เจ้าหน้าที่ของอังกฤษ ลงมือร่างแผนการปิดสถาบันขงจื๊อทั่วประเทศ สนองนโยบายนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เคยประกาศกร้าวในสมัยหาเสียงเลือกตั้งว่า เขาจะสั่งปิดสถาบันเผยแพร่วัฒนธรรมจากแดนมังกรเหล่านี้ให้เกลี้ยง
.
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ริชี ซูนัก อดีตรัฐมนตรีคลัง ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ สืบต่อจากนาง ลิซ ทรัสส์ ที่ลาออกไปเมื่อไม่กี่วันก่อน เคยประกาศระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ถ้าเขาได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาจะสั่งปิดสถาบันขงจื๊อที่มีอยู่ทั้งหมด 30 แห่งในประเทศ โดยนายซูนักตราหน้าจีนว่า “เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่ออังกฤษ และความมั่นคงของโลก ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองแห่งศตวรรษนี้”
.
สถาบันขงจื๊อจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยทั่วอังกฤษ เพื่อสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนแก่นักศึกษาต่างชาติ อย่างไรก็ตาม สถาบันถูกกล่าวหาว่า แท้ที่จริงเป็นองค์กรแฝงการเมือง และถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เป็นด่านหน้าในการปราบปรามผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์จีน ตามที่สื่ออังกฤษทราบมานั้น นางทรัสส์เคยแถลงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนนี้ว่า เธอได้สั่งให้มีการเตรียมการเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องการปิดสถาบันขงจื๊อแล้ว ซึ่งขณะนี้จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า ภายหลังการแต่งตั้งนายซูนักเป็นผู้นำรัฐบาล เจ้าหน้าที่จึงกำลังรีบดำเนินการร่างแผนโดยไม่รอช้า และตัวนายซูนักเองก็ถูกนักการเมืองสายเหยี่ยวภายในพรรคอนุรักษ์นิยมกดดันเรื่องนี้ทันที
.
โดยเซอร์ เอียน ดันแคน-สมิท อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเห็นว่า ควรปิดสถาบันดังกล่าวเสียแต่บัดนี้ และต้องทำอย่างเอาจริงเอาจัง ด้านนาย โรเบิร์ต คลาร์ก ผู้อำนวยการด้านการป้องกัน และความมั่นคงของสถาบันคลังสมองซิวิทัส (Civitas) ระบุว่า นาย ซูนัก พาตัวเองเข้าสู่สถานการณ์ที่เขาจำเป็นจะต้องเด็ดเดี่ยวกับจีนมากขึ้น การปิดสถาบันขงจื๊อเท่ากับเป็นการส่งสารที่แข็งกร้าวว่า อังกฤษจะไม่ยอมให้จีนเข้ามาปฏิบัติการชั่วร้าย และแทรกแซงภาคประชาสังคมอังกฤษในระดับอุดมศึกษาได้อีก ขณะที่สถาบันคลังสมอง ซึ่งสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอีกราย จี้ให้นายซูนักรักษาสัญญา และจัดการให้องค์กร ที่มีแนวโน้มเป็นอันตราย ออกไปให้พ้นเกาะอังกฤษ ส่วนส.ส. เมืองผู้ดีบางคนเสนอแนะให้รัฐบาลหันไปร่วมมือทำโครงการภาษาและวัฒนธรรมกับชาติอื่น ๆ ซึ่งมีผู้พูดภาษาจีนกลางจำนวนมากแทน เช่น ไต้หวัน
.
ปัจจุบัน สถาบันขงจื๊อถูกสั่งปิดแล้วในหลายประเทศ เช่น สวีเดน ขณะที่สหรัฐฯ ใช้วิธีจำกัดการให้เงินทุนแก่มหาวิทยาลัยใดก็ตาม ที่อนุญาตให้สถาบันขงจื๊อเข้ามาตั้ง ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษจะมีอำนาจในการสั่งยุบได้ทันที หากรัฐบาลมีการแก้ไขร่างกฎหมายอุดมศึกษา (เสรีภาพในการพูด) และร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภา นอกจากลั่นวาจาว่าจะสั่งปิดสถาบันขงจื๊อ ระหว่างการหาเสียงแล้ว นายซูนักยังเคยให้คำมั่นจัดการกับจีนอีกหลายเรื่องเช่น การสกัดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยี โดยการแก้ไขร่างกฎหมายอุดมศึกษาเพื่อให้มหาวิทยาลัยในอังกฤษเปิดเผยข้อมูลการรับเงินสนับสนุนจากหุ้นส่วนต่างชาติกรณีสูงกว่า 5 หมื่นปอนด์ การทบทวนโครงการวิจัยร่วมระหว่างอังกฤษกับจีนทั้งหมด ที่มีความเสี่ยงว่า จะถูกจีนลอบใช้ไปในการพัฒนาอาวุธ หรือเทคโนโลยีขั้นสูง
.
ก่อนพ้นจากทำเนียบถนนดาวนิ่ง นางทรัสส์เองก็เคยเตรียมการ ที่จะขึ้นบัญชีจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะภัยคุกคามต่ออังกฤษ ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เมื่อปี 2564 ซึ่งระบุว่า จีนเป็นชาติคู่แข่งทั่วทั้งระบบสำหรับอังกฤษ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนเตือนว่า การตราหน้าจีนว่าเป็นภัยคุกคาม เท่ากับเป็นการเรียกแขก ให้จีนออกมาตอบโต้ นับเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาล ที่มีความเป็นชาตินิยมสูง ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งระบุว่ารัฐบาลใดก็ตาม ที่ดำเนินการดังกล่าว ย่อมถือว่า เป็นการต่อต้านจีนเท่านั้นเอง
——————————-
แหล่งข่าว
https://www.telegraph.co.uk/news/2022/10/25/ban-chinese-institutes-uk-universities-drawn-rishi-sunaks-pledge/