แกนตซ์ ชี้ ตอนนี้มีสัญญาณความเป็นไปได้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกันกับกลุ่มฮามาส และรัฐบาลอิสราเอลจะพยายามทำทุกทางเพื่อให้ตัวประกันทั้งหมดได้กลับบ้าน
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ท่ามกลางสัญญาณการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเกือบทั่วฉนวนกาซาและสัญญาณการบุกเมืองราฟาห์ของอิสราเอล ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าจะทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ล่าสุดมีสัญญาณที่ดีออกมาว่า ทางอิสราเอลอาจจะยอมเปิดการเจรจากับกลุ่มฮามาสเพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกันและยุติสงครามในอนาคต
สัญญาณดังกล่าวมาจากฝั่งอิสราเอลเอง โดยคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คือ
เบนนี แกนตซ์ หนึ่งในสมาชิกคณะรัฐมนตรีด้านการสงครามของอิสราเอล เขาได้ออกมาแถลงว่า ตอนนี้มีสัญญาณความเป็นไปได้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกันกับกลุ่มฮามาส และรัฐบาลอิสราเอลจะพยายามทำทุกทางเพื่อให้ตัวประกันทั้งหมดได้กลับบ้าน
อย่างไรก็ดี เบนนี แกนตซ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวประกันไม่บรรลุผล อิสราเอลจะทำปฏิบัติการทางการทหารต่อ แม้ว่าจะเข้าสู่เดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมปาเลสไตน์ก็ตาม
ท่ามการออกมาประกาศสัญญาณดีของการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจนำไปสู่การยุติสงครามในฉนวนกาซาที่ดำเนินมายาวนานเกือบสี่เดือนครึ่ง ตอนนี้สถานการณ์ในฉนวนกาซายังน่ากังวล เนื่องจากอิสราเอลยังคงทำปฏิบัติการทางการทหารอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้ การโจมตีเริ่มไปถึงเมืองราฟาห์ เมืองสุดท้ายในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นที่หลบภัยของชาวปาเลสไตน์กว่าล้านชีวิต
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา หน่วยด้านสาธารณสุขของฉนวนกาซาที่บริหารโดยกลุ่มฮามาส รายงานว่าอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศใส่พื้นที่ทางตอนกลางของเมืองราฟาห์ถึงสองครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ประชาชนที่อยู่ในเมืองราฟาห์บอกกับผู้สื่อข่าวด้วยความสิ้นหวังว่า ตอนนี้ไม่มีที่ใดในราฟาห์ปลอดภัยอีกต่อไป ทุกคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นจากสงครามครั้งนี้
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก ก็ยังคงเร่งทำงานแข่งกับเวลาเป็นวันที่ 3 แล้ว เพื่อพาผู้ป่วยวิกฤตอพยพออกจากโรงพยาบาลนัสเซอร์ในเมืองข่าน ยูนิส และสถานพยาบาลในเมืองราฟาห์ ไปยังโรงพยาบาลสนามของทีมแพทย์นานาชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองราฟาห์ที่ยังไม่ถูกโจมตี
นอกจากอันตรายจากการโจมตีของอิสราเอลแล้ว อีกความเสี่ยงหนึ่งที่ชาวกาซาในเมืองราฟาห์ต้องเผชิญ คือ การขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค ตอนนี้ประชาชนที่นั่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องต่อคิวยาวท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา เพื่อรอเติมน้ำสะอาดซึ่งกลายเป็นสิ่งพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่หายาก หลังเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
เมื่อ 4 เดือนก่อน ชาวกาซาบางคนบอกกับผู้สื่อข่าวว่า อิสราเอลกำลังทำสงครามด้วยการใช้ความอดอยาก โดยชาวกาซาไม่มีแม้กระทั่งน้ำหรืออาหารเพื่อประทังชีพเหมือนที่มนุษย์คนอื่นๆ ในโลกนี้มี การโจมตีพื้นที่เมืองราฟาห์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวกาซาขาดแคลนน้ำและอาหาร เพราะขบวนรถขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากหน่วยงานสากลต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ท่ามกลางการปิดพรมแดนของอียิปต์และการโจมตีของอิสราเอล
ภาพขบวนรถขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จอดเรียงราย เพื่อรอข้ามจุดผ่านแดนราฟาห์ไปยังฉนวนกาซา องค์การสหประชาชาติระบุว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ขบวนขนส่งความช่วยเหลือที่เข้าไปยังฉนวนกาซาลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากการปิดพรมแดนระหว่างเมืองราฟาห์และแหลมไซนายของอียิปต์ตอนนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดของบริษัทแมกซาร์ เทคโนโลยี เผยให้เห็นว่า อียิปต์กำลังก่อสร้างโครงสร้างบางอย่างบริเวณพื้นที่ชายแดนของแหลมไซนายและฉนวนกาซา
เจ้าหน้าที่ทางการของอียิปต์ที่ไม่เปิดเผยตัวตนรายหนึ่ง เคยระบุกับสำนักข่าวเดอะการ์เดียนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การก่อสร้างกลางทะเลทรายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรองรับผู้ลี้ภัยที่อาจหนีจากเมืองราฟาห์เข้ามา หากอิสราเอลตัดสินทำปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มฮามาสในเมืองราฟาห์ตามที่เคยประกาศไว้
อย่างไรก็ดี การบุกเมืองราฟาห์ที่อาจนำไปสู่นัคบาร์ครั้งที่สอง หรือการอพยพของชาวปาเลสไตน์ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะนอกจากการอพยพจะเป็นการสร้างภาระให้อียิปต์แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง การอพยพของชาวกาซาออกนอกพื้นที่จะเป็นสัญญาณว่า การสถาปนารัฐปาเลสไตน์อาจไม่มีวันเกิดขึ้น และปัญหาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จะยังคงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อคืนที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้จัดการไต่สวนเพื่อรับฟังคดีการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองรัฐคงค้างมานานหลายทศวรรษ
เมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นวันที่ 3 ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ ไดจัดการพิจารณาคดีเกี่ยวกับผลทางกฎหมายจากนโยบาย และแนวปฏิบัติของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เช่น เขตเวสต์แบงก์ นครเยรูซาเลม และฉนวนกาซา การพิจารณาคดีครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อมติในปี 2022 จากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ขอให้ ICJ พิจารณาถึงผลทางกฎหมายของสิ่งที่เรียกว่า “การละเมิดของอิสราเอลอย่างต่อเนื่องต่อสิทธิในการกำหนดชะตาตนเองของชาวปาเลสไตน์”
ตามกำหนดการ ICJ ระบุว่า การไต่สวนรอบนี้จะใช้เวลานานถึง 7 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ สาเหตุที่การไต่สวนรอบนี้ยาวนาน เป็นเพราะชาติต่างๆ กว่า 50 ชาติ จะขึ้นเสนอข้อโต้แย้งด้วยวาจาต่อศาลเกี่ยวกับคดีนี้
ทั้งนี้ ทางการอิสราเอลประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลในการพิจารณาคดีครั้งนี้ และจะไม่เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวด้วยนี่หมายความว่า อิสราเอลมีสิทธิที่จะเพิกเฉยและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของ ICJ
ด้านสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ระบุในแถลงการณ์ว่า การพิจารณาคดีในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการว่าด้วยการป้องกันตนเองของอิสราเอลจากภัยคุกคามที่อยู่ตรงหน้า
สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานว่า บรรยากาศการพิจารณคดีวันแรกเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้แทนของปาเลสไตน์ระบุต่อ ICJ ว่า “รัฐบาลอิสราเอลได้ให้ทางเลือกเพียง 3 ทางแก่ปาเลสไตน์ คือ การพลัดถิ่น การปราบปราม หรือความตาย”
ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา ริชาร์ด วิเซก รักษาการที่ปรึกษาด้านกฎหมายประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ขึ้นให้การต่อศาล โดยระบุว่า ศาลควรพิจารณาว่า การถอนตัวของอิสราเอลออกจากเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการด้านความมั่นคงที่แท้จริงของอิสราเอลด้วย
ตามกำหนดการที่ ICJ เผยแพร่ออกมา ชาติต่างๆ ที่จะร่วมให้การต่อศาลจะประกอบไปด้วย ชาติในกลุ่มแอฟริกา ชาติอาหรับ นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รวมถึงญี่ปุ่น
ผลที่จะตามมาและนัยสำคัญของการพิจารณาคดีนี้คืออะไร สำหรับผลของการพิจารณาคดีนี้ คณะตุลาการของ ICJ จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ออกมา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน หรือประมาณเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ความเห็นของ ICJ จะเป็นแนวทางหรือข้อแนะนำต่อองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNGA เพื่อนำไปออกนโยบายหรือข้อมติอื่นๆ หลังจากนี้
ส่วนนัยที่จะเกิดขึ้น นักวิเคราะห์ระบุตรงกันว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามในฉนวนกาซาโดยตรง แต่ก็จะสร้างแรงกดดันต่ออิสราเอล โดยเฉพาะเรื่องการปรากฏตัวของชาวอิสราเอลและการทำกิจการทางการทหารในพื้นที่ต่างๆ ของปาเลสไตน์
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นไปตามข้อตกลงการแบ่งพื้นที่ตามมติของสหประชาชาติ เพื่อก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ในปี 1967 และนำไปสู่ความขัดแย้งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
No Result
View All Result