อิสราเอล vs. ฮามาส: วิกฤตตะวันออกกลาง-วิกฤตโลก
โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
วิกฤตการณ์ครั้งนี้ พาเราถอยหลังกลับไปหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจจะถอยกลับไปไกลสู่ทศวรรษที่ 70 เลย (ซึ่งเป็นยุคของความขัดแย้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับ – ผู้เขียน)
การเปิดฉากโจมตีอิสราเอลของ ‘กลุ่มฮามาส’ ในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ได้ไม่ยาก เพราะมีชาวอิสราเอลเสียชีวิตจำนวนมาก (ดูตัวเลขความสูญเสียท้ายบทความ)
ภาพการโจมตีที่เกิดขึ้นกับอิสราเอลครั้งนี้ ทำให้เราอาจเทียบเคียงได้กับการโจมตีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 อันนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก และการเป็นการโจมตีในแบบที่ ‘ไม่คาดคิด’ คือมีลักษณะเป็น ‘Surprise Attack’ ที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า รัฐเป้าหมาย (สหรัฐฯ และอิสราเอล) ไม่ทันเตรียมตัวรับมือกับการโจมตีที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่
หากย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีที่แล้ว จากเหตุการณ์ 9/11 จะเห็นได้ว่า หลังจากการโจมตีเกิดขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ ‘สงครามใหญ่’ ชุดหนึ่งในเวทีโลกที่ปรากฏในรูปของ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ หรือในสำนวนอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวคือ ‘The Global War on Terrorism’ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘The War on Terror’
การขับเคลื่อนสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเช่นนี้ ยังส่งให้เกิดผลสืบเนื่องกับการเมืองทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งของปัญหา โลกได้เห็นถึง ‘สงครามชุดใหม่’ หรือที่อาจเรียกว่าเป็น ‘สงครามของยุคหลังสงครามเย็น’ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย ขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกด้วย
ดังนั้น เมื่อเกิดการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่ ‘สงครามตามแบบ’ หรือเป็นสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับบางส่วน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในสงครามยมคิปปูร์ (The Yom Kippur War) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1973 เมื่อ 50 ปีที่แล้วหรือไม่ (น่าสนใจอย่างมากว่าเหตุการณ์โจมตีอิสราเอลล่าสุดนี้เกิดในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปีสงครามยมคิปปูร์พอดี!)
ฉะนั้น บทความนี้จะทดลองพิจารณาในเบื้องต้นถึงผลกระทบของสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ที่จะเกิดกับสถานการณ์โลก
ผลกระทบของสงครามในเชิงมหภาค
ผลจากการโจมตีของฮามาสและการขยายตัวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้เราอาจคาดคะเนถึงแนวโน้มของสถานการณ์ที่เป็นภาพรวมในอนาคตได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่จะตั้งเป็นประเด็นนั้นอาจกล่าวเป็นสาระโดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้
ยังไม่ชัดเจนว่าการก่อเหตุร้ายของฮามาสครั้งนี้จะทำให้ปัญหาถูกยกระดับขึ้นกลายเป็น ‘สงครามใหญ่ในตะวันออกกลางครั้งใหม่’ หรือจะถูกควบคุมปัญหาให้เป็นเพียง ‘สงครามจำกัดอิสราเอล-ฮามาส’ และจำกัดพื้นที่อย่างสำคัญอยู่กับฉนวนกาซาเป็นส่วนหลัก
ปัญหาความขัดแย้งชุดนี้เป็นปัญหายืดเยื้อในตัวเอง เพราะด้านหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีมานาน และอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ก็มีปัญหาในกาซากันมานานเช่นกัน ปัญหาครั้งนี้จึงน่าจะทอดยาวออกไป และส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อปัญหาการเมือง-ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้การเมืองโลกต้องให้ความสนใจกับปัญหาชาวปาเลสไตน์ในกาซามากขึ้น โดยเฉพาะความสูญเสียของประชาชนที่ต้องอยู่ในพื้นที่เป้าหมายการโจมตีของอิสราเอล (ดูตัวเลขความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ท้ายบทความ) และทำให้ประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต หรืออย่างน้อยความรุนแรงครั้งนี้ทำให้โลกต้องหันมาพิจารณาถึงชีวิตความเป็นอยู่และสภาพทางสังคมของชาวปาเลสไตน์ในกาซามากขึ้นด้วย
ปัญหาความรุนแรง และ/หรือสงครามในตะวันออกกลาง จะทำให้เกิดการทับซ้อนของความรุนแรง 2 ชุด คือ ปัญหาสงครามยูเครนที่ยังไม่จบ และปัญหาสงครามกับฮามาสในกาซาที่อาจยกระดับได้ ปัญหาทั้ง 2 ส่วนนี้จะส่งผลกับการเมืองโลกในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่ว่าความรุนแรงจะขยับตัวเป็นสงครามหรือไม่ก็ตาม ผลที่ตามมาเช่นที่เกิดขึ้นทุกครั้งในตะวันออกกลางก็คือ ปัญหาราคาพลังงาน ซึ่งอาจขยายตัวเป็น ‘วิกฤตพลังงาน’ และทำให้ราคาน้ำมันขยับตัวขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อสถานการณ์พลังงานของโลก และทำให้วิกฤตพลังงานที่เป็นผลจากสงครามยูเครนมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย
