ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ เคาะวันตัดสินคดีนายกรัฐมนตรี 8 ปี 30 กันยายนนี้
Burapanews สำนักข่าวในประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ซึ่งมีการพิจารณาเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร ส่งเอกสารการประชุมดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่ฝ่ายค้านยื่นให้ตีความ
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุผลการพิจารณาว่า ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.
สำหรับเส้นทางคดีการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พลเอก ประยุทธ์ เริ่มมีการชูประเด็นดังนี้ตั้งแต่รัฐบาลเจอรุกไล่อย่างหนักจากม็อบราษฎร และมีการถกเถียงถึงการดำรงตำแหน่งวาระ พลเอก ประยุทธ์ ที่จะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือจะครบวาระในปีไหนกันแน่
แต่นักการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เนื่องจากอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกได้
เมื่อตุลาคม 2564 ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร สรุปประเด็นข้อกฎหมายส่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2570
โดยข้อสรุปดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า การกำหนดเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย”
ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ พลเอก ประยุทธ์ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลังจากที่ ครม. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่
“หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ดังนั้น ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ พลเอก ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158”
ต่อมา 28 ธันวาคม 2564 ข้อสรุปดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งเป็นประเด็นนายกฯ 8 ปี พลเอก ประยุทธ์ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกในเดือนมกราคม 2565
เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม 2565 ทั้งได้มีหลายฝ่ายยื่นให้องค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบวาระ 8 ปีของ พลเอก ประยุทธ์
เริ่มจากวันที่ 5 สิงหาคม 2565 “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ทั้งสองหน่วยงาน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ที่สุดแล้วผู้ตรวจการแผนดินตีตกคำร้อง เนื่องจากเป็นอำนาจขององค์กรอื่น
17 สิงหาคม 2565 171 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พลเอก ประยุทธ์ โดยนายชวนได้ส่งต่อคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 22 สิงหาคม เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่งของ พลเอก ประยุทธ์แล้ว
24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้อง พร้อมทั้งมีมติ 5 ต่อ 4 แบ่งเป็น เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายนภดล เทพพิทักษ์ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 คน ที่เห็นว่าไม่ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
1 กันยายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ ได้ส่งคำชี้แจง 23 หน้าไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี พลตรี วิระ โรจนมาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าทีมสู้คดี
8 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 มีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นการประชุมที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ระบุว่า การนับวันดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องรวมการดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ด้วย
โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 13 กันยายน 2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปวันที่ 14 ก.ย. 2565
14 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.
ที่มา สำนักข่าวไทย