รวบ เจ้าหน้าที่ อบต. 7 แห่ง 7 จังหวัด ยักยอกทรัพย์ เบิกเงินหลวงเข้าบัญชีส่วนตัว บางรายพบข้อมูลโอนกว่า 200 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย 80 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่ง ที่มีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินกว่า 80 ล้านบาท
สืบเนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ท. ตรวจสอบพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินของฝ่ายการเงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ต้องสงสัยหลายรายการ
จึงได้ตรวจสอบพบว่า มีการยักยอกเงินงบประมาณของหลวงไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงรหัสการเบิกถอนเงินออกจากธนาคาร ทั้งในส่วนรหัสการเบิกถอนของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการและรหัสเบิกถอนของเจ้าหน้าที่อนุมัติเบิกจ่าย
ส่งผลให้มีการ ร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว 2 คดี ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีชำนาญการ เทศบาลตำบลลาดยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ได้ยักยอกเงิน จำนวน 215 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 15,867,275.49 บาท และ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่ได้ทำการยักยอกเงิน จำนวน 132 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 44,385,950 บาท
ต่อมา วันที่ 13 มิถุนายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกับ บก.ปปป. ป.ป.ช. และ ปปง. เปิดปฏิบัติการ Stop Cyber Corruptions ขึ้นในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ดังนี้
1. อบต.โคกหล่าม อ.อุทุมพรพสัย จ.ศรีสะเกษ นักวิชาการเงินและบัญชี มีพฤติกรรมโอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทยของ อบต.โคกหล่าม เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของตนเอง ผ่านระบบ KTB Corporate Online จำนวน 8 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 548,420 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้หนี้ส่วนตัว
2. อบต.นาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช มีการโอนเงินจากบัญชี อบต.นาเขลียง โดยใช้รหัสแม็คเกอร์ของบุคคลที่ย้ายไปแล้ว เข้าสู่บัญชีของนางสาว บ. (คาดว่าเป็นบัญชีม้า) และบัญชีม้ามีการโอนต่อไปยังบัญชีนางสาว ว. ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นภรรยาของผู้อำนวยการกองคลัง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ธันวาคม 2564 ถึงมีนาคม 2566 จำนวน 59 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 4,077,951.73 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้ส่วนตัว
3. อบต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี โอนเงินของ อบต.หนองหัวโพ เข้าบัญชีตนเองเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ถึง มิถุนายน 2566 จำนวน 84 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 4,977,412.28 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้ส่วนตัวและเล่นการพนันออนไลน์
4. อบต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี โอนเงินของ อบต.ห้วยยายจิ๋ว เข้าบัญชีตนเองเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จำนวน 60 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 5,860,494.08 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้หนี้ส่วนตัว
5. อบต.นิลเพชร อ.บางเลน จ.นครปฐม เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน ได้โอนเงินเข้าบัญชีตนเอง และโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ของตนเอง และญาติ จำนวน 23 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 8,350,000 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้ส่วนตัว
ทั้งนี้ จากปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในครั้งนี้ ภายใต้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตผ่านระบบ KTB Corporate Online พร้อมทั้งตรวจสอบ กำกับ ติดตามการดำเนินงานหรือข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัยอันอาจจะเป็นการทุจริตของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศต่อไป