มองฉากทัศน์การเมืองอิหร่านหลังจากการเสียชีวิต ประธานาธิบดีซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ (ตอนที่๑)
บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
คำถามหนึ่งถูกถามมากที่สุดก็ว่าได้ นั่นคือ จะเกิดอะไรขึ้นในอิหร่าน หลังจากนี้ เมื่อประธานาธิบดี ซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก? ในขณะที่อิหร่านกำลังมีส่วนร่วมในจัดระเบียบตะวันออกกลางและอีกด้านหนึ่ง คือ การเปิดหน้าชนกับอิสราเอลอย่างน่าสนใจกับฉากทัศน์ใหม่ในตะวันออกกลาง?
ประธานาธิบดี ซัยยิดอิบราฮิม รออีซี ถือว่า มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์สงครามระหว่างฮามาส-อิสราเอล และกล่าวได้ว่าซัยยิดอิบราฮิม รออีซี ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนฮามาสอย่างออกหน้าออกตา มากกว่าประเทศอาหรับและผลงานอีกชิ้นของรออีซี่คือ การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียหลังจากตัดความสัมพันธ์ทางการทูตมากกว่าเจ็ดปี
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว ซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งและคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่แปดมาได้ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อตะวันตกว่า จำนวนผู้มาเลือกตั้งที่น้อยผิดปกติบ้าง และเขาเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองของ อยาตุลเลาะฮ์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด ที่มีอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายต่อนโยบายของประเทศอย่างแท้จริงบ้าง หรือเป็นประธานาธิบดีเปื้อนเลือดบ้างก็ตาม
ก่อนที่เราจะมาวิเคราะห์ถึงฉากทัศน์การเมืองอิหร่าน หลังจากนี้ ให้ย้อนดูรัฐธรรมนูญของอิหร่าน มาตรา 131 เกี่ยวกับการกำหนดให้รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง เป็นผู้รักษาการแทน และให้ทำการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน ๕๐วัน ดังนั้น ในขณะนี้ผู้ที่จะมารักษาการแทนประธานาธิบดีอิหร่าน คือ ท่านมูฮัมหมัด มุคบีร ซึ่งท่านเคยมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลของรออีซี่ และท่านมุคบีร จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวและรักษาการประธานาธิบดี และทำงานร่วมกับหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการสูงสุด เพื่อเตรียมการเลือกตั้งประธานาธิบดี “ภายในกรอบระยะเวลาสูงสุด 50 วัน”
แต่ดูเหมือนว่ามายาคติหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยชาติมหาอำนาจต่อการเมืองอิหร่านตั้งแต่ปฎิวัติอิสลามปี ค.ศ.1979 นั่นคือ ภาพลักษณ์ของอิหร่านภายใต้รัฐแบบศาสนานิยม หรืออิสลามนิยมแบบขวาจัด โดยให้ภาพลักษณ์ของความแข็งกร้าว หรือการเมืองแบบอนุรักษนิยมผ่านกรอบความคิดเป็นรัฐเผด็จการ และสงครามจิตวิทยาของสื่อตะวันตกกับอิหร่านจะเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อการเสียชีวิตประธานาธิบดี อิบรอฮีม รออีซี่ โดยการใช้วาทกรรมทางการเมืองแบบเดิมที่เคยใช้มาตลอดในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านคงจะหนีไม่พ้นจากปีกการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม(Conservatives) เป็นการเมืองแบบศาสนานิยมขวาจัด เป็นเผด็จการ มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสุดโต่ง และตัวจริงของผู้บริหารประเทศอิหร่านคือผู้นำสูงสุด ไม่ใช่ประธานาธิบดีอะไรทำนองนั้น และเราคงจะได้มาวิเคราะห์กันในประเด็นนี้และมองถึงฉากทัศน์การเมืองอิหร่านหลังจากนี้ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร?ประชาชนชาวอิหร่านคิดอย่างไรกับอนาคตของพวกเขา?และสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านจะอ่อนแอลงหรือไม่? คงจะได้วิเคราะห์กันในตอนต่อไป
ย้อนดู ประธานาธิบดีอิหร่าน
