ทำไมรัฐอาหรับจึงต้องปรับสัมพันธ์กับอิสราเอล?
Burapanews – ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของอุดมการณ์รวมอาหรับ (Pan-Arabism) และแนวคิดการสร้างเอกภาพในหมู่ประชาชาติอาหรับ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนการเมืองทั้งระดับรัฐและระดับภูมิภาคของตะวันออกกลาง
อันที่จริง แนวคิดที่ว่า “ผลประโยชน์ของชาวอาหรับ” ต้องมาก่อนผลประโยชน์ของแต่ละรัฐ-ชาติอาหรับ” ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างเร่าร้อนตลอดมาจนบ้างครั้งกลายเป็นเงื่อนไขของการขับเคี่ยวแข่งขันกันระหว่างผู้นำของรัฐอาหรับทั้งหลายเสียเอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่แนวคิดการรวมชาติอาหรับดังกล่าว (หรืออาจใช้คำว่าอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ) เป็นประเด็นที่ กามาล อับดุลนัซเซอร์ ผู้นำแห่งอียิปต์ในยุคนั้น พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น แต่แนวคิดอย่างนี้กลับไปปะทะกับความมั่นคงของกลุ่มรัฐที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ในตะวันออกกลาง จนนำมาซึ่งสภาวะที่ Malcolm Kerr (1971) เรียกว่า ‘สงครามเย็นในโลกอาหรับ’ (Arab Cold War)
อันที่จริงกลุ่มประเทศอาหรับส่วนใหญ่เลือกที่จะหยิบใช้แนวทาง ‘ชาตินิยมอาหรับแบบอ่อน’ มากกว่า คือไม่จำเป็นต้องมารวมกันเป็นรัฐ-ชาติหนึ่งเดียวหรอก แต่ขอให้มีช่องทางที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกันและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เพียงพอแล้ว วิธีคิดแบบนี้นำมาซึ่งการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่าสันนิบาตอาหรับ ซึ่งรวมเอารัฐอาหรับ 22 ประเทศเข้าเป็นสมาชิก
อย่างไรก็ตาม ในเวทีการเมืองอาหรับของยุคสมัยนั้น อุดมการณ์การรวมอาหรับถูกมองว่าทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับความทะเยอทะยานของผู้นำการเมืองของโลกอาหรับ และเป็นเครื่องมือทำให้ผู้นำอาหรับเติบใหญ่กลายเป็นผู้มีอำนาจนำเหนือภูมิภาค
ตะวันออกกลาง โดยมี กามาล อับดุลนัซเซอร์ เป็นผู้ที่ขับเคลื่อนหลัก
ถึงอย่างนั้น การแข่งขันดิ้นร้นให้ตนเองได้เป็นผู้นำแห่งอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับได้ซ้อนความเปราะบางของระบบรัฐในตะวันออกกลางเอาไว้ แล้วเผยออกมาในรูปของความขัดแย้งแตกแยก อีกทั้งยังถูกนำไปกล่าวอ้างสร้างความชอบธรรมเพื่อทำลายอำนาจอธิปไตยของฝ่ายตรงข้ามอีกต่างหาป จนนำไปสู่ความอ่อนแอของระบบรัฐในตะวันออกกลาง
แต่แนวคิดความเป็นหนึ่งเดียวของโลกอาหรับที่มีแกนกลางอยู่ที่ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนชาวอาหรับได้เป็นอย่างดี เราจึงเห็นการปรับนโยบายต่างประเทศของรัฐอาหรับให้เป็นไปในแนวทางการต่อต้านรัฐอิสราเอล ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์
เรื่องนี้ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมของชาติอาหรับ มิใช่การจำกัดให้ความสำคัญแต่เฉพาะผลประโยชน์แห่งชาติที่แคบ ๆ ของตนเท่านั้น ถึงอย่างนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ของปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า คำมั่นสัญญาของชาติอาหรับที่จะช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากชาวปาเลสไตน์เป็นได้แต่เพียงวาทกรรมคำพูดที่สวยหรูมากกว่าที่จะมีการนำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา
ความพ่ายแพ้ของกองทัพอาหรับต่ออิสราเอลในสงคราม 6 วันปี 1967 นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมคลายในกระแสชาตินิยมอาหรับ ตลอดจนเหตุการณ์หลายอย่างที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการที่อียิปต์ได้ลงนามทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979 หรือสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในปี 1990 ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความล้มเหลวและการไม่ยึดมั่นต่อหลักการความเป็นเอกภาพอาหรับในหมู่รัฐต่าง ๆ
พัฒนาการเช่นนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลายรัฐอาหรับมิได้มองอิสราเอลว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตอนที่อิสราเอลได้เข้ามาทำสงครามในเลบานอนเมื่อปี 2006 แทนที่รัฐอาหรับจะออกมาประณามอิสราเอลเหมือนแต่ก่อน กลับปรากฏว่า อียิปต์ จอร์แดน และซาอุดิอาระเบีย ได้ออกมากล่าวโทษกลุ่มฮิซบุลลอฮ์แห่งเลบานอนว่าเป็นต้นเหตุของสงคราม
