องค์กรสิทธิมนุษยชนในลอนดอน เปิดเผยเอกสาร 75 หน้า ยืนยันกาตาร์ละเมิดสิทธิแรงงาน ในช่วงเตรียมการเพื่อจัดฟุตบอลโลก 2022
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
เมื่่อวันที่10 พฤศจิกายน 2022 สำนักข่าว Yahoo! News เผยแพร่บทความของสำนักข่าว AP ที่ระบุว่า กาตาร์เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในฟุตบอลโลก 2022 โดยมีหลักฐานสำคัญเป็นรายงานจำนวน 75 หน้า
โดยรายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่โดย Equidem องค์กรการกุศลด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในลอนดอน โดยในรายงานระบุว่า แรงงานข้ามชาติที่ถูกเกณฑ์มาสร้างสนามที่จะใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกของกาตาร์ต้องทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยและถูกเลือกปฏิบัติ โดยยังได้ค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แถมยังถูกล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ ตลอดเวลาที่ทำงานในกาตาร์
แรงงานจำนวนมากถูกเกณฑ์มาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา 8 แห่ง รวมถึงสนามบิน ระบบรถไฟใต้ดิน ตัดถนนเพิ่มหลายเส้นทาง และสร้างโรงแรมใหม่ประมาณ 100 แห่ง
ซึ่งทาง Equidem รวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากการขอสัมภาษณ์แรงงานชาวอินเดียที่เดินทางไปทำงานในกาตาร์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 60 คน ซึ่งพวกเขาทั้งหมดให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเปิดเผยว่านายหน้าจัดหางานมีการคิดค่าธรรมเนียมที่เกินจริง ทำให้พวกเขาเป็นหนี้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน
เพื่อใช้หนี้ทั้งหมด พวกเขาต้องทำงานในจำนวนชั่วโมงการทำงานมากกว่าที่ระบุในสัญญา แถมยังต้องทำงานในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดโดยไม่ให้มีการหยุดพัก หรือการให้ทำงานในอาคารสูงโดยที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย ขณะที่บางคนถูกหักเงินเดือนแบบไม่เป็นธรรม และในบางรายเปิดเผยว่ายังมีการทำร้ายร่างกายแรงงานอีกด้วย ซึ่งในรายที่ถูกทำร้ายส่วนมากจะเป็นชาวแอฟริกันและเอเชียใต้
รายงานของ Equidem ฉบับนี้เปิดเผยว่า 95% ของแรงงานทั้งหมดโดยส่วนใหญ่มาจากประเทศยากจนในเอเชียและแอฟริกาตอนใต้ พวกเขาทั้งหมดมีชะตากรรมร่วมกันคือ ต้องทำงานในกาตาร์หลายปีโดยไม่มีโอกาสกลับไปเยื่ยมบ้านเกิด เนื่องจากนายจ้างยึดหนังสือเดินทางของแรงงาน ซึ่งจริงๆ แล้วขัดต่อกฎหมายของประเทศกาตาร์เองด้วย
โดยทาง นัมราตา ราจู หัวหน้าของทีมวิจัยที่จัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า “เราได้สัมภาษณ์แรงงานกว่า 60 คนในเชิงลึก และแรงงานเหล่านี้พูดแบบตรงไปตรงมา พวกเขาต้องเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้ายตลอดการทำงานที่กาตาร์ บางคนโดนนายจ้างนำหนังสือเดินทางไปเก็บรักษาไว้ ซึ่งจริงๆ ขัดกับกฎหมายของกาตาร์และอีกหลายประเทศทั่วโลก”
นอกจากนี้ราจูยังเปิดเผยว่า ทางการกาตาร์ห้ามให้แรงงานต่างชาติตั้งสหภาพประท้วง ทำให้เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกันนัก เพราะเรากลัวการตอบโต้ที่รุนแรงจากรัฐบาล นอกจากนี้รัฐยังออกกฎหมายเพื่อกดค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติ เพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานอีกด้วย
ที่มาแหล่งข่าว
https://www.equidem.org/reports/if-we-complain-we-are-fired
https://news.yahoo.com/qatar-world-cups-labor-abuse-172959108.html