ความรุนแรงที่คาดเดาไม่ได้เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ดังจะเห็นถึงความผันผวนของราคาทองคำและตลาดหุ้น รวมถึงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และถ้าความขัดแย้งยกระดับรุนแรงขึ้นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกแกว่งตัวมากขึ้นด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องจับตามองบทบาทของอิหร่าน โดยเฉพาะการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการต่อต้านตะวันตกและอิสราเอล และถ้าความขัดแย้งอาจจะขยายตัวมากขึ้นแล้ว อิหร่านอาจต้องเข้าร่วมอย่างเปิดเผยหรือไม่ หรือจะรักษาบทบาทของการเป็นเพียง ‘ผู้สนับสนุนรายสำคัญ’ ที่อยู่เบื้องหลังฮามาส
การต่อสู้ของฮามาสจะทำให้อิสราเอลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กาซา และอาจนำไปสู่ ‘การก่อการร้ายระลอกใหม่’ ในอนาคต ดังเช่นที่เห็นจากการปฏิบัติการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวยิวในครั้งนี้ อาจถูกนำมาใช้เป็นแบบแผนสำหรับการก่อเหตุความรุนแรงกับรัฐอื่นๆ ในอนาคตได้
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสและชาวปาเลสไตน์มีโอกาสขยายตัวได้จากปฏิบัติการทางทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และอาจนำพาชาติอาหรับอื่นๆ เข้าสู่การต่อสู้ ซึ่งหากปัญหาขยายตัวมากขึ้นแล้ว จะเป็นปัจจัยที่พารัฐมหาอำนาจอื่นๆ เข้าสู่การต่อสู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย จีน และสหภาพยุโรป กล่าวคือ ภูมิภาคตะวันออกกลางจะยังคงเป็นพื้นที่สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ความหวังที่จะขยายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลเป็นไปได้ยากขึ้น จนอาจเป็นการหยุดยั้ง ‘การเจรจาอับราฮัม’ (The Abraham Accords) ที่เริ่มในปี 2020 และปีนี้มีความหวังว่าซาอุดีอาระเบียจะเข้าร่วมด้วยนั้น อาจต้องยุติลง อันจะทำให้แนวคิดเรื่อง ‘การอยู่ร่วมกัน’ ระหว่างรัฐอิสราเอลและรัฐอาหรับ หรือที่เรียกกันว่า ‘Two-State Solution’ นั้นเป็นไปได้ยาก
ปัญหาและความท้าทายเฉพาะหน้า
ปัญหาที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ทัศนะของคู่ขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์มีปัญหามากขึ้น และจะทำให้การประสานรอยร้าวในอนาคตเป็นไปได้ยากมากขึ้น อันเป็นผลจากการสูญเสียขนาดใหญ่ของทั้งสองฝ่าย อันจะทำให้ความบาดหมางของประชาชนสองฝ่ายมีมากขึ้น
ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญคือ นอกจากการตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงต่อเป้าหมายในกาซาแล้ว การรุกภาคพื้นดินของอิสราเอลที่เกิดตามมาจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวปาเลสไตน์อย่างมาก อันอาจเป็นปัจจัยที่จะทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากขึ้นในอนาคตหรือไม่ และปัญหาที่ท้าทายอีกประการคือ รัฐบาลอิสราเอลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาตัวประกันชาวยิวและบุคคลสัญชาติอื่นๆ ที่ถูกฮามาสจับกุมในครั้งนี้
ความหวังของฮามาสที่จะได้รับความสนับสนุนในวงกว้างจากโลกอาหรับอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะการสังหารประชาชนชาวยิว และการสังหารซึ่งมีลักษณะของการสังหารแบบไม่จำแนกและโหดร้าย ทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองของฮามาสอย่างมาก หรือกลายเป็นการตอกย้ำดังมุมมองของประเทศฝ่ายตะวันตกว่า ฮามาสเป็น ‘องค์กรก่อการร้าย’ (ดูรายชื่อประเทศที่ถือว่าฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้ายในส่วนท้ายบทความ)
แต่การโจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อเป้าหมายในกาซา และการเตรียมเปิดการรุกภาคพื้นดิน ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ต่อการใช้ความรุนแรงของอิสราเอลในการตอบโต้กับการโจมตีของฮามาสอย่างมากด้วย และขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนในกาซามากขึ้นด้วยเช่นกัน
ความท้าทายที่สำคัญสำหรับอิสราเอลในอนาคตคือ อิสราเอลจะตัดสินใจทำอย่างไรกับพื้นที่ฉนวนกาซา เพราะอิสราเอลเคยเข้าไปและถอนตัวออกแล้วในปี 2005 ถ้าเช่นนั้นในครั้งนี้ วัตถุประสงค์สุดท้ายในทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอลต่อดินแดนกาซาคืออะไร และอิสราเอลจะกำหนดท่าทีอย่างไรต่อปัญหาชาวปาเลสไตน์ในกาซาในอนาคต
อนาคตที่รางเลือน!
