ประธานาธิบดีเซอร์เบีย อ้าง คลินตัน เคยเรียกร้องให้ฮังการีโจมตีเซอร์เบีย
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อเล็กซานดาร์ วูชิช ประธานาธิบดีเซอร์เบีย กล่าวอ้างว่าอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ เคยเรียกร้องให้ฮังการี โจมตี เซอร์เบีย ระหว่างปฏิบัติการของนาโต้ในยูโกสลาเวีย ปี 1999 แต่ฝ่ายฮังการีปฏิเสธ แม้ถูกกดดันอย่างหนักหน่วงก็ตาม
.
วูชิซ กล่าวระหว่างปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมื่อวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม เปิดเผยว่า บิล คลินตัน ต้องการให้ฮังการีโจมตีทางภาคพื้นเล่นงานเซอร์เบีย จากทางเหนือ ระหว่างปฏิบัติการรุกรานของนาโต้ในปี 1999 “มันเกี่ยวกับโคโซโว ตอนนี้ ผมจะบอกความจริงกับคุณ บางอย่างที่พวกคุณไม่เคยรู้มาก่อน”
.
“ในปี 1999 ฮังการีถูกคาดหวังว่าจะโจมตีเซอร์เบียด้วยกองกำลังทางภาคพื้น ท่านวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ยืนยันเรื่องดังกล่าวกับผม และยอมให้ผมนำมันมาเล่าให้สาธารณชนทราบ”
.
เขาบอกต่อว่า “บิล คลินตัน ประธานาธิบดีอเมริกา เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร เรียกร้องเขา (ออร์บาน) ให้โจมตีเซอร์เบียจากทางเหนือ เพื่อที่พวกเขาจะได้กระจายกำลังพลของเราจากโคโซโวและเมโตฮิจา ไปยังเมืองวอยวอดินา แต่ทางออร์บาน ปฏิเสธ”
.
วูชิซ เล่าต่อว่า คำปฏิเสธดังกล่าวทำให้ เออร์บาน ตกอยู่ภายใต้แรงกดกันอย่างหนัก แต่ “เขาได้รับความช่วยเหลือจาก แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี สำหรับรับมือกับแรงกดดันจากทำเนียบขาว”
.
ผู้นำเซอร์เบียอ้างต่อว่า ในเวลาต่อมานางมาร์กาเรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ตำหนิออร์บาน “เพราะว่าจากคำปฏิเสธของเขา จะทำให้ทหารสหราชอาณาจักรเสียชีวิตจำนวนมาก”
.
นาโต้เปิดปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียในปี 1999 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวประกอบด้วยเพียงเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ในสงครามทางอากาศครั้งนั้น นาโต้เลือกยืนอยู่ข้างพวกแบ่งแยกดินแดนชาติพันธุ์แอลเบเนีย ซึ่งสู้รบกับเซอร์เบีย สำหรับความเป็นเอกราชของโคโซโว จังหวัดหนึ่งของเซอร์เบีย
.
ฮังการี เข้าร่วมนาโต้ในช่วงต้นปีของปีเดียวกัน แต่ไม่ได้เข้าร่วมในสงครามดังกล่าว
.
ตามคำกล่าวอ้างของ วูชิซ ระบุว่า จากนั้น ออร์บาน ได้มีโอกาสเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อพุดคุยกับนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ และอดีตนายกรัฐมนตรีแธตเชอร์ ซึ่งให้การต้อนรับเขาที่ประตูหน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง โดย แธตเชอร์ บอกกับ ออร์บาน ว่า “มันฝังอยู่ในใจฉันที่คุณปฏิเสธโจมตีเซอร์เบีย เพราะมันจะทำให้ทหารอังกฤษเสียชีวิตอีกจำนวนมาก”
.
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วไม่มีทหารสหราชอาณาจักรเสียชีวิตระหว่างการทำสงคราม ความเป็นปรปักษ์ยุติลงในเดือนมิถุนายน 1999 ภายใต้การลงนามในข้อตกลงคูมาโนโว ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากทหารนาโต้เคลื่อนเข้าสู่โคโวโซ และยังปักหลักอยู่เช่นนั้นจนถึงทุกวันนี้
.
ปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ทางอากาศคราวนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ใช้กำลังทหารโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยังคงถูกมองจากชาติส่วนใหญ่ทั่วโลก ว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
(ที่มา : ยูโรวีคลี/อาร์ทีนิวส์)