จากสงครามสู่สันติภาพ : มองประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของโคลอมเบีย
โดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์
Burapanews โคลอมเบีย เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเป็นลำดับ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิลและเม็กซิโก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค ถัดจากบราซิล, เม็กซิโก และอาร์เจนตินา โคลอมเบียเคยตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาตลอดนับตั้งแต่ ซิมอน โบลิบาร์ (Simón Bolívar) หรือที่รู้จักกันในนาม El Libertador ทำสงครามประกาศเอกราชจากการปกครองของสเปนใน ค.ศ. 1810
โคลอมเบียเกิดสงครามกลางเมืองอยู่เป็นระยะๆ ระหว่างผู้สนับสนุนสองพรรคการเมืองสำคัญ คือพรรคอนุรักษนิยม (The Conservative Party) และพรรคเสรีนิยม (The Liberal Party) โดยสงครามกลางเมืองครั้งที่รุนแรงอันนำไปสู่การสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมากได้แก่สงครามหนึ่งพันวัน (The War of Thousand Days) ในช่วง ค.ศ. 1899-1902 ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเสรีนิยมล้มตายไปนับแสนคน
สงครามหนึ่งพันวันยังส่งผลกระทบทางอ้อมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของโคลอมเบีย จนนำไปสู่การแยกตัวของปานามาออกจากโคลอมเบียในปี 1903 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะขุดคลองปานามาเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งขณะนั้นดินแดนที่เป็นปานามาในปัจจุบันเป็นของโคลอมเบีย รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของโคลอมเบียในขณะนั้นกำลังบอบช้ำจากสงครามหนึ่งพันวัน ได้ปฏิเสธข้อเสนอขอสัมปทานในการขุดคลองของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาหนุนหลังผู้นำท้องถิ่นในปานามาให้แยกตัวออกมาจากโคลอมเบีย
เหตุการณ์การนองเลือดครั้งสำคัญที่ยังเป็นที่จดจำของชาวโคลอมเบียในปัจจุบัน คือเหตุการณ์โบโกตาโซ (The Bogotazo) ซึ่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลังจาก คอร์เก ไกทัง (Jorge Gaitán) อดีตผู้ว่ากรุงโบโกตาและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรคเสรีนิยมที่ได้รับการคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้ง ถูกลอบสังหารในวันที่ 9 เมษายน 1948 ทันทีที่ผู้สนับสนุนเขาทราบข่าว ก็ออกไปทำลายข้าวของตามท้องถนน เผาหน่วยงานของรัฐบาล เกิดเป็นการจลาจลที่นองเลือดใจกลางกรุงโบโกตา เหตุการณ์ความรุนแรงขยายตัวออกไปทั่วประเทศ นำไปสู่ช่วง 10 ปีของความรุนแรงที่เรียกกันว่า ลาวิโอเลนเซีย (La Violencia) ระหว่างปี 1948-1958 ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 300,000 คนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ขณะที่ผู้ต้องหนีภัยความรุนแรงทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนก็มีนับล้านคน
หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนพรรคเสรีนิยมที่ถูกปราบปรามในช่วงลาวิโอเลนเซีย ได้ละทิ้งแนวการต่อสู้แบบประชาธิปไตยเปลี่ยนไปยึดวิถีทางแบบคอมมิวนิสต์ แล้วลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลก็คือ มานูเอล มารูลันดา (Manuel Marulanda) เขาก่อตั้งกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (The Revolutionary Armed Forces of Colombia: FARC) เพื่อโค่นล้มรัฐบาล โดยยึดแนวทางมาร์กซิสต์-เลนิน ในปี 1964 จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อนับตั้งแต่นั้นมา
แต่กระนั้นความวุ่นวายทางการเมืองก็หาได้หยุดที่การสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังกบฏฝ่ายซ้ายไม่ เพราะต่อมาได้เกิดตัวละครตัวใหม่มาเข้าร่วมในความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองสามฝ่ายด้วยกัน อันที่จริงแล้วตัวละครตัวใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเนื้อแท้ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลโคลอมเบียมีส่วนในการก่อกำเนิดขึ้นมา เนื่องจากการที่รัฐบาลไม่สามารถจะให้ความดูแล ปกป้องพวกพ่อค้านักธุรกิจและเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกกองกำลังฝ่ายซ้ายเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ไม่ก็ถูกลักพาตัวเพื่อไปเรียกค่าไถ่ ตามแนวความคิดเรื่องภาษีการปฏิวัติ (Revolutionary Taxes) ของพวกฝ่ายซ้ายที่มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในการที่จะกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยจากคนรวยไปสู่คนจน (คล้ายกับโรบินฮูด ในตำนานของอังกฤษ)
