ซาอุฯ เชิญฮาลาลไทย ดร.วินัย ถ่ายทอดความรู้เรื่องฮาลาลแก่นักวิชาการทั่วโลกที่มาประชุมและทำฮัจญ์
Burapanews รายงานว่า
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊ค Dr.Winai Dahlan เรื่องได้รับเชิญไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ฮาลาลช่วงฮัจญฺที่ซาอุดิอาระเบีย
พิธีฮัจญฺ (Hajj) จัดขึ้นที่นครมักกะฮฺ ซาอุดีอาระเบียในเดือนซุลฮิจญะหรือเดือนที่ 12 ตามปฏิทินอาหรับทุกปี สำหรับปีนี้ ฮ.ศ.1444 อยู่ในช่วง 26-30 มิถุนายน พ.ศ.2566 มุสลิมทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่าสองล้านคน เป็นมุสลิมไทยประมาณ 6,000-8,000 คน โดยทุกปีทางการซาอุดีอาระเบียจัดโควต้าที่เรียกว่า “ฮัจญฺกษัตริย์” ให้มุสลิมไทยกลุ่มหนึ่งเข้าร่วม ฮัจญฺกษัตริย์ที่ว่านี้ผมเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2554 ตรงกับเดือนพฤศจิกายน เป็นจังหวะที่มหาอุทกภัยมวลน้ำมหาศาลจากทางเหนือไหลบ่าลงมาคาดว่าจะท่วมพื้นที่รอบบ้านผมที่เขตสวนหลวงของกรุงเทพฯพอดิบพอดี คุณนาเดียลูกสาวคนเดียวของผมเวลานั้นเรียนอยู่ที่นิวยอร์ค หากจะปล่อยให้ภรรยาเผชิญกับปัญหาเพียงคนเดียวคงไม่เหมาะ สุดท้ายผมจึงตัดสินใจสละสิทธิ์ฮัจญฺกษัตริย์ในปีนั้น
มาปีนี้ พ.ศ.2566 พิธีฮัจญฺ ฮ.ศ.1444 มีขึ้นช่วงวันที่ 25-30 มิถุนายน ผมได้รับเชิญเข้าร่วมฮัจญฺกษัตริย์อีกครั้งพร้อมภรรยา ตอบรับเป็นที่เรียบร้อยปรากฏว่าทางกระทรวงฮัจญฺและอุมเราะฮฺของซาอุดีอาระเบียเมื่อเห็นชื่อผม เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ติดต่อมาถึงผมโดยตรงเชิญให้ผมร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในงาน The Grand Hajj Symposium 1444 AH ณ โรงแรม Ritz Carlton เจดดะฮฺ ซาอุดีอาระเบีย วันที่ 20 มิถุนายน 2566 โดยทางกระทรวงรับเป็นเจ้าภาพให้ผมและภรรยาเข้าร่วมพิธีฮัจญฺจนเสร็จพิธี ฟังจากหลายฝ่ายแล้วเห็นว่า “ฮัจญฺกระทรวง” น่าจะให้ประโยชน์แก่ประเทศไทยมากกว่า “ฮัจญฺกษัตริย์” ผมจึงตัดสินใจย้ายค่ายร่วมเป็นวิทยากร
กระทรวงขอให้ผมถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมและพิธีฮัจญฺเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนากิจการฮัจญฺโดยผมปรับหัวข้อเป็น Science and Technology of Halal Food Manufacturing for The Pilgrims of Hajj and Umrah: Case of Thailand ว่าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการจัดทำอาหารฮาลาลเพื่อผู้แสวงบุญฮัจญฺและอุมเราะฮฺ กรณีของประเทศไทย โดยอธิบายว่ากระบวนการเตรียมอาหารในเชิงอุตสาหกรรมปัจจุบันเต็มไปด้วยการปนเปื้อนสิ่งหะรอมชนิดซับซ้อนกระทั่งทำให้วัตถุดิบสารเคมีที่ผ่านเข้ามายังกระบวนการผลิตมีสิ่งปนเปื้อนแทรกอยู่มากโดยไม่สามารถสังเกตเห็น
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบการมาตรฐานอาหารฮาลาลที่เรียกว่า HAL-Q โดยใช้ระบบฐานข้อมูลสารเคมีจากการวิเคราะห์ตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการกว่า 188,731 ตัวอย่าง พัฒนาขึ้นเป็น H number พัฒนาน้ำยาชำระทำความสะอาดครัว มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อน การวางระบบ HAL-Q ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน สร้างความเชื่อมั่นสภาพฮาลาลได้มาก ข้อมูลทั้งหมดนำไปพัฒนาเป็น Diamond Halal Blockchain ที่ให้ประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการศาสนาอิสลาม และภาคผู้บริโภค สามารถทวนสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ทุกขั้นตอน ช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านคุณภาพแก่ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากประเทศไทยอย่างมาก เมื่อมีโอกาสก็ต้องโฆษณาประเทศไทยกันให้สุดๆไปเลย
ที่มา
White news