความสามารถที่จะจ่ายพลังงานได้อย่างสม่ำเสมอ (ไม่ขึ้นกับการมีลม หรือมีแดดสำหรับกังหันลมหรือเซลล์แสงอาทิตย์ ตามลำดับ) แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ทันสมัย มีความปลอดภัยสูงมากก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังกลัวการเกิดอุบัติเหตุ การก่อวินาศกรรม หรือภัยธรรมชาติร้ายแรงที่มากระทบต่อโรงไฟฟ้า มิพักต้องกล่าวถึงความกังวลในการเก็บรักษากากเชื้อเพลิงอย่างปลอดภัยอยู่เป็นเวลานานมากกว่ากากนั้นจะลดการก่อกัมมันตรังสี กระนั้น ทั้ง COP28 และ Jancovici ต่างก็กล่าวถึงการเพิ่มแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เพิ่ม 3 เท่า เพื่อให้เป็นสัดส่วนเท่ากับ 4.2 x 3 = 12,6 % ภายในปี 2573 หมายความว่าถ้าเพิ่มพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ 3 เท่า ก็จะได้สัดส่วนประมาณ
6.7 (จากเขื่อน) + 8.7 (จากลมและแดด) + 12.6 (จากนิวเคลียร์) = 28 %
สัดส่วนของแหล่งพลังงานที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล + พลังงานชีวมวล (เช่น ฟืน ขยะ) + อื่น ๆ จะลดลงเท่ากับ
100 – 28 = 72%
ถ้าคิดเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิล เราจะต้องลดสัดส่วนจากปัจจุบัน 80 % เหลือ 72 – พลังงานชีวมวลซึ่งสมมุติสัดส่วนคงที่เท่ากับ 4.4% และลบแหล่งอื่น ๆ 1% จะได้
สัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่ากับ 72 – 4.4 – 1 = 66.6 %
นั่นคือ ลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งปัจจุบันเท่ากับ ‘สี่ในห้า’ ให้เหลือประมาณ ‘สองในสาม’
ที่ประชุม COP28 จึงเสนออีกเรื่องหนึ่งที่ยากมากเช่นกัน นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 ผมเข้าใจว่าประสิทธิภาพในการใช้พลังงานหมายความว่า เราต้องการพลังงานมาใช้ประโยชน์เท่าเดิม และหาทางให้การสูญเสียลดลง เช่น ใช้เครื่องไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน ใช้หลอดไฟแบบไดโอดเปล่งแสงที่ใช้กำลัง 10 วัตต์ แต่ให้ความสว่างเท่ากับหลอดไฟเดิม 60 วัตต์ ใช้ผนังอาคารที่เป็นฉนวนความร้อนทำให้ลดค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น แต่การคำนวณเรื่องนี้มีความซับซ้อน เลยขอประมาณค่าเอาเองว่า เมื่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้นแล้ว
ในปี 2573 สัดส่วนของแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน
คำถามต่อไปก็คือว่า ถ้าทำเช่นนี้ได้ จะบรรลุเป้าหมายที่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ไหม เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราต้องมาพิจารณาว่า ก๊าซที่ปล่อยสู่บรรยากาศและทำให้โลกร้อนนั้น นอกเหนือจากก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นตัวการหลักแล้ว ยังมีก๊าซอื่นอีกด้วย รวม ๆ กันเรียกว่าก๊าซเรือนกระจก (Green House Gases หรือ GHG) ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 , ก๊าซมีเทน CH4, ก๊าซไนตรัสออกไซด์ N2O และก๊าซ คาร์โรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC
ก๊าซ GHG มี CO2 อยู่ 69% (ในจำนวนนี้ 85% มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อีก 10% มาจากการทำลายป่า) มี CH4 อยู่ 24% (มาจากการทำนา การเรอของสัตว์เคี้ยวเอื้อง จากกองขยะ จากไฟป่า จากเหมืองถ่านหิน) มี N2O อยู่ 5% (ส่วนใหญ่มาจากปุ๋ยและมูลสัตว์) และมี CFC 2% (ส่วนใหญ่มาอุปกรณ์ทำความเย็น) ก๊าซ GHG ปล่อยให้แสงจากดวงอาทิตย์ผ่านลงสู่พื้นโลก แต่แสงอินฟราเรดที่โลกจะปล่อยสู่อวกาศไม่สามารถออกไปได้ พลังงานเข้าจึงมากกว่าพลังงานออก โลกจึงร้อนขึ้นเพื่อสร้างสมดุลระหว่างพลังงานเข้ากับออกนั่นเอง
เพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นมาก (เกินกว่า 1.5 %) สิ่งที่ต้องทำคือพยายามคงปริมาณของ GHG ในบรรยากาศไว้ ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำให้สำเร็จในสองจังหวะ จังหวะแรกคือ ให้เกิดสมดุลระหว่างปริมาณก๊าซ CO2 ที่โลกปล่อยสู่บรรยากาศ กับปริมาณก๊าซ CO2 ที่โลกดึงออกจากบรรยากาศมากักเก็บไว้ (อย่างถาวร) การดำเนินการเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) จังหวะที่สองทำคล้าย ๆ กัน เพียงแต่คราวนี้ก๊าซที่เล็งไว้คือ GHG คือ ให้เกิดสมดุลระหว่างปริมาณก๊าซ GHG ที่โลกปล่อยสู่บรรยากาศ กับปริมาณก๊าซ GHG ที่โลกดึงออกจากบรรยากาศมากักเก็บไว้ (อย่างถาวร) การดำเนินการเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission)
ในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป้าหมายของไทยว่า จะดำเนินการเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 สุนทรพจน์ของ พล.อ. ประยุทธ์มีความตอนหนึ่งว่า “เราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกใบที่สอง ซึ่งจะเป็นบ้านของพวกเราได้เหมือนโลกใบนี้อีกแล้ว”
นอกเหนือจากเรื่องการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ซึ่งผมประเมินว่าในระยะแรกคงลดลงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งต้องผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์เพิ่ม อีกทั้งต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วย) ที่ประชุม COP28 ยังได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
การประชุมเน้นย้ำถึงเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตระหนักว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 และร้อยละ 60 ภายในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น
เรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573
ประกาศข้อตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งเป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพภูมิอากาศ ให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง
นานาประเทศสนับสนุนปฏิญญา COP28 UAE เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ (COP28 UAE Declaration on Climate and Health) สำหรับเร่งดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้คนจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น
ผู้นำกว่า 130 ประเทศได้ลงนามในปฏิญญา COP28 UAE ว่าด้วยการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ (COP28 UAE Declaration on Agriculture, Food, & Climate) เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในขณะเดียวกันก็ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ
Global Cooling Pledge ได้รับการรับรองจาก 66 ประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็น (ก๊าซ CFC) ลงอย่างน้อย ร้อยละ 68 ภายในปี 2593
เพื่อลดก๊าซ CO2 ในบรรยากาศ ประเทศไทยโดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage CCS) วิธีหนึ่งที่ทำได้คือการดักจับ CO2 จากอากาศโดยตรง แต่ดูเหมือนว่าโครงการของ ปตท. สผ. จะใช้แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในอ่าวไทย เพื่อการดักจับแล้วส่งไปยังแท่นหลุมผลิต เพื่ออัด CO2 กลับลงไปในชั้นหินใต้ดิน อีกโครงการหนึ่งจะดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อย CO2 ได้ในประมาณที่มาก
มีบทความลงหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึงการริเริ่มของบริษัทวรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีโครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ที่ใช้ท่อ PVC ขนาด 25 ซม. เจาะรูและฝังลงในนา เพื่อวัดระดับน้ำและดูแลการใช้นำในนา ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 50% ลดต้นทุนการเพาะปลูก 8-13% และลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้โลกร้อนได้ 80%
การลดภาวะโลกร้อน นอกจากจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้ว ยังต้องการการประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม และต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะในการใช้พลังงานให้น้อยลงด้วย
แม้จะมองได้ว่า COP28 เป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่หลายคนรวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะเล็ก ๆ มองว่าผลการประชุมยังไม่น่าพอใจ ตัวแทนชาวซามัวคนหนึ่ง และเป็นผู้นำเจรจาของพันธมิตร AOSIS ชื่อ อานน์ รัสมุสเซนกล่าวว่า ความก้าวหน้าในการประชุมนี้ คือความก้าวหน้าทางธุรกิจ ไม่ใช่ความก้าวหน้าของพวกเธอ สิ่งที่พวกเธอต้องการจริง ๆ คือการเปลี่ยนแปลงขั้นทวีคูณ และการสนับสนุนพวกเธอให้สามารถปรับตัวและรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ มีการกล่าวถึงกองทุนต่าง ๆ แต่จนถึงปัจจุบัน กองทุนเหล่านั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่เพียงพอ ขณะที่เกาะเล็กๆ ทั่วโลกกำลังจมน้ำลงเรื่อยๆ
โลกนี้มีหายนภัยมากมาย มีทั้งที่เกิดขึ้นอย่างโหดร้ายด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง ที่ต้องการการบรรเทาทุกข์โดยด่วน เช่นที่ฉนวนกาซา และที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยากมากที่จะหวนกลับลำในทันที เราล่าช้าไป 30 ปีแล้วหลังจากรู้ปัญหา อีก 30 ปีข้างหน้าจึงจะรู้ว่า มนุษยชาติจะทำสำเร็จไหม ในการร่วมมือกันแก้ไขภาวะโลกร้อน
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/columnists/news_4346980