ไทย-สหรัฐฯร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ทะเลจีนใต้- เมียนมาร์ ไทยย้ำจุดยืนอาเซียนแก้ปัญหาสันติวิธี ด้านสหรัฐฯ พร้อมหนุนพัฒนากองทัพไทยให้ทันสมัย -ฝึกร่วมผสมคอบบร้าโกล์ด เต็มรูปแบบ เพิ่มฝึกไซเบอร์-อวกาศ
Burapanews สำนักข่าวไทย รายงาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ว่า พลเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ให้การต้อนรับ นาย Lloyd J. Austin III ( ลอยด์ เจ. ออสติน ที่สาม )รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในฐานะแขกของกระทรวงกลาโหม ระหว่าง 12 – 14 มิ.ย. 65 ณ ศาลาว่าการกลาโหม
ทั้งสองฝ่าย ได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการแน่นแฟ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน และขอบคุณการสนับสนุนความร่วมมือทางทหาร พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันต่อสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาค อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ และเมียนมา โดยไทยสนับสนุนการดำรงบทบาทที่สร้างสรรค์และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และยืนยันในท่าทีของอาเซียน โดยที่ผ่านมา ไทยได้ให้การช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมต่อเนื่องมา และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขัดแย้งที่ไม่พึงประสงค์ของภูมิภาค
ขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันและพร้อมผลักดันการสนับสนุนพัฒนากองทัพไทยให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งการฝึก ศึกษา ยุทโธปกรณ์และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเฉพาะ การพัฒนาศักยภาพร่วมกันด้านไซเบอร์และอวกาศ ซึ่งในปี 66 หลังผ่านความท้าทายของโควิด 19 จะได้มีความร่วมมือกัน จัดการฝึกร่วมผสมคอบบร้าโกล์ด เต็มรูปแบบ โดยจะมีการฝึกด้านไซเบอร์และอวกาศ เพื่อยืนยันและสะท้อนความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวเสิรมว่า “สำหรับการลงนาม ในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย – สหรัฐฯ ว่าด้วยการเป็นพันธมิตร ด้านการป้องกันประเทศ 2020 ที่ผ่านมา เป็นเพียงกรอบแนวคิดและจุดยืนที่มีร่วมกัน มิได้เป็นสนธิสัญญา หรือมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นการปรับปรุงจากแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม 2012 เดิมที่เคยมีอยู่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นย้ำ ความยึดมั่นร่วมกันของไทยและสหรัฐฯ ในการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศที่มีร่วมกันมายาวนาน ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นหุ้นส่วน การดำรงบทบาท ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน ความเป็นผู้นำ และกลไกความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อป้องปรามและตอบสนองความท้าทายร่วมกัน จึงขอให้เชื่อมั่นการทำหน้าที่ในภารกิจป้องกันประเทศของกลาโหมที่ยังยึดมั่นและให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ชาติและความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก”
No Result
View All Result