ทำไมรัสเซียถึงเตรียมประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศถึงแผนการที่จะเคลื่อนย้ายและประจำการอาวุธนิวเคลียร์ครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเบลารุสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่ายไม่น้อย โดยเฉพาะองค์การ NATO
โดยปูตินเผยว่า รัสเซียจะเริ่มต้นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนนี้เป็นต้นไป และคาดการณ์ว่าการก่อสร้างสถานที่จัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในดินแดนของเบลารุสจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ถือเป็นการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์นอกประเทศครั้งแรกของรัสเซีย นับตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 1990
เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนเท่าใดที่เคลื่อนย้ายไปประจำการในเบลารุส รวมถึงช่วงเวลาในการเคลื่อนย้ายและติดตั้งอาวุธดังกล่าวก็ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างแน่ชัด
ขณะที่องค์การ NATO ได้ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจดังกล่าวของรัสเซีย พร้อมทั้งชี้ว่า ท่าทีดังกล่าวเป็นอันตรายและขาดความรับผิดชอบต่อประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก นอกจากนี้ NATO ยังระบุอีกว่า การตัดสินใจที่จะเคลื่อนย้ายและติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุสนั้นไม่ได้สะท้อนการปรับเปลี่ยนท่าทีของรัสเซีย จนทำให้ NATO ต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางของตนเองแต่อย่างใด
หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญคือ เบลารุสถือเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของรัสเซีย เรามักจะเห็นประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส แสดงบทบาทสนับสนุนปูตินและกองทัพรัสเซียอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการยินยอมให้กองทัพรัสเซียบางส่วนประจำการอยู่ใกล้พรมแดนบริเวณทางตอนเหนือของยูเครน สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญประจำ Institute for the Study of War ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ ระบุว่า เดิมทีรัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลไว้ในครอบครองอยู่แล้ว การที่จะเคลื่อนย้ายและติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุสจึงอาจไม่ได้เป็นการเพิ่มระยะพิสัยเพื่อขยายไปยังเป้าหมายใหม่
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่า เป้าหมายของรัสเซียอาจเป็นไปเพื่อสร้างความหวาดกลัว รวมถึงป้องปรามไม่ให้ประเทศต่างๆ ยั่วยุรัสเซีย โดยเฉพาะการตัดสินใจส่งมอบความช่วยเหลือให้กับยูเครน เพื่อสู้รบกับกองทัพรัสเซียในสมรภูมิสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ พร้อมท้ังชี้ว่า ปูตินกำลังพยายามใช้ประโยชน์จากความกลัวของโลกตะวันตกเกี่ยวกับการเพิ่มระดับความรุนแรงของอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านการเคลื่อนย้ายและติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์นอกประเทศรัสเซียในครั้งนี้
ทางด้าน มิคาอิโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาคนสำคัญของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ชี้ว่า การตัดสินใจของปูตินในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณของความอ่อนแอ หลังจากการต่อสู้ของกองทัพรัสเซียในสนามรบที่เผชิญหน้ากับการทัดทานของกองกำลังยูเครนอยู่บ่อยครั้งและยังไม่สามารถปิดฉากสงครามในครั้งนี้ลงได้
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้นำเบลารุสยินยอมให้มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียภายในประเทศนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลูกาเชนโกมองว่าอิทธิพลของปูตินจะช่วยให้เขาอยู่ในอำนาจได้ยาวนานและมั่นคงมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ลูกาเชนโกได้รับกระแสต่อต้านจากบรรดากลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคมไม่น้อย อีกทั้งการยินยอมให้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งนี้ อาจยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็น ‘รัฐนอกรีต’ ของเบลารุสในสายตาโลกตะวันตกเด่นชัดขึ้น และอาจยิ่งทำให้ผู้นำเบลารุสเผชิญหน้ากับแรงทัดทานที่มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
นี่จะป็นสัญญาณเตรียมเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ครั้งใหม่หรือไม่?
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า เบื้องต้นยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่าปูตินมีความตั้งใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญประจำ Institute for the Study of War มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับเคอร์บี พร้อมทั้งระบุว่า การประกาศเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไปยังเบลารุส ไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการยกระดับไปสู่สงครามนิวเคลียร์ ซึ่งความเสี่ยงนั้นยังอยู่ในระดับต่ำมาก
ทางด้าน ฮีทเทอร์ วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการโครงการว่าด้วยปัญหานิวเคลียร์ ประจำ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า “แม้คำประกาศของปูตินจะไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสงครามนิวเคลียร์ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกของยูเครนไม่มากก็น้อย โดยปูตินอาจใช้อาวุธนี้เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้ นี่คือวิธีการของปูตินที่พยายามจะบอกว่า ตัวเขาเองมีส่วนได้ส่วนเสียกับสงครามครั้งนี้มากกว่าที่ NATO มี”
ขณะที่ เดลิเบอร์ โรแฮค นักวิจัยอาวุโสประจำ American Enterprise Institute ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า รัสเซียไม่ได้มีความตั้งใจที่จะใช้อาวุธดังกล่าว เพียงแต่ต้องการที่จะสั่นคลอนการช่วยเหลือยูเครนของบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตก เพราะถ้าหากไม่มีประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งนี้ ชาติพันธมิตรอาจยกระดับการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงคราม
นอกจากนี้โรแฮคยังชี้อีกว่า การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในสมรภูมิยูเครนอาจเป็นเดิมพันที่มีความเสี่ยงสำหรับรัสเซียมากเกินไป และอาจไม่เป็นผลดีต่อกองทัพรัสเซียที่กำลังทำการรบอยู่ในขณะนี้ ทั้งยังจะทำให้รัสเซียมีโอกาสเผชิญหน้ากับการตอบโต้ของกลุ่มพันธมิตรของยูเครนและ NATO มากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการสนับสนุนจากจีนได้หากตัดสินใจเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง แม้โอกาสที่รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนจะยังมีความเป็นไปได้อยู่ แต่ก็ถือว่ายังคงห่างไกลและเป็นไปได้น้อยมากในช่วงเวลานี้
อ้างอิง:
https://www.aljazeera.com/news/2023/3/28/why-does-russia-want-tactical-nuclear-weapons-in-belarus
No Result
View All Result