ในเมื่อรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จัดสร้างกองทหารส่วนตัวขึ้นมาเพื่อดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัวจากการตกเป็นเหยื่อของพวกกองกำลังฝ่ายซ้าย รัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนเนื่องจากต่างก็มีศัตรูร่วมกัน โดยคอยป้อนข้อมูลข่าวสารทางการทหาร รวมทั้งอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดหาอาวุธ กลุ่มคนกลุ่มนี้จึงพัฒนาขึ้นกลายเป็นกองกำลังกึ่งทหาร (The Paramilitary Groups)
กองกำลังกึ่งทหารกลุ่มนี้ค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 อันเนื่องมาจากพวกนี้ได้หันไปเป็นผู้ค้ายาเสพติดเสียเอง โดยที่รัฐบาลโคลอมเบียไม่สามารถควบคุมหรือปราบปรามได้ นอกจากนี้กองกำลังกึ่งทหารยังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยการสังหารและทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยว่าเห็นอกเห็นใจหรือเข้าข้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งผู้ที่ขัดขืนไม่ยอมยกที่ดินให้กับกองกำลังกึ่งทหารใช้ในการปลูกต้นโคคาซึ่งเป็นพืชที่ใช้ในการผลิตโคเคน ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพหนีภัยสงครามเป็นจำนวนมาก และทำให้โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นภายในประเทศอันเนื่องมาจากปัญหาสงครามกลางเมือง (Forced Internal Displacement) สูงสุดเป็นลำดับสองของโลกรองจากซูดาน
ต่อมาในเดือนเมษายน 1997 กองกำลังกึ่งทหารนี้ได้ร่วมมือกันจัดตั้งเป็นศูนย์กลางกองกำลังป้องกันตนเองแห่งโคลอมเบีย (The United Self-Defense Forces of Colombia: AUC) ภายใต้การนำของคาร์ลอส คาสตานโย (Carlos Castaño)
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อนทำให้โคลอมเบียถูกมองว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) โดยในสมัยของอดีตประธานาธิบดีแอนเดรส พาสตรานา (Andrés Pastrana) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1998-2002 พื้นที่ขนาดเท่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ถูกยกให้กับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียในระหว่างการเจรจาหยุดยิง ขณะที่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยาเสพติดโดยศูนย์กลางกองกำลังป้องกันตนเองแห่งโคลอมเบียก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่วนประชาชนก็เบื่อหน่ายกับนโยบายของพาสตรานาที่เน้นแต่การเจรจา แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือความเข้มแข็งของกลุ่มนอกกฎหมายทั้งสองกลุ่ม
เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2002 ประชาชนจึงเทคะแนนเสียงเลือก อัลบาโร อูริเบ (Álvaro Uribe) ผู้สมัครที่ชูนโยบายเน้นรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนควบคู่ไปกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Democratic Security) เขามีความมุ่งมั่นและใช้นโยบายอย่างแข็งกร้าวในการปราบปรามกลุ่มนอกกฎหมายโดยเฉพาะกับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย ทั้งยังพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาลสามารถที่จะคุ้มครองและดูแลความสงบสุขให้กับประชาชนได้
นโยบายของอูริเบประสบความสำเร็จเป็นอันมากในการฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับสังคมโคลอมเบียอย่างที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนในอดีตทำได้มาก่อน ขณะเดียวกันความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาก็มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 เงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แพลนโคลอมเบีย (Plan Colombia) ที่เดิมมีเป้าหมายใช้ในการปราบปรามปัญหายาเสพติดเท่านั้น ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงปัญหาการก่อการร้ายด้วย กองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียได้ถูกปราบปรามอย่างหนัก ขณะที่ศูนย์กลางกองกำลังป้องกันตนเองแห่งโคลอมเบียก็ยอมวางอาวุธเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกาในข้อหาค้ายาเสพติดข้ามชาติ
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ประชาชนลงประชามติจนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอนุญาตให้อูริเบสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองติดต่อกันได้ในปี 2006 ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และคงคะแนนนิยมในระดับที่สูงตลอดช่วงเวลาสี่ปีของการดำรงตำแหน่งวาระที่สองของเขา จนได้รับการคาดหมายว่าจะมีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่สามในปี 2010 แต่แล้วความฝันของเขาและผู้สนับสนุนก็พังทลายเมื่อศาลรัฐธรรมนูญลงมติไม่อนุญาตให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นครั้งที่สามติดต่อกัน เปิดโอกาสให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฮวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ซึ่งถือเป็นมือขวาของอูริเบ ลงสมัครและได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ถึงแม้อดีตประธานาธิบดีซานโตสจะดำเนินนโยบายที่เน้นสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนตามแนวทาง Democratic Security ของอดีตประธานาธิบดีอูริเบ แต่ทางด้านการต่างประเทศ เขาได้สร้างความประหลาดใจให้ผู้ที่ติดตามการเมืองของโคลอมเบียเป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงที่ซานโตสยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของอูริเบนั้น เขามีนโยบายที่แข็งกร้าวในการปราบปรามกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) รวมทั้งกับเอกวาดอร์ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี ราฟาเอล คอร์เรีย (Rafael Correa) เนื่องจากกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียได้หนีเข้าไปอยู่ตามชายแดนของประเทศทั้งสองที่ติดกับโคลอมเบีย ขณะที่กองทัพโคลอมเบียก็ติดตามเข้าไปทำลายฐานที่มั่น อันนำไปสู่การละเมิดอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน จนเกือบจะนำไปสู่สงครามหลายครั้ง แต่เมื่อซานโตสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศทั้งสองจนเข้าสู่ระดับปกติ ซานโตสได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและคำชื่นชมจากชาเวซ ในระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนเวเนซุเอลาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2010 นอกจากนั้นผู้นำทั้งสองประเทศยังร่วมลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าหลายฉบับในช่วงเวลาดังกล่าว
ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรนี้ส่งผลดีต่อโคลอมเบียในการที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดการกับปัญหากองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย และส่งเสริมการค้าตามพรมแดนโดยเฉพาะระหว่างโคลอมเบียและเวเนซุเอลา เนื่องจากเวเนซุเอลานำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากโคลอมเบียเป็นอันมาก ขณะที่โคลอมเบียก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากเวเนซุเอลาเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นอดีตประธานาธิบดีซานโตสได้เริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการกับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียเพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการยุติสงครามกลางเมืองในโคลอมเบีย ในเดือนสิงหาคม 2012 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา โดยมีคิวบาและนอร์เวย์เป็นผู้ประสานงานในการเจรจาดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายอื่นๆ อาทิ กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ (The National Liberation Army: ELN) ยื่นข้อเสนอขอเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาข้อตกลงสันติภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากว่า 50 ปี หลังจากกองกำลังกบฏฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆ ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลนับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา
ความนิยมในตัวซานโตสทำให้ประชาชนลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มบทเฉพาะกาลให้ซานโตสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้เป็นสมัยที่สอง ซึ่งเขาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ยากเย็นนัก ต่อมาซานโตสได้เจรจาสันติภาพกับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียสำเร็จ จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2016 ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมือง 52 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานที่สุดในลาตินอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ อีวาน ดูเก มาร์เกรซ (Iván Duque Márquez) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2018-2022 ได้มีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสันติภาพที่ซานโตสทำไว้ก่อนหน้านั้นซักเท่าไหร่นัก และยังมีการใช้กองทัพในการปราบปรามกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายที่เหลืออยู่อย่างรุนแรง ทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ดังนั้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2022 ประชาชนจึงเทคะแนนเสียงให้กับกุสตาโว เปโตร ซึ่งมีนโยบายเอียงไปทางสังคมนิยม
