เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 Burapanews รายงานว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ผมขอเริ่มต้นด้วยการแสดงความชื่นชมต่อเยาวชนไทย 2 ทีม ที่สามารถแสดงศักยภาพและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับโลกจากเวทีการแข่งขันนานาชาติ ด้านการสนับสนุนภารกิจสำรวจอวกาศของมวลมนุษยชาติในอนาคต ดังนี้
(1)ทีม Indentation Error จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ประกอบด้วยนายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award ระดับเอเชีย เอาชนะคู่แข่งจาก 8 ประเทศ
ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียบังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติในโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 2 จัดโดยองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
(2) ทีม KEETA ประกอบด้วย นางสาวนภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอก KTH Royal Institute of Technology สวีเดน นายสิทธิพล คูเสริมมิตร นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโท ชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ม.มหิดล และ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซ่า (NASA) ให้ผ่านเข้ารอบที่ 2 ของการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหาร สำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge พร้อมกับ 18 ทีมจากสหรัฐฯ และแคนาดา รวมทั้งอีกหลายทีมจากทั่วโลก ได้แก่ โคลอมเบีย เยอรมนี ออสเตรเลีย อิตาลี บราซิล ซาอุดีอาระเบีย ฟินแลนด์ และอินเดีย
ความสำเร็จของทีมชาติไทยจากการแข่งขันทั้ง 2 รายการนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยนั้นมีความสามารถ ไม่ได้เป็นรองใครในทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าสมาชิกของทั้งสองทีม จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสร้างความก้าวหน้าให้วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบ้านเรา ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และหวังว่าต้นแบบของความสำเร็จนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยทั้งประเทศที่ยังมีคนเก่งอีกมากมาย ในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆสู่สังคมและประเทศชาติต่อไป
ผมเองในฐานะ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย ก็อาจพูดได้ว่ากำลังอยู่ในภารกิจการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่และท้าทายเช่นกัน นั่นคือเป้าหมายการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทย ให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 ให้ได้ โดยปัจจุบันเราอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ ตามการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกปีนี้ (Global Innovation Index 2021) ดีขึ้น 1 อันดับจากปีที่ผ่านมา และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ที่ผ่านมานั้นผมและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยการสร้างนวัตกรรม ที่จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทัดเทียมประชาคมโลก จึงได้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายองค์กรนำมาสู่การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกในศตวรรษที่ 21 และเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ดีกว่าในอดีต
รัฐบาลยังได้ผลักดันให้เกิด เมืองแห่งนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi)เพื่อให้เป็น ซิลิคอนวัลเลย์ ของเมืองไทยและสร้างเมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้เป็นศูนย์กลางของการค้า การลงทุน การสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน อีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือการพัฒนาคนไทย โดยเฉพาะเยาวชน ให้เป็นนวัตกร นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ เราต้องเปลี่ยนคนไทยจากที่เป็นผู้ใช้ (user) ให้เป็นผู้สร้าง (creator) นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆให้มากที่สุด ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้มากกว่าการส่งออกวัตถุดิบนับร้อยนับพันเท่า ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ ความสามารถความคิดสร้างสรรค์
รวมทั้งความมุมานะพยายามของคนไทย ที่ชาวโลกยอมรับและชื่นชมในหลากหลายด้าน ผมมีความตั้งใจอย่างยิ่งว่า จะต้องดำเนินนโยบายที่สร้างโอกาสและสนับสนุนคนไทยให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆให้ได้มากที่สุด ทั้งในเรื่องของเงินทุน และการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ไม่ให้ระบบราชการเป็นการขัดขวาง ผู้ที่มีไอเดียนวัตกรรมดี ๆ ที่มีสร้างสรรค์และมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นบริษัทเล็กแค่ไหนหรือเป็นเพียงคน ๆ เดียว
หรือแม้แต่เยาวชน ควรจะต้องมีเงินทุนสนับสนุน ต่อยอดไอเดียนั้นให้กลายเป็นความจริง มีหน่วยงานให้คำปรึกษา มีพื้นที่ให้ทดลองนำไอเดียนั้นไปใช้จริง ตามโมเดล Sandbox ที่เราประสบความสำเร็จมาแล้ว รวมถึงการสนับสนุนอื่น ๆ ซึ่งตราบใดที่ผมยังอยู่ในตำแหน่งผู้นำภารกิจนี้ ผมจะหาหนทางที่จะทำให้การดำเนินนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อยกระดับประเทศของเราให้กลายเป็น ผู้ส่งออกนวัตกรรม ให้ได้โดยเร็วที่สุดครับ