อีกกรณีหนึ่งคือเมื่ออิสราเอลได้เข้ามาถล่มโจมตีหรือทำสงครามอย่างน้อย 3 ครั้งในฉนวนกาซ่าที่ถูกปิดล้อมมานานเป็นสิบ ๆ ปี อันส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่แออัดในพื้นที่แคบ ๆ ตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รัฐอาหรับอย่างอียิปต์และซาอุดิอาระเบียกลับกล่าวอ้างว่าฝ่ายฮามาสที่ต่อต้านทำศึกกับอิสราเอลนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือของอิหร่าน โดยไม่เคยออกมาตำหนิกล่าวโทษอิสราเอลแม้แต่น้อย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง นับตั้งแต่หลังสงคราม 6 วันระหว่างอาหรับกับอิสราเอลที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1967 เป็นต้นมา ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ได้กลายเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในผลกระทบสำคัญคือการก่อรูปรวมตัวระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เรียกตัวเองใหม่ว่าเป็นขบวนการต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลเหนือดินแดนปาเลสไตน์ (resistance axis) แต่ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกมักเรียกพวกนี้ว่า “กลุ่มสุดโต่ง” หรือ ‘รัฐสุดโต่ง’ อันประกอบไปด้วยอิหร่าน ซีเรีย กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ กลุ่มฮามาส และอิสลามิกญิฮาด เป็นต้น
หลังปรากฏการณ์อาหรับสปริง ความแตกแยกของระบบรัฐในโลกอาหรับและสำนึกในความเป็นเอกภาพของอาหรับที่ลดน้อยลงไปได้ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากกรณีสงครามกลางเมืองซีเรีย และวิกฤติความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์
ส่วนประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล หรือหากกล่าวให้ตรงจุดคือประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ ซึ่งเคยเป็นปัญหาร่วมที่โลกอาหรับให้ความสำคัญมากที่สุดตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับสูญเสียสถานะความสำคัญในการเมืองของตะวันออกกลางลงไป แน่นอนว่าประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ของภูมิภาค แต่มันไม่ได้อยู่ในกระแสความสนใจหลักเหมือนในอดีตอีกต่อไป
ท่าทีร่วมของโลกอาหรับในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์เหมือนอย่างที่ได้แสดงออกมาในรูปแผนสันติภาพปี 2002 (Arab Peace Plan) ไม่เคยเกิดขึ้นอีก หลังสงครามอิรักปี 2003 โดยเฉพาะความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบียที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ได้ทำให้ผู้คนในภูมิภาคแบ่งแยกออกจากกันระหว่างซุนนีย์กับชีอะฮ์
ซาอุดิอาระเบียถูกมองว่าเป็นประเทศที่ใช้ความแตกต่างทางนิกายศาสนาเป็นเครื่องมือในการหยุดยั้งกระแสการลุกฮือขึ้นของประชาชน เป็นยุทธศาสตร์ในการตอบโต้พลังของการปฏิวัติประชาชนภายในประเทศของตนและในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวม
แต่ในขณะเดียวกัน วาทกรรมเรื่องการต่อต้านไซออนิสต์ (anti-Zionist) ซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองอาหรับ ได้หมดความสำคัญลงไป ในทางกลับกัน การปลุกกระแสความเกลียดชังอิหร่านร่วมกันทำให้เกิดสัมพันธภาพใหม่ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบรรดารัฐกษัตริย์ต่าง ๆ ในดินแดนคาบสมุทรอาหรับ
ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในเดือนธันวาคม 2017 คณะจากบาห์เรน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ชูป้ายเรียกตนเองว่า “This is Bahrain” ได้เดินทางไปเยือนกรุงเยรูซาเล็ม ในเดือนเดียวกันนั้น มีรายงานว่ามกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบีย ได้รับสั่งให้ นายมะห์มูด อับบาส ประธานาธิปดีปาเลสไตน์ ยอมรับแผนสันติภาพตะวันออกกลางของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันต่อมาว่าเป็น ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ (Deal of the Century) อันเป็นแผนสันติภาพที่ให้ประโยชน์ต่อรัฐบาลขวาจัดของอิสราเอลแต่ฝ่ายเดียว
แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอลจะยังคงไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่าง 2 ประเทศได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากความสนิทชิดเชื้อระหว่างเจ้าชายหนุ่มที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบียอย่างมุฮัมมัด บิน ซัลมาน กับลูกเขยชาวยิวและเป็นที่ปรึกษาด้านตะวันออกกลางของประธานาธิปทรัมป์อย่างนาย จาเรด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีวิธีคิดคล้ายกับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยมขวาจัดของอิสราเอล
ต้นปี 2018 มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อสำคัญอย่าง The Atlantic โดยมีใจความว่า “พวกเรามีผลประโยชน์ร่วมกับอิสราเอลมากมาย” และกล่าวต่อไปอีกว่า “ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลมีสิทธิ์เหนือดินแดนของพวกเขา” ซึ่งถือเป็นคำกล่าวที่แปลกใหม่อย่างที่ไม่เคยหลุดออกมาจากปากของผู้นำรัฐอาหรับมาก่อน ทั้ง ๆ ที่สถานะอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ประเทศยังอยู่ในสภาวะสงครามระหว่างกัน
ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคม 2018 นาย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ก็ได้เดินทางเยือนโอมานอย่างลับ ๆ เพื่อพบปะกับองค์สุลต่าน กอบูส (Qaboos) ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา
หลังจากนั้นไม่กี่วัน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและกีฬาของอิสราเอล นายมิริ เรเกฟ (Miri Regev) ก็ได้ไปเยือนกรุงอะบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันยูโดระหว่างประเทศ และเพลงชาติของอิสราเอลก็ได้ถูกบขับร้องในรัฐอาหรับเป็นครั้งแรกหลังจากที่นักกีฬายูโดของอิสราเอลได้ชัยชนะขึ้นรับเหรียญทอง
หลังจากนั้นอิสราเอลก็ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาระดับโลกอีกหลายครั้งที่จัดโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการ “AFC Asian Cup 2019” หรือ “Special Olympics World Summer Games 2019” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงอะบูดาบี
อันที่จริงก่อนหน้านี้ในปี 2017 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ได้ให้การตอนรับคณะทูตจากอิสราเอล ซึ่งเป็นคณะที่เดินทางมาให้การรับรองหน่วยงานระหว่างประเทศที่ดำเนินกิจการพลังงานหมุนเวียนที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงอะบูดาบี
ในเดือนมกราคม 2019 ประธานาธิปดีแห่งอียิปต์ อับดุลฟัตตาห์ อัล-ซีซี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง CBS ในรายการ “60 minutes” ประกาศยอมรับอย่างเปิดเผยว่าอียิปต์มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอิสราเอลในด้านการทหารและการข่าว อันรวมถึงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในปฏิบัติการลับทางอากาศของอิสราเอลโจมตีกลุ่มติดอาวุธนับร้อย ๆ ครั้งในพื้นที่คาบสมุทรซีนาย
ขณะเดียวกัน การที่ทรัมป์ตัดสินใจย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาไปประจำอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม แม้ผู้นำอาหรับจะออกอาการแสดงความไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นการไม่เห็นด้วยโดยการตำหนิพอเป็นพิธีและไม่เคยมีมาตรการใด ๆ ออกมาตอบโต้
เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่เกิดอาหรับสปริง อิสราเอลถือเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากพัฒนาการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปในภูมิภาค นอกจากจะสามารถปรับความสัมพันธ์กับชาติใหญ่แห่งโลกอาหรับอย่างซาอุดิอาระเบียและเหล่าชาติร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับได้แล้ว (อันเป็นผลจากความเป็นปรปักษ์กับอิหร่านร่วมกัน) ซีเรียซึ่งกลายเป็นสมรภูมิของสงครามกลางเมือง ยังอ่อนแอลงไป ไม่ได้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลได้อีกต่อไป ขณะที่กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ท้าทายอิทธิพลอำนาจของอิสราเอลมาตลอด ก็ต้องหมกมุนอยู่กับสงครามกลางเมืองซีเรียเพื่อประคองระบอบอัสซาด ไม่มีเวลาที่จะคิดเรื่องอื่น ส่วนรัฐบาลของซีซีแห่งอียิปต์ก็มีศัตรูร่วมกับอิสราเอล นั่นคือกลุ่มฮามาส
