อิหร่าน จัดเลือกตั้งรอบสอง ไร้ผู้ชนะเด็ดขาด สายปฏิรูปนำสายแข็ง ลุ้นชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อิหร่านเตรียมที่จะมีการจัดเลือกตั้งรอบสอง ในวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม เพื่อหาประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ หลังไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนโหวตมากกว่า 50% ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน
โฆษกหน่วยงานการเลือกตั้งของอิหร่านได้กล่าวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนว่า การเลือกตั้งรอบสองเพื่อหาประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่จะเป็นการท้าชิงกันระหว่างนายมาซูด เปเซซเคียน อดีตแพทย์ผ่าตัดหัวใจที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตทาบริซ ในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ผู้เป็นนักการเมืองหัวปฏิรูปยึดหลักสายกลางที่เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 4 คนที่ไม่ใช่สายแข็ง ได้รับคะแนนโหวตไปมากกว่า 10,400,000 คะแนน และนายซาอิด จาลิลี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและหัวหน้าทีมเจรจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ผู้มีแนวคิดอิสลามหัวรุนแรง ที่มีคะแนนโหวตมากกว่า 9,400,000 คะแนน โดยทั้งสองเป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 2 อันดับแรก
อิหร่านมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้ว 13 ครั้งนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 แต่มีการเลือกตั้งในปี 2005 เพียงครั้งเดียวที่มีการจัดเลือกตั้งรอบสอง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 61 ล้านคน แต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 24,500,000 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อิหร่าน
ตามกำหนดเดิม อิหร่านจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2025 แต่ถูกเลื่อนให้เร็วขึ้นหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซีจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนพฤษภาคม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านจะไม่ทำให้นโยบายหลักๆ ในด้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือการสนับสนุนกองกำลังต่างๆ ในตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไป เพราะอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่จะอยู่ที่อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แต่ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านจะทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของรัฐบาลและอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางนโยบายของประเทศ
สถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทยจัดเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันศุกร์ ประชาชนร่วมใช้สิทธิคึกคัก ทูตเผยนโยบายหลักยังเหมือนเดิม ยึดมั่นแนวคิดพหุภาคีนิยมต่อไป พร้อมสนับสนุนไทยเป็นสมาชิก BRICS
นายนอเศเรดดีน ไฮดารี (Nassereddin Heidari) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย กล่าวว่า ชาวอิหร่านในประเทศไทยมีอยู่ราว 1,500 คน ทำงานหลากหลายอาชีพ เช่น ทำธุรกิจ การท่องเที่ยว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี คาดว่าออกมาใช้สิทธิราว 400-500 คน (กฎหมายเลือกตั้งไม่อนุญาตให้เปิดเผยจำนวนผู้ใช้สิทธินอกเขต)
ก่อนการเลือกตั้งสถานทูตเผยแพร่ข้อมูลในทุกๆ ช่องทาง สู่ชุมชนชาวอิหร่านในประเทศไทย และในวันเลือกตั้งมีการจัดรถบริการมาใช้สิทธิที่สถานทูต
“บังเอิญว่าวันนี้ สายการบินมาฮาน (Mahan Air) ของอิหร่านมีเที่ยวบินมาลงที่กรุงเทพฯ พอดีทางสถานทูตจึงอำนวยความสะดวกให้ได้มาเลือกตั้ง” ทูตกล่าวและว่าการใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. สะดวกราบรื่นไม่มีปัญหาใดๆ
ส่วนกรณีที่มีเสียงวิจารณ์และต่อต้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นทูตมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จัดขึ้นอย่างเสรีมาก รัฐธรรมนูญกำหนดว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วม
“คนที่ไม่เห็นด้วยไม่มาเลือกตั้งก็สูญเสียสิทธิของตนเอง แต่ถ้าคิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอิหร่านก็ควรมาใช้สิทธิไม่ว่าจะเลือกใครก็ตาม”
นายไฮดารีย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านที่มีต่อโลกและภูมิภาคเอเชียด้วยว่า ประธานาธิบดีเป็นผู้บริหารลำดับสองของอิหร่าน นโยบายต่างประเทศโดยทั่วไปดูแลโดยผู้นำสูงสุด (supreme leader) ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาอิหร่านยึดมั่นในกรอบพหุภาคีนิยม ไม่เฉพาะในเอเชียแต่ทั่วทั้งโลก เห็นได้จาก สัปดาห์ก่อนอิหร่านเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) กลุ่มความร่วมมือที่มาจากความคิดริเริ่มของไทย
“เรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย มาริษ เสงี่ยมพงษ์และทีมงานเข้าร่วมประชุมด้วย ผมคิดว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี นโยบายหลักที่อิหร่านมีต่อโลกและต่อเอเชียแปซิฟิกในการขยายความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคีจะดำรงอยู่ต่อไป นี่คือสิ่งที่โลกคาดหวังได้จากอิหร่านหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้”
ในฐานะที่อิหร่านเป็นสมาชิกใหม่ของ BRICS และไทยประสงค์เข้าร่วมกลุ่ม นายไฮดารีกล่าวว่า อิหร่านยินดีให้ไทยได้เป็นสมาชิกใหม่ของ BRICS เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่สนใจอยากเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
“เพราะ BRICS ถือเป็นกลุ่มใหม่นับจนถึงขณะนี้ ไม่ใช่เวทีการเมืองแต่ตั้งขึ้นเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิก BRICS จึงยินดีต้อนรับไทยที่เป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียน และคาดว่าอีกหลายประเทศอาเซียนจะเข้าร่วม BRICS เช่นกัน”
ด้าน นางจารีรัตน์ แซ่เอียว พนักงานธนาคารจากพัทยา หญิงไทยที่ได้สัญชาติอิหร่านจากการสมรส เผยว่า วันนี้ตั้งใจมาใช้สิทธิกับสามี การเลือกตั้งที่ค่อนข้างกะทันหันสามีเป็นผู้ติดตามข้อมูลผู้สมัคร แล้วตัดสินใจร่วมกันสถานทูตอิหร่านจัดเลือกตั้งคึกคัก ส่อเค้าเลือกรอบสอง
“เลือกคนที่คิดว่าโอเค สามารถพัฒนาประเทศได้” โดยเธอคาดหวังให้ประธานาธิบดีคนใหม่ปรับภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติ
“ให้คนอื่นมองอิหร่านแตกต่างออกไป ให้โอเคขึ้น เพราะประเทศเขาโอเค ผู้คนโอเค แต่บางครั้งคนภายนอกอาจจะไม่ทราบ มองว่า น่ากลัว ไม่กล้าไป ทั้งๆ ที่อิหร่านเป็นประเทศที่น่าเที่ยว สวยงามมาก” หญิงไทยสัญชาติอิหร่านกล่าว
ล่าสุดเช้าวันนี้ (29 มิ.ย.) สถานทูตอิหร่านแจ้งว่า การนับคะแนนในอิหร่านยังคงดำเนินอยู่ แต่เป็นไปได้อย่างมากว่าอาจมีการเลือกตั้งรอบสองในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค. เนื่องจากคาดว่าไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงเกิน 50%
No Result
View All Result