วิเคราะห์บทบาทจีน ตัวกลางไกล่เกลี่ยวิกฤตนิวเคลียร์ในยูเครน
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
ในขณะที่ความกังวลเรื่องการเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกกำลังเพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าจีนอาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยวิกฤตการณ์ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนไม่เชื่อว่าจีนจะมีแรงจูงใจที่จะเข้ามารับหน้าที่เรื่องนี้
สตีฟ ชาง ผู้อำนวยการสถาบัยจีน แห่ง SOAS University of London กล่าวว่า “หากจะมีประเทศมหาอำนาจประเทศใดที่สามารถโน้มน้าวประธานาธิบดีปูตินได้ ประเทศนั้นคือจีน”
แต่นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ปัญหาคือ “นโยบายต่างประเทศของจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือ จีนมาก่อน” ซึ่งหมายความว่า จีนจะต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมในเรื่องนี้อย่างละเอียด
ทั้งนี้ จีนคือสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพียงประเทศเดียวที่รับปากว่าจะไม่เป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน นอกจากนี้จีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซียและเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองต่อรัฐบาลกรุงมอสโกมากที่สุดประเทศหนึ่ง
แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า จีนจะมีผลพลอยได้เพียงเล็กน้อยจากการช่วยเหลือสหรัฐฯ บรรเทาวิกฤตด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ ประกอบกับจีนยังคงไม่พอใจต่อรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เกี่ยวกับนโยบายที่มีต่อจีน โดยเฉพาะประเด็นไต้หวัน หลังจากที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน และการที่นักการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ หลายคนเดินทางเยือนกรุงไทเปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์หยวน จิงตง ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจีนที่ University of Sydney กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะจีนจะทบทวนว่าได้อะไรจากการเข้าไปไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของจีนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การค้าไปจนถึงเทคโนโลยี ตั้งแต่ประเด็นไต้หวันไปจนถึงอินโดแปซิฟิก
และหากจีนอยากเข้าร่วมไกล่เกลี่ยจริง ๆ ปักกิ่งก็อาจไม่มีความสามารถพอที่จะโน้มน้าวให้ปูตินยุติสงครามครั้งนี้ก็เป็นได้
ซู เฟ็ง คณบดีของสถาบันต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยนานกิง ประเทศจีน กล่าวกับวีโอเอว่า “อิทธิพลของจีนต่อสงครามในยูเครนนั้นจำกัดอย่างยิ่ง” และหากจีนขอให้ปูตินยุติสงครามท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดในขณะนี้ ก็เหมือนการขอให้รัสเซียยอมรับความพ่ายแพ้ และเป็นการประหารปูตินทางการเมือง ซึ่งไม่มีทางที่ปูตินจะรับฟัง
ศาสตราจารย์หยวน จิงตง แห่ง University of Sydney เห็นคล้ายกันว่า ปูตินจะกล่าวสั้น ๆ ว่า “ขอบคุณ แต่ไม่เป็นไร” เพราะสิ่งที่ปูตินคำนึงถึงนั้นคืออนาคตและการอยู่รอดของตนเองและรัสเซียมากกว่า
ที่ผ่านมา จีนค่อนข้างมีท่าทีกำกวมในสงครามยูเครน คือทั้งไม่ร่วมประณามรัสเซีย แต่ก็ไม่ช่วยจัดหาการสนับสนุนทั้งทางการเมืองและการทหารแก่รัสเซียด้วย และก่อนหน้านี้ ทางการจีนได้ออกมาขอร้องอย่างเป็นทางการให้มีการเจรจาและหาทางออกอย่างสันติต่อสงครามในยูเครน
ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ กล่าวว่า “ในฐานะประเทศที่มีความรับผิดชอบ และสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ จีนยึดมั่นจ่อแนวทางการเจรจาเพื่อสันติภาพ การไม่ถอยออกไปยืนดูห่าง ๆ และไม่ราดน้ำมันลงบนกองเพลิง รวมทั้งไม่หาประโยชน์ส่วนตน จีนจะยืนหยัดในฝั่งเดียวกับสันติภาพและจะยังคงรับบทบาทสำคัญต่อไป”
ในการพบหารือครั้งล่าสุดระหว่างประธานาธิบดีสี กับประธานาธิบดีปูติน เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้นำจีนอาจแนะให้ผู้นำรัสเซียลดระดับความรุนแรงลง ในขณะเดียวกัน จีนก็มีความกังวลหากรัสเซียพ่ายแพ้ในสงครามนี้จริง ๆ
ไซมอน เชิน นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) กล่าวว่า ความกังวลสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของจีน คือ หากปูตินแพ้ในครั้งนี้และสูญเสียอำนาจการเมือง อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยหน้าในปี 2024 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลวอชิงตันอาจพลิกขึ้นมาเป็นผู้ชนะ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และนั่นคือเหตุผลที่จีนต้องการให้รัสเซียและยูเครนหาทางเจรจาเพื่อยุติสงครามโดยเร็ว
ศาสตราจารย์หยวน จิงตง เชื่อว่า หากรัสเซียพ่ายแพ้สงครามจะเหลือเพียงจีนประเทศเดียวที่ยืนหยัดต่อต้านสหรัฐฯ และชาติตะวันตก รวมทั้งพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งจะเป็นเรื่องยากสำหรับจีนในการเดินหน้าตามเป้าหมายต่าง ๆ ที่จีนวางไว้
อย่างไรก็ตาม สตีฟ ชาง แห่ง SOAS University of London มองต่างมุมว่า อาจเป็นผลดีต่อจีนเองหากจีนรับบทบาทนำในการไกล่เกลี่ยสันติภาพครั้งนี้สำเร็จ เพราะจะช่วยให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านการสร้างสันติภาพของโลก ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพพจน์ของจีนได้มาก รวมทั้งนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาให้หากสงครามสิ้นสุดลงจริง ๆ แต่ปัญหาคือ ปธน.สี มองไม่เห็นประเด็นนี้และไม่มีใครในรัฐบาลจีนที่กล้าบอกเขา
ถึงกระนั้น ซุน ยุน ผู้อำนวยการโครงการจีน แห่ง Stimson Center เชื่อว่า จีนอาจมิได้สนใจสร้างภาพพจน์ให้ดูดีบนเวทีโลกมากนัก เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างที่จีนเผชิญ รวมทั้งประเด็นไต้หวัน และอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนเช่นกัน
เรื่องนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมาถึงข้อสรุปว่า ท่าทีของจีนต่อสงครามในยูเครนนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีต่อจีนทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย “เพราะหากอเมริกาต้องการได้ความช่วยเหลือจากจีน อเมริกาก็ต้องทบทวนท่าทีและนโยบายที่มีต่อจีนด้วยเช่นกัน”