ส่วนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น โคลอมเบียยังคงรักษาความสัมพันธ์แนบแน่นต่อสหรัฐอเมริกา โดยในสมัยอดีตประธานาธิบดีซานโตส โคลอมเบียถือได้ว่าเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคลาตินอเมริกา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีรัฐบาลที่โน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยม ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Pink Tide (Turn to Left หรือเปลี่ยนเป็นซ้าย)
ความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารภายใต้แพลนโคลอมเบีย ยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อการจัดการปัญหาภายในของโคลอมเบีย แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ยกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะกับแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างและตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเป็นเงื่อนไขต่อรองให้รัฐบาลของซานโตสจัดการก่อนที่รัฐสภาอเมริกันจะอนุมัติในการต่อสัญญาความช่วยเหลือ เฉกเช่นเดียวกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) ระหว่างสองประเทศซึ่งได้มีการลงนามและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2012 หลังจากใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี ก่อนที่รัฐสภาอเมริกันจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
ในเดือนเมษายน 2019 ไมเคิล เกกัน (Michael Geoghegan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้จำกัด (The Hong Kong and Shanghai Banking Corporation: HSBC) ได้กล่าวในที่ประชุมสภาหอการค้าของฮ่องกงให้โคลอมเบียเป็นหนึ่งในหกประเทศที่มีแนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยโคลอมเบียถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ได้รับการคาดหมายดังกล่าว ส่วนอีกห้าประเทศคืออินโดนีเซีย เวียดนาม อียิปต์ ตุรกีและแอฟริกาใต้ (Colombia, Indonesia, Vietnam, Egypt, Turkey and South Africa: CIVETS)
ขณะเดียวกัน คาร์ลอส สลิม (Carlos Slim) เจ้าพ่อนักธุรกิจแห่งวงการโทรคมนาคมของเม็กซิโก ผู้ซึ่งได้รับการจัดลำดับจากนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes Magazine) ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกระหว่างปี 2010-2013 ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่า เขามีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในกิจการขุดเจาะน้ำมันในโคลอมเบีย
จีนก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้ามากระชับความสัมพันธ์กับโคลอมเบีย โดยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้นั้นเน้นไปทางด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ ปัจจุบัน จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของโคลอมเบียเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1980 เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 นอกจากนี้ จีนยังตกลงร่วมมือกับโคลอมเบียศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของโคลอมเบียเป็นระยะทาง 220 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดอันเนื่องมาจากจำนวนเรือสินค้าที่ใช้เส้นทางคลองปานามาเป็นทางผ่านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากจีนแล้ว โคลอมเบียยังทำข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้และได้เชิญชวนให้นักลงทุนชาวอินเดียเข้ามาลงทุนในกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือไปจากเป้าหมายของการผลักดันให้โคลอมเบียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC)
จากพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจข้างต้น เห็นได้ว่าโคลอมเบียได้พัฒนาจากประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศของยาเสพติดโลก เป็นประเทศของอาชญากรรมโลก หรือเป็นรัฐที่ล้มเหลว จนก้าวขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญในสังคมเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน นอกจากนี้โคลอมเบียเป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองของนักลงทุนทั่วโลกในเชิงศักยภาพทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายและหลากหลาย รวมถึงประชากรที่มีคุณภาพ
อ้างอิง
จากสงครามสู่สันติภาพ: มองประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของโคลอมเบีย (the101.world)