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินในเบื้องต้น และเป็นการประเมินในวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของสงคราม และทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่าเรายังต้องติดตามสถานการณ์ชุดนี้ต่อไปในอนาคต เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ ‘วิกฤตการณ์ใหญ่’ ในเวทีโลก ซ้อนเข้ากับ ‘วิกฤตสงครามยูเครน’ ได้ไม่ยากนัก จนเป็นดัง ‘อนาคตที่รางเลือน’ ของการเมืองโลกในภาวะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง
สุดท้ายนี้ ทุกฝ่ายมีความหวังไม่แตกต่างกันที่อยากเห็น ‘การลดระดับสงคราม’ (De-Escalation) ที่อย่างน้อยจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลดความรุนแรงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นลงได้บ้าง แต่แน่นอนว่าความคาดหวังเช่นนี้ไม่ง่ายเลย คำเตือนของ ไฟซอล อับบาส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘Arab News’ ทำให้เราต้องตระหนักถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ในครั้งนี้… อับบาสกล่าวเตือนให้เราตระหนักว่า “เรากำลังเผชิญกับรัฐบาลที่ขวาที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล และฮามาสก็ทำตัวไม่มีเหตุผลอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา” ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ความหวังที่จะนำไปสู่การยุติการใช้ความรุนแรง (การหยุดยิง) มีความยุ่งยากในตัวเอง
แน่นอนว่าปัจจัย 2 ประการที่อับบาสกล่าวเตือนเช่นนี้ ทำให้สถานการณ์ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ เป็นความน่ากังวลสำหรับเวทีโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!
ท่าทีของประเทศไทย
การกำหนดท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปัญหาความรุนแรงและสงครามอิสราเอล-ฮามาสนั้น มีความละเอียดอ่อนในตัวเอง เนื่องจากด้านหนึ่งมีแรงงานไทยเป็นจำนวนมากอยู่ในอิสราเอล และไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดารัฐอาหรับ ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น และมีแรงงานชาวไทยทั้งเสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และสูญหาย รัฐบาลไทยจึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้ และควรมีท่าที ดังนี้
ประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบอย่างน่าสลดใจเกิดขึ้นกับแรงงานชาวไทย (ซึ่งรัฐบาลได้แสดงออกไปแล้ว)
รัฐบาลไทยสนับสนุนการแสวงหามาตรการทางการเมือง-การทูตในการแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ ตลอดรวมถึงสนับสนุนมาตรการลดระดับการใช้ความรุนแรงในตัวเอง (Self-Restraint) ของคู่ขัดแย้ง
รัฐบาลไทยควรสนับสนุนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ในกาซา ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลจากภัยสงคราม
รัฐบาลไทยต้องเร่งให้ความช่วยเหลือแก่คนงานไทยในอิสราเอล (รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วดังที่ปรากฏเป็นข่าว) และอาจต้องช่วยประสานการได้รับสิทธิประโยชน์จากนายจ้างที่ให้แก่บรรดาครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิต
รัฐบาลควรต้องรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ให้แก่สังคม และรายงานการดำเนินการของรัฐบาลให้รัฐสภาได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลท้ายบท
ตัวเลขความสูญเสียจากวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม – วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2023:
เจ้าหน้าที่อิสราเอลรายงานว่า ประชาชนชาวยิวเสียชีวิตจากการโจมตีของฮามาสประมาณ 1,200 คน และบาดเจ็บประมาณ 2,700 คน และมีผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน อีกทั้งสูญหายจำนวนหนึ่ง (ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และบุคคลที่ถูกจับเป็นตัวประกันส่วนหนึ่งเป็นแรงงานชาวไทย)
มีรายงานว่า ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในกาซาเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คน และบาดเจ็บมากกว่า 5,600 คน
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติในกาซา (UN OCHA) แถลงว่า มีชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นประมาณ 338,000 คน
บ้านและที่อยู่อาศัยในกาซาอย่างน้อยจำนวน 2,540 หลังถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศ
ประเทศที่ขึ้นทะเบียนฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหภาพยุโรป, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, ปารากวัย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
No Result
View All Result