แอฟริกาใต้ แจงแผนสันติภาพเพื่อยุติปัญหาขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
ประธานาธิบดีไซรีล รามาโพซาของแอฟริกาใต้ ได้อธิบายแผนสันติภาพเพื่อยุติปัญหาขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ให้ได้รับทราบ ขณะที่ แคนาดาและอังกฤษ ประกาศส่งความช่วยเหลือยูเครนรอบใหม่
ผู้นำแอฟริกาใต้ที่เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนผลักดันสันติภาพระหว่างเคียฟกับมอสโก บอกกับปูติน ว่า จำเป็นต้องยุติสงคราม พร้อมเสนอหลักการ 10 ข้อที่เครมลินมองว่า ยากมากที่จะดำเนินการ แถมก่อนหน้านั้นเซเลนสกีก็ประกาศชัดจะไม่เจรจากับรัสเซีย
ซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ กล่าวเมื่อวันเสาร์ (17 มิ.ย.) ภายหลังหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กว่า จำเป็นต้องยุติสงครามด้วยการเจรจาและการทูต ทั้งนี้ ในทางพฤตินัยรัสเซียแบนคำว่า “สงคราม” ในการกล่าวถึงปฏิบัติการทางทหารของตนในยูเครน
รามาโฟซา เสริมว่า คณะผู้แทนที่ประกอบด้วยผู้นำและเจ้าหน้าที่อาวุโสของ 7 ประเทศแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล คอโมโรส แซมเบีย ยูกันดา อียิปต์ และคองโก-บราซซาวิล ต้องการให้สงครามนี้ยุติลง
ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ระบุหลักการ 10 ข้อที่รวมถึงการลดความรุนแรงของสถานการณ์ การยอมรับอธิปไตยของแต่ละประเทศ การรับประกันความมั่นคงสำหรับทุกประเทศ การส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำโดยไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งการส่งเชลยศึกและเด็กกลับประเทศ
อาร์ไอเอ โนวอสตี สำนักข่าวของทางการรัสเซีย รายงานโดยอ้างคำกล่าวของดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน ภายหลังการประชุมแบบปิดว่า แผนการริเริ่มดังกล่าวยากมากที่จะดำเนินการ แต่ปูตินแสดงความสนใจที่จะนำไปพิจารณา
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เสริมว่า แผนการที่รามาโฟซากล่าวถึงไม่ได้นำเสนอในรูปเอกสาร และปูตินยกย่องแนวทางที่สมดุลของคณะผู้แทนชุดนี้ โดยยินดีหารืออย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายที่ต้องการผลักดันสันติภาพโดยอิงกับหลักการความยุติธรรมและการเคารพผลประโยชน์อันชอบธรรมของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มอสโกเน้นย้ำมาตลอดว่า การเจรจาใดๆ จะต้องพิจารณาความจริงเกี่ยวกับดินแดนใหม่ด้วย
เมื่อวันศุกร์ (16 มิ.ย.) ภายหลังรามาโฟซาเรียกร้องให้ลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หลังการเจรจาในเคียฟ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ย้ำจุดยืนว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นต่อเมื่อยูเครนได้ดินแดนที่เสียให้รัสเซียคืน
ประเทศในแอฟริกาเองมีความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับสงครามยูเครน โดยบางประเทศเข้าข้างเคียฟ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เป็นกลางหรือโน้มเอียงไปทางมอสโก
ขณะเดียวกัน ความพยายามในการผลักดันสันติภาพดูเหมือนอันตรายมากขึ้น เนื่องจากทั้งเคียฟและมอสโกเชื่อว่าตัวเองสามารถชนะสงครามได้
ต้นเดือนนี้ยูเครนเริ่มปฏิบัติการสวนกลับครั้งใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียที่รวมถึงปูตินยืนกรานว่า ปฏิบัติการดังกล่าวล้มเหลว แม้เคียฟอ้างว่า สามารถรุกคืบ เช่น เมื่อคืนวันศุกร์ที่หน่วยทหารของตนประสบความสำเร็จเชิงยุทธวิธีในเกือบทุกพื้นที่ที่มีการสู้รบทางใต้ แต่กองทัพรัสเซียเผยว่า สามารถสกัดการโจมตีทั้งหมดของยูเครน
ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายที่เป็นไปได้ของคณะผู้แทนจากแอฟริกาคือการรักษาข้อตกลงที่เปิดทางให้ธัญพืชจากยูเครนเข้าถึงตลาดโลก โดยรามาโฟซา กล่าวก่อนหารืออย่างเป็นทางการกับปูตินว่า สงครามส่งผลลบต่อแอฟริกาและหลายประเทศทั่วโลก
ประมุขวังเครมลินยืนยันว่า วิกฤตตลาดอาหารโลกไม่ได้เป็นผลจากความขัดแย้งในยูเครน และไม่เชื่อว่าการจัดส่งธัญพืชของยูเครนสามารถแก้ปัญหาความยากจนและอดอยากได้
รัสเซียกล่าวหาตะวันตกปิดกั้นการส่งออกปุ๋ยของตน และขู่ยกเลิกข้อตกลงอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำที่จะสิ้นสุดในวันที่ 17 กรกฎาคม
ทางฝ่ายเซเลนสกีขอให้เหล่าผู้นำแอฟริกาเจรจาให้รัสเซียปล่อยตัวนักโทษการเมืองยูเครน ขณะที่เมื่อวันเสาร์ ปูตินกล่าวว่า รัสเซียพร้อมดำเนินการขั้นตอนเกี่ยวกับเชลยสงครามต่อ
ส่วนที่วอชิงตัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตือนว่า อเมริกาจะไม่ดำเนินการเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)