แม้ในด้านหนึ่งอิสราเอลจะห่วงกังวลต่อการปรากฏตัวของกองทัพอิหร่านและฮิซบุลลอฮ์ในซีเรีย ซึ่งมีดินแดนประชิดติดกับดินแดนของตน (หรือดินแดนที่ตนเองยึดครองอยู่) โดยเฉพาะการศึกที่จะทำให้กลุ่มฮิซบุลลอฮ์มีความช่ำชองในการรบและแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าสถานะของอิสราเอลในระบบการเมืองของตะวันออกกลางมีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอย่างกลุ่มที่รวมตัวกันเป็น “ขบวนการต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล” กลับเป็นฝ่ายที่อ่อนล้าลงไป อันเป็นผลมาจากการติดพันอยู่กับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานในซีเรีย โดยเฉพาะฝ่ายอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์
ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคขวาจัดของอิสราเอลภายใต้การนำของเนทันยาฮูยังได้รับการหนุนหลังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจากสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิปดี โดนัลด์ ทรัมป์
ถึงแม้ปัจจุบันแนวคิดชาตินิยมอาหรับ (ซึ่งเคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวแปรหลักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบรัฐอาหรับไปในทางที่ดีขึ้น) จะไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ผู้นำอาหรับเอามาขับเคลื่อนอีกต่อไป แต่ก็ใช่ว่าประเด็นปัญหาร่วมของโลกอาหรับจะถูกละเลยในการเมืองของตะวันออกกลางไปเสียทั้งหมด ดังที่ Valbjorn และ Bank ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
ประเด็นปัญหาร่วมของโลกอาหรับ (โดยเฉพาะปัญหาปาเลสไตน์) ยังมีผลต่อผู้นำในรัฐอาหรับ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุผลหลายประการด้วยกัน
ประการแรกคือการที่รัฐในตะวันออกกลางที่ไม่ใช่อาหรับ (อย่างอิหร่านและตุรกี) ได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองของโลกอาหรับ โดยแสดงตนเป็นเสมือนผู้ปกป้องชาวปาเลสไตน์อย่างแท้จริง
ประการที่ 2 คือการที่กลุ่มตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างฮามาสและฮิซบุลลอฮ์ก็ออกมาประกาศตนที่จะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์จากการกดขี่ของอิสราเอล
ประการที่ 3 คือการขับเคลื่อนประเด็นการเมืองของโลกอาหรับไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวคิดการรวมอาหรับ (Pan Arabism) เหมือนในอดีตช่วงยุคทศวรรษที่ 1950 และ 1960 อีกต่อไป แต่มาวันนี้การเมืองของโลกอาหรับกลับขับเคลื่อนโดยกลุ่มอุดมการณ์ที่นิยมแนวทางอิสลาม (Islamism) ซึ่งมีแนวทางความคิดที่ต่างจากพวกสังคมนิยมอาหรับ หรือพวกชาตินิยมอาหรับอย่างสิ้นเชิง
ประการสุดท้ายและอาจเป็นประเด็นสำคัญมากสุดคือ การที่ประเด็นความเป็นหนึ่งเดียวของโลกอาหรับและปัญหาปาเลสไตน์ยังคงอยู่ในจิตสำนึกของสาธารณชนชาวอาหรับอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาโกรธแค้นเดือดดาลของมวลชนอาหรับต่อการที่อิสราเอลเข้ามาทำสงครามกับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนเมื่อปี 2006 และการที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศต่อการปกครองของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซ่า ทั้งในปี 2008-2009, 2012 และ 2014 เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออาหรับที่มีอยู่หลากหลายประเภท ปรากฏการณ์อาหรับสปริงและผลที่เกิดขึ้นมาตามภายหลัง นับเป็นข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดว่ามวลชนคนอาหรับมีความใกล้ชิดเชื่อมต่อกันทางวัฒนธรรมและสังคมมากแค่ไหน และนับวันความใกล้ชิดเชื่อมโยงดังกล่าวยิ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น อันที่จริงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เสียงสะท้อนของโลกอาหรับ” ที่ซึ่งแนวคิดความเป็นหนึ่งเดียวของชาวอาหรับและความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ยังคงเป็นประเด็นที่สาธารณชนคนอาหรับให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
แรงสนับสนุนปาเลสไตน์ของมวลชนยังคงดำรงอยู่เช่นเดิมแม้จะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีความเป็นพันธมิตรในระดับรัฐของโลกอาหรับกับประเทศอิสราเอลก็ตาม ลักษณะเช่นนี้อาจนำไปสู่รอยถ่างที่นับวันยิ่งห่างออกจากกันมากขึ้นระหว่างรัฐอาหรับกับประชาชนของตนเอง
สุดท้ายนี้ ผมฝากให้เพื่อน ๆ ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ช่วยสรุปรวบยอดออกมาทีครับว่า อะไรคือเหตุปัจจัยให้รัฐอาหรับหันไปผูกสัมพันธ์กับอิสราเอล
บทความโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
No Result
View All Result