รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ชี้ ตราบใดที่เมียนมา ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ไม่สมควรได้เป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ป
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ว่า ฟิลิปปินส์คัดค้านกลไกการให้สัตยาบันของเมียนมา ในการเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ตราบใดที่เมียนมายังอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร
ขณะที่สมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ แน่นอนว่า หนึ่งในนั้นคือเมียนมา ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อท่าทีของฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับสมาชิกคู่เจรจาอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นิวซีแลนด์มีหนังสือชี้แจงต่อสมาชิกทั้งหมดในอาร์เซ็ป ว่าจะไม่ยอมรับเอกสารของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการให้สัตยาบันต่ออาร์เซ็ป
ทั้งนี้ อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา กับออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น ลาว นิวซีแลนด์ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม ตามด้วยเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้ร่วมให้สัตยาบันต่อข้อตกลง
ปัจจุบัน อาร์เซ็ป(Rcep) ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสมาชิกอาร์เซ็ปที่จะมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 842.43 ล้านล้านบาท) ครอบคลุมประชากร 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และยังเป็นเอฟทีเอแบบพหุภาคีฉบับแรกในประวัติศาสตร์ ที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ร่วมลงนามพร้อมกันตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า เมื่อเทียบกับข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับอื่น อาร์เซ็ป ได้เปรียบในเรื่องขนาด จากสมาชิก 15 ประเทศ แต่เนื้อหายังไม่ชัดเจนมากนัก ทว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับอาเซียน ตลอดจนบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ในการได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กับข้อตกลงทางการค้าที่มีมูลค่ามหึมาขนาดนี้
ด้านการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด คาดการณ์ว่า อาร์เซ็ปจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างภูมิภาคได้อีก 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.35 ล้านล้านบาท)