เซเลนสกี วอนผู้นำยุโรป 44 ชาติ มอบหลักประกันด้านความมั่นคง หลังสมัคร NATO-สู้รบกองทัพรัสเซีย
.
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน เข้าร่วมประชุมประชาคมการเมืองยุโรป (European Political Community) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เวทีที่มีผู้นำยุโรปมากถึง 44 ชาติเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก วอนผู้นำยุโรปมอบหลักประกันด้านความมั่นคง (Security Guarantees) ให้กับยูเครน หลังสมัครสมาชิก NATO และสู้รบกับกองทัพรัสเซียมานานกว่า 7 เดือนแล้ว
.
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำในยุโรปเกือบทุกชาติได้รับเชิญให้เข้าร่วม มีเพียงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุสเท่านั้นที่ถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดอริกเซน ของเดนมาร์ก ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วม หลังจากจำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมสภา หลังเสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด (Snap Elections)
.
โดยเซเลนสกีวอนขอให้ผู้นำยุโรปสนับสนุนยูเครนก้าวข้ามสงครามใหญ่ในครั้งนี้และโดดเดี่ยวรัสเซียโดยสมบูรณ์ พร้อมชี้ว่า รัสเซียถือเป็นรัฐที่ต่อต้านความเป็นยุโรปมากที่สุดในโลก และย้ำว่า “สงครามครั้งนี้ต้องจบลงด้วยชัยชนะของยูเครน เพื่อมิให้รถถังของรัสเซียเคลื่อนไปยังกรุงวอร์ซอหรือกรุงปรากอีกครั้ง ดังเช่นเมื่อครั้งอดีต และเพื่อไม่ให้รัสเซียยิงมิสไซล์โจมตีชาติบอลติก รวมถึงพื้นที่ทางตอนเหนืออย่างฟินแลนด์และประเทศอื่นๆ”
.
ทางด้านนายกรัฐมนตรีปีเตอร์ เฟียลา ของสาธารณรัฐเช็ก ได้เล่าถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศเมื่อครั้งยังเป็นเชโกสโลวาเกีย ภายใต้อิทธิพลของผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตว่า หนึ่งในจุดที่ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติของเราคือเมื่อเดือนสิงหาคม 1968 เมื่อรัสเซียส่งกองทัพและรถถังมายังกรุงปราก และทำลายความพยายามที่จะมีสิทธิเสรีภาพของเรา ภายใต้ชื่อเหตุการณ์ปรากสปริง (Prague Spring) ซึ่งทำให้สาธารณรัฐเช็กมีประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านการทหารของรัสเซีย โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชนในยุโรปตะวันออกในช่วงเวลานั้น และนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในท้ายที่สุด
.
ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส หนึ่งในผู้นำที่ถือเป็นเสาหลักของยุโรป เสนอให้ประชาคมยุโรปแสดงพลังความเป็นหนึ่งเดียวกัน สนับสนุนยูเครนและต่อต้านการกระทำผิดของรัสเซีย โดยผู้นำส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต่อจุดยืนดังกล่าว มีเพียงตุรกีที่ประกาศตัวเป็นกลางในปมความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และเซอร์เบีย หนึ่งในชาติที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซียเมื่อครั้งอดีต ที่ไม่ได้ลงนามในมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ของบรรดาผู้นำยุโรป
.
โดยการประชุมประชาคมการเมืองยุโรป (EPC Summit) จะจัดขึ้นทุกๆ 6 เดือน ซึ่งมอลโดวาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งต่อไป ตามด้วยสเปนและสหราชอาณาจักร โดยจะมีผู้นำประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิก EU และไม่ได้เป็นสมาชิก EU เดินทางมาเข้าร่วม
แหล่งข่าว
https://www.theguardian.com/world/2022/oct/06/zelenskiy-asks-european-leaders-prague-security-guarantees
https://www.reuters.com/world/europe/big-question-new-european-clubs-first-summit-what-is-it-2022-10-06/