ชาวอังกฤษนับหมื่นประท้วงต้านราคาพลังงาน-ค่าครองชีพพุ่งสูง
เกิดการประท้วงตามท้องถนนในเมืองใหญ่ ๆ ของสหราชอาณาจักรช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ตั้งแต่วิกฤตค่าครองชีพ การขอขึ้นค่าแรง ไปจนถึงเรียกร้องให้มีการปกป้องสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ผู้นำอังกฤษยอมรับ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา ควรมีการวางรากฐานที่ดีกว่านี้
—เกิดการประท้วงในสหราชอาณาจักร—
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประท้วงเกิดขึ้นในกรุงลอนดอน เอดินบะระ สวอนซี และลิเวอร์พูล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเป็นการประท้วงที่จัดขึ้นภายใต้แคมเปญ “Enough is Enough” เฉพาะที่กรุงลอนดอนมีผู้มาร่วมชุมนุมราวหนึ่งหมื่นคน
ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือมากขึ้นจากภาวะราคาสินค้าที่พุ่งสูง ในรูปแบบของการขึ้นเงินค่าจ้าง ลดค่าพลังงาน และเก็บภาษีคนรวย
ทั้งนี้ สำนักข่าว Frace 24 รายงานว่า ผลกระจบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ดันให้ราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าสูงขึ้น คาดการณ์ว่าครัวเรือนของอังกฤษจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 20% แม้ว่ารัฐบาลเข้าแทรกแซงโดยการกำหนดเพดานราคาแล้วก็ตาม
—สหภาพ นัดหยุดงาน—
ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ประท้วงจากกลุ่ม Extinction Rebellion มาร่วมด้วย โดยพวกเขากล่าวว่า ออกมาเดินขบวนเพื่อต่อต้านทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และวิกฤตค่าครองชีพ
นอกจากนี้ การประท้วงยังเกิดขึ้นชนกับการเริ่มต้นผละงานของสหภาพการรถไฟ การเดินเรือ และการขนส่ง หรือ RMT ด้วย โดยแถลงการณ์ของ RMT ระบุว่า การออกมาเดินขบวนผละงานของสหภาพมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 ตุลาคม และคาดว่าจะมีสมาชิกสหภาพราว 40,000 เข้าร่วมทั่วประเทศ เพื่อปิดเครือข่ายการคมนาคมทางรางอย่างมีประสิทธิภาพ
RMT ระบุว่า การผละงานครั้งนี้มีขึ้นหลังขาดความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสหภาพกับการรถไฟ ซึ่งการรถไฟล้มเหลวในการตอบสนองความกังวลของพนักงาน เกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และความเสี่ยงที่จะมีการเลิกจ้างครั้งใหญ่เนื่องจากคนล้นงาน
มิค ลินช์ เลขาธิการของสหภาพฯ กล่าวว่า การผละงาน 24 ชั่วโมง 8 วันนั้นมีขึ้นเพื่อพุ่งเป้าไปที่การประชุมประจำปีของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่เมืองเบอร์มิงแฮม
ลินช์กล่าวว่า สหภาพฯ ไม่ได้ต้องการทำให้สาธารณะชนไม่สะดวกสบาย และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลเป็นผู้ที่ทำให้ยังเกิดการโต้แย้งกันในเรื่องนี้และท้าทายสหภาพ ทั้งลดการจ้างงาน ตัดลดเงินบำนาญและลดค่าแรง ทั้ง ๆ ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ
ด้านการรถไฟของอังกฤษ หรือ Network Rail ระบุว่า มีรถไฟที่ให้บริการได้เพียง 11% เท่านั้นทั่วสหราชอาณาจักรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การผละงานดังกล่าว หมายความว่าจะไม่มีการให้บริการรถไฟระหว่างกรุงลอนดอนกับเมืองหลักต่าง ๆ เช่น เบอร์มิงแฮม แมนเชสเตอร์ และนิวคาสเซิลในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขัน ลอนดอน มาราธอน เมื่อวันอาทิตย์ (2 ตุลาคม) ซึ่งมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมราว 42,000 คน
—นายกฯ อังกฤษมั่นใจ แผนลดภาษีจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น—
ขณะเดียวกันสำนักข่าว BBC รายงานว่า นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาษีล่าสุดที่มีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านปอนด์ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท และมาจากการกู้ยืมของรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น
แต่เธอยอมรับว่า แผนดังกล่าวควรมีการวางรากฐานที่ดีกว่านี้ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสินใจในการลดภาษีให้แก่ผู้มีรายได้สูง โดยที่ไม่ได้มีการหารือกับคณะรัฐมนตรีเต็มคณะล่วงหน้า
ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษยังมีโครงการระยะเวลาสองปีที่จะควบคุมราคาพลังงานในช่วงหกเดือนแรก ซึ่งมีมูลค่าราว 60,000 ล้านปอนด์ หรือราว 2.5 ล้านล้านบาท ด้วย
การประกาศของรัฐบาลทำให้ตลาดการเงินผันผวน และเงินปอนด์ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า แผนการตัดลดภาษีนั้นเป็นการช่วยคนที่รวยอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยผู้ที่เผชิญปัญหาค่าครองชีพสูงตัวจริง และจะยิ่งดันเงินเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งสูงขึ้น
เรื่องดังกล่าวจึงเป็นประเด็นหลักของการประชุมประจำปีของพรรคอนุรักษ์นิยมของทรัสส์ที่เมืองเบอร์มิงแฮม โดยทรัสส์ให้สัญญาว่า จะเอาชนะใจและความคิดของบรรดาส.ส.ของพรรคให้ได้
ขณะเดียวกัน เรเชล รีฟส์ รัฐมนตรีเงากระทรวงการคลังจากพรรคแรงงาน กล่าวหารัฐบาลว่า กำลังทำการทดลองที่บ้าคลั่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และความปั่นป่วนของตลาดนั้นเป็นวิกฤตที่รัฐบาลอังกฤษสร้างขึ้น
สาธารณชนจะได้รับความเสียหายจากความวุ่นวายนี้ และทรัสส์นั้นล้มเหลวในการทำความเข้าใจความกังวลและความกลัวเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจ