พิธา เผยจุดยืนพรรคก้าวไกลในการหาทางออกวิกฤตเมียนมา ย้ำอาเซียนต้องเป็นแกนกลางช่วยแก้ปัญหา
.
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคก้าวไกลในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่ง THE STANDARD ขอนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ดังนี้
.
สำหรับสถานการณ์ของเมียนมาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น ผมและทีมงานได้ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด และเราให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในสิ่งที่น่ากังวลคือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลและตัวผมเองขอย้ำจุดยืนในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้
.
1. การยึดมั่นต่อแนวคิด ‘ความเป็นแกนกลางของอาเซียน’ หรือ ASEAN Centrality: เราเชื่อมั่นในการดำเนินการที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองที่มีชาติสมาชิกอาเซียนเป็นผู้นำ เราขอย้ำอย่างหนักแน่นถึงการสนับสนุนการดำเนินการภายในกรอบอาเซียน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการโดยประธานอาเซียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในฉันทามติ 5 ข้อ (5PC) ในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชาติสมาชิก และยืนยันในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน
.
2. ผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา: เราพยายามที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของชาติสมาชิกอาเซียนและเพื่อนบ้านของเมียนมาต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา หรือการช่วยเหลือให้เมียนมาเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในฐานะสมาชิกที่สมบูรณ์ของอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งในประเด็นนี้ เราจะสร้างหลักประกันถึงการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการปรึกษาหารือเป็นประจำระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในประเด็นนี้ ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก
.
3. การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมเพื่อสร้างเสถียรภาพ: เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้เราไปถึงแนวทางการแก้ปัญหาในขั้นตอนสุดท้าย กลยุทธ์การมีส่วนร่วมใดๆ นั้นจะต้องดำเนินการอย่างครอบคลุมในหลายมิติและมีความเหมาะสม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเมียนมาตามวัตถุประสงค์และหลักการที่ตกลงร่วมกันภายใต้กรอบของอาเซียน ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ผู้นำอาเซียนรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องขององค์การสหประชาชาติ (UN) และเลขาธิการสหประชาชาติ ในการแสวงหาทางออกของสถานการณ์ในเมียนมาด้วยแนวทางทางการทูต รวมถึงการที่เลขาธิการ UN ช่วยเป็นสื่อกลางในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
.
4. การมุ่งเน้นด้านความมั่นคงของมนุษย์: กลยุทธ์ของเราสำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น จะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความมั่นคงของมนุษย์ โดยเน้นหนักทั้งในด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทย การดำเนินการนี้อาจเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคมมนุษยธรรม-เศรษฐกิจ (Humanitarian-Economic Nexus) ซึ่งจะเป็นเวทีที่ไม่เพียงแต่ช่วยจัดการกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมโดยทันที แต่ยังช่วยสร้างโอกาสสำหรับทุนมนุษย์ใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย ส่วนในระดับภูมิภาคเราวางแผนที่จะสนับสนุนโครงการริเริ่ม เพื่อสร้างหลักประกันว่าการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมีความครอบคลุมต่อทุกคน
.
5. ความท้าทายหลากหลายมิติ: ประเทศไทยตระหนักดีว่า สถานการณ์อันยากลำบากของเมียนมามีความท้าทายหลากหลายมิติที่ทับซ้อนกันอยู่ รวมถึงปัญหาผู้อพยพไหลทะลัก, ความมั่นคงด้านพลังงาน, ปัญหาด้านโทรคมนาคมและการหลอกลวงทางออนไลน์, การค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมาย, ปัญหาควันพิษข้ามพรมแดน, ภัยด้านสุขภาพ, การค้ามนุษย์ และการลักลอบขนยาเสพติด ทั้งนี้ ในส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของเรา พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลวางแผนที่จะจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงานของเมียนมา (Myanmar Inter-Agency Task Force) ซึ่งอยู่ใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี กองกำลังเฉพาะกิจนี้จะประสานความพยายามในหลากหลายด้าน และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้สำหรับความท้าทายต่างๆ ของเมียนมา
.
อ้างอิง:
www.facebook.com/timpitaofficial/posts/pfbid0ppZZvLERyzq18yQTmTcE8XgsrzBcpT7nmYFYGd4L4Dft2jvU4DoB3xSNQwu6Xr4Gl