หลังจากการปฎิวัติ1979 ในอิหร่าน อิหร่านได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็น”สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน”(Islamic Republic of Iran) และหลังจากที่ ดร.รอญาอี ได้ขึ้นมาประธานาธิบดีระยะสั้นๆ ไม่กี่เดือนนั้น ก็ถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิตจากฝ่ายต่อต้านการปฎิวัติกลุ่ม MKO (ขบวนการประชาชนมุญาฮีดีนอิหร่าน) และต่อมา อายาตุลเลาะฮ์ คามาเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านคนปัจจุบัน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อมาอีก๘ปี ดังนั้นการเมืองอิหร่านจึงได้ถูกขับเคลื่อนด้วยคณะบุคคลกลุ่มก้อนที่เรียกว่า”สายปฎิวัติ” ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองที่ได้ก่อตัวของสานุศิษย์ของอิมามโคมัยนีก่อนการปฎิวัติ ในนาม” جامعه روحانیت مبارز “(ญอมีเอะหฺ รูฮอนียัต มุบาริซ) “สมัชชานักต่อสู้แห่งสถาบันนักการศาสนา”โดยมีคณะผู้ก่อตั้ง อย่าง อายาตุลเลาะฮ์ มุเฎาะฮารี อายาตุลเลาะฮ์ เบเฮชตี้ ฮาชีมี รัฟซาน ญานี(อดีตประธานาธิบดี) นาฏิก นูรี(อดีตประธานรัฐสภา) อายาตุลเลาะฮ์ มะดะวี กานี และ อายาตุลเลาะฮ์ คามาเนอี (ผู้นำสูงสุดปัจจุบัน) และอีกหลายคนที่เป็นบุคคลสำคัญทางเมืองอิหร่าน โดยกลุ่มการเมืองสายปฎิวัตินี้ได้เริ่มทำงานด้านการเมืองก่อนการปฎิวัติเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน กษัตริย์ ชาห์ ปาลาวีที่ได้กดขี่ประชาชนและยังเป็นกลุ่มก้อนที่ได้สานต่อการทำงานด้านการเมืองหลังปฎิวัติ และต่อมากลุ่มก้อนการเมืองกลุ่มนี้ได้ถูกรู้จัก”การเมืองฝ่ายขวา”
หลังจากอิมามโคมัยนีได้เสียชีวิต สภาผู้ชำนาญการได้เลือก อายาตุลเลาะฮ์ คามาเนอี ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด และอิหร่านจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1989 และปี1993 ฮาชีมี รัฟซานญานี ได้รับการไว้วางใจให้เป็นประธานาธิบดี ถึง๒ สมัย และการเมือง”สายปฎิวัติ”ได้สร้างการพัฒนาประเทศอย่างกว้างขวาง โดยถูกเรียกช่วงนั้นว่า”การต่อสู้เพื่อพัฒนาประเทศ” โดยนโยบายของรัฟซาน ญานี ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆให้มีความก้าวหน้าและได้ซ่อมแซมประเทศหลังจากเกิดสงครามแปดปีอิรัก-อิหร่าน ต่อมากลุ่มการเมืองกลุ่มนี้เริ่มขยายความร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่นมากขึ้น ประชาชนชาวอิหร่านไว้วางใจมาก กรอปกับสายการเมืองกลุ่มนี้ได้ยึดมั่นต่อาการปฎิวัติอิสลามและสืบสานการปฎิวัติอย่างหนักแน่นและต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯและชาติตะวันตกในทุกๆด้าน ในขณะที่สื่อกระแสหลักตะวันตกเริ่มให้ฉายาการเมืองกลุ่มนี้ว่า”กลุ่มการเมืองสายปฎิวัติ”
เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี1994 กระแสสื่อตะวันตกเริ่มเรียกกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ว่า”การเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม แบบขวาจัด” (Conservative) เป็นคู่แข่งทางการเมืองกับอีกฝั่งที่เกิดขึ้นคือ”ฝ่ายปฏิรูปนิยม”( Reformist) และกระแสการตอบรับต่อฝ่ายปฎิรูปมีมากเกินขาด ในที่สุดฝ่ายอนุรักษนิยมได้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ในปี1996 ให้กับฝ่ายปฎิรูป โดยซัยยิด มุฮัมมัด คอตามี เป็นประธานาธิบดีคนแรกของฝ่ายปฎิรูป และซัยยิด คอตามี ได้เป็นประธานาธิบดีถึงสองสมัย
ในปี 2005 อิหร่านได้มีการเลือกประธานาธิบดีครั้งที่เก้าและครั้งที่สิบปี2009 ฝั่งอนุรักษ์ได้ปรับทัพต่อสู้กับฝั่งปฏิรูป โดยส่ง ดร.มะหมูด อะมาดี เนจาดลงเลือกตั้ง ในที่สุดฝ่ายอนุรักษ์ได้รับความไว้วางใจ และนายอะมาดี เนจ๊าดได้เป็นประธานาธิบดี โดยการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองสายอนุรักษ์ และได้เป็นประธานาธิบดีถึงสองสมัย และยุคของอะมาดีเนจาด สื่อกระแสหลักตะวันตกได้กระพรือข่าวและสงความจิตวิทยาอย่างหนักต่อกลุ่มก้อนการเมืองปีกอนุรักษ์ โดยให้ฉายาว่าเป็นการเมืองของกลุ่มสุดโต่ง เผด็จการ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ได้ร่างกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและอีกมากมาย ซึ่งเป็นภาพลบต่อปีกการเมืองฝ่ายอนุรักษ์เป็นอย่างมากในสายตาชาวโลก และด้วยความแข็งกร้าวของ อะมาดี เนจาด ทำให้อิหร่านถูกคว้ำบาตรจากสหรัฐฯและยุโรปเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเมืองแบบแข็งกร้าวจนเกินไป ทำให้กระแสการตอบรับต่อฝ่ายอนุรักษ์เริ่มแผ่วบางอีกครั้ง กรอปกับฝ่ายปฎิรูปได้ปรับทัพต่อสู้การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2013 โดยลงการลงเลือกตั้งของ ประธานาธิบดี ดร. ฮัสซัน รูฮานี ทั้งสองสมัย เอาชนะฝ่ายอนุรักษนิมไปอยางถล่มทลาย และถือว่าเป็นช่วงอ่อนแอที่สุดของฝ่ายอนุรักษ์ก็ว่าได้
ต่อมาอายาตุลเลาะฮ์ มะดะวี กานี เลขาธิการพรรค جامعه روحانیت مبارز(ญอมีเอะห์ รูฮอนียัต มุบาริซ) =สมัชชานักต่อสู้แห่งสถาบันนักการศาสนา)ถือว่าเป็นพรรคใหญ่สุดของปีกอนุรักษนิยมได้เสียชีวิตลงทำให้การเมืองฝ่ายอนุรักษ์ต้องปรับทัพครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ”การปรับทัพรวมตัวครั้งใหญ่สายหลักการนิยม(อนุรักษนิยม)” ให้ ดร.ฮัดดาด อาดิล อดีตประธานรัฐสภมและอายาตุลลอฮ์มุวะฮีดี กีรมอนี มาเป็นเลขาธิการคนต่อไป และปรับกลยุทธ์ได้รวมพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์มากถึง๒๑พรรค นำทัพสู้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งที่11 ทำให้ยึดเก้าอี้ในรัฐสภามากที่สุด โดยมาจากฝ่ายอนุรักษ์มากถึง ๒๒๑ ที่นั่ง จากจำนวน ๒๙๐ ที่นั่ง ส่วนฝ่ายปฎิรูปเหลือแค่ ๒๐ ที่นั่งเท่านั้นและถือว่าฝ่ายปฎิรูปได้อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมได้ชัยชนะครั้งใหญ่อีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่๑๓ที่ผ่านมา และซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 18 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 61.9 % เลยทีเดียว นับว่าเป็นการผงาดของปีกสายการเมืองหลัการนิยม(อนุรักษ์นิยม)ที่ครองพื้นที่มากที่สุดยุคหนึ่งของอิหร่าน คือทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อยู่ภายใต้สายการเมืองแบบอนุรักษนิยม
การเมืองปีกอนุรักษนิยมที่เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้และเป็นปีกการเมืองของว่าที่ประธานาธิบดี รออีซี่นั้น แท้จริงแล้วการเมืองกลุ่มนี้ ชาวอิหร่านจะเรียกว่า” اصولگرا (อุซูลกะรอ หรือ อีกคำ”بنیادگرایان (บุนยอดกะรอยอน) แปลว่า “นักการเมืองแบบหลักการนิยม” (Principles) เป็นสถาบันทางการเมืองแบบ”อิสลามการเมือง”(Political Islam) ยึดมั่นโครงสร้างอิสลามการเมืองผ่านการสังเคราะห์จากอิมามโคมัยนี ต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านสหรัฐอเมริกา ถือว่าสหรัฐฯคือ”ซาตานตัวใหญ่” ไม่สัมพันธ์ใดๆกับอิสราเอล ยึดมั่นต่อหลัก”วิลายะตุลฟากี”(หลักปกครองระบอบปราชญาธิปไตย) ยอมรับการเป็นผู้นำสูงสุดของ อายาตุลเลาะฮ์ อาลี คามาเนอีเหมือนกับตัวของอิมามโคมัยนี จะมีอัตลักษณ์ความแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯและชาติตะวันตกแต่จะเป็นมิตรกับนานาประเทศ เน้นความเป็นศาสนาสูงแต่ก็ไม่ได้ปฎิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสมัยใหม่ และอีกคุณลักษณะหนึ่งสำคัญของสายการเมืองปีกอนุรักษ์นี้ คือ ยึดหลักการเมืองการต่างประเทศใช้หลักการ”ผลประโยชน์แห่งชาติ” โดยคำนึงหลักศาสนาและศิลธรรม มากกว่าความก้าวหน้าทางวัตถุและความต้องการของประชาชนแบบประชานิยม และสายอนุรักษ์นี้ จะยึดหลักการปกป้องคุณค่าของ”การปฏิวัติอิสลาม”เหนือสิ่งอื่นใด เพราะนั่นคือ พิมพ์เขียวที่อิมามโคมัยนีผู้ล่วงลับได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้นมาในอิหร่าน
อ้างอิง
http://www.inewhorizon.net/2457853573246-2/