รายงาน UN ชี้ แก๊งค้ายาในเอเชียผลิตยาบ้าสู่ตลาดมากเป็นประวัติการณ์ แหล่งใหญ่จากไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
.
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
จากเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงภาพรวมวิกฤตปัญหายาเสพติดของไทย โดยเฉพาะยาบ้าที่กำลังระบาดหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีราคาถูกและหