เซเลนสกี’ จี้นานาชาติรับรอง ‘4 เกาะพิพาทคูริล’ เป็นของญี่ปุ่น
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องให้ประชาคมโลกรับรอง 4 เกาะทางตอนใต้ของ “หมู่เกาะคูริล” ว่าเป็นดินแดนของ “ญี่ปุ่น” หลังจากพื้นที่ดังกล่าวตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ
.
เซเลนสกี แถลงต่อชาวยูเครนเมื่อวันศุกร์ (7 ต.ค.) ว่า เขาได้ลงนามในกฤษฎีการับรองอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมถึง 4 เกาะตอนเหนือที่เป็นข้อพิพาทกับรัสเซียด้วย
.
รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะทั้ง 4 ซึ่งได้แก่ ฮาโบไม (Habomai), ชิโกตัน (Shikotan), คูนาชีร์ (Kunashiri) และอีตูรุป (Etorofu) ว่าเป็น “ดินแดนตอนเหนือ” (Northern Territories) ในขณะที่รัสเซียเรียกมันว่า “หมู่เกาะคูริลใต้” (Southern Kurils)
.
หมู่เกาะทั้ง 4 นี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ถูกกองทัพสหภาพโซเวียตบุกยึดในช่วงวันท้ายๆ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงในปี 1945 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดกติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น (Soviet-Japanese Neutrality Pact) ที่ลงนามร่วมกันไว้ในปี 1941
.
ต่อมาในปี 1951 ได้มีการทำสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก (Treaty of San Francisco) ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดให้ญี่ปุ่นต้องสละสิทธิ์ในหมู่เกาะคูริล แต่ก็ไม่ได้ยอมรับว่าสหภาพโซเวียตมีอำนาจปกครองเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นแย้งว่าพวกเขายังคงมีสิทธิ์เหนือ 4 เกาะทางตอนใต้สุด
.
เซเลนสกี ชี้ว่า รัสเซียไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบครองหมู่เกาะเหล่านั้น ซึ่งทั่วโลกก็ทราบดี ดังนั้นประชาคมโลกจึงต้องช่วยกัน “ปลดปล่อย” (de-occupy) ดินแดนทั้งหลายที่รัสเซียเข้าไปครอบครองและยังคงพยายามที่จะยึดเอาไว้
.
“ด้วยการทำสงครามต่อต้านยูเครน ต่อต้านระเบียบสากล ต่อต้านประชาชนของเรา รัสเซียได้พาตัวเองเข้ามาสู่เงื่อนไข และอีกไม่นานทุกอย่างที่เครมลินยึดครองและควบคุมจะต้องได้รับการปลดปล่อยอย่างแท้จริง” ผู้นำยูเครนกล่าว
.
กองทัพยูเครนซึ่งมีชาติตะวันตกหนุนหลังได้เปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้จนสามารถช่วงชิงดินแดนกลับคืนจากรัสเซียได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดย เซเลนสกี ระบุว่าในสัปดาห์นี้กองทัพยูเครนสามารถปลดปล่อยดินแดนทางตะวันออกได้แล้วเกือบ 800 ตารางกิโลเมตร รวมถึงชุมชนเกือบ 30 แห่ง
.
ที่มา: The Hill