ซาอุฯ จำคุก 34 ปี หญิงนักเคลื่อนไหวทวีตข้อความเรียกร้องปฏิรูป
ซัลมา อัล-ชีฮาบ (Salma al-Shehab) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวซาอุฯ ถูกศาลซาอุดีอาระเบียตัดสินจำคุกนานถึง 34 ปีเมื่อวันจันทร์ (15 ส.ค.) หลังจากที่เธอออกมาทวีตข้อความเรียกร้องการปฏิรูปในประเทศ
สื่อ CNN รายงานว่า อัล-ชีฮาบ วัย 33 ปี ยังถูกห้ามเดินทางออกนอกซาอุดีอาระเบียเป็นเวลา 34 ปีด้วย
นักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (Leeds University) ในสหราชอาณาจักรผู้นี้ ถูกทางการซาอุฯ จับกุมเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2021 และโดนเจ้าหน้าที่สอบเค้นหลายครั้งตลอดระยะเวลา 265 วัน ก่อนจะถูกส่งตัวขึ้นศาลอาญาพิเศษ ตามข้อมูลจากองค์กรสิทธิมนุษยชนอิสระ ALQST
ตอนแรกเธอถูกตัดสินจำคุกเพียงแค่ 6 ปี ก่อนที่ศาลจะเพิ่มโทษจนกลายเป็น 34 ปี หลังจากที่เธอยื่นอุทธรณ์ โดยความผิดต่างๆ ของเธอที่อัยการซาอุฯ สั่งฟ้องได้แก่ “ให้การสนับสนุนผู้ที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยในสังคม บั่นทอนความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงของรัฐ และเผยแพร่ข่าวลืออันเป็นเท็จลงบนทวิตเตอร์”
อัล-ชีฮาบ กล่าวต่อศาลว่า เธอถูก “บังคับ” ให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนที่ยืดเยื้อหลายเดือน และถูกแยกขังเดี่ยวโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และเธอยังขอร้องให้ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าเธอจำเป็นต้องดูแลบุตร 2 คน และมารดาที่ป่วยไข้
ลีนา อัล-ฮาธลุล หัวหน้าแผนกเฝ้าระวังและสื่อสารของ ALQST บอกกับสื่อ CNN ว่า อัล-ชีฮาบ ถูกจับเพราะทวีตข้อความสนับสนุน ลูเจน อัล-ฮาธลุล น้องสาวของเธอเองซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง และถูกจำคุกมาแล้วกว่า 1,000 วันฐานออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายห้ามผู้หญิงขับรถ
เธอบอกด้วยว่า การที่ศาลตัดสินจำคุก อัล-ชีฮาบ นานถึง 34 ปี เป็นการกระทำที่ “สวนทางกับคำพูดของรัฐบาลซาอุฯ ที่อ้างว่าจะปฏิรูปสิทธิสตรีและระบบกฎหมาย” และแสดงให้เห็นว่าทางการซาอุฯ “ยังคงใช้บทลงโทษที่รุนแรงกับใครก็ตามที่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ”
ALQST เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุฯ ปล่อยตัว อัล-ชีฮาบ และรับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
บัญทวิตเตอร์ของ อัล-ชีฮาบ ยังมีข้อความที่ปักหมุดเอาไว้ว่า “เสรีภาพสำหรับเหล่านักโทษทางความคิด (prisoners of conscience) และทุกๆ คนในโลกที่ถูกกดขี่”
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (17) ว่า สหรัฐฯ กำลัง “ศึกษา” รายละเอียดในคดีของ อัล-ชีฮาบ อยู่ และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการที่รัฐบาล โจ ไบเดน เริ่มหันไปรื้อฟื้นความร่วมมือกับซาอุฯ อีกครั้ง จะทำให้ริยาดยิ่ง “ได้ใจ” หรือไม่ เขาก็ตอบว่า “การปฏิสัมพันธ์ของเรามีความชัดเจนว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นสำคัญ”
ที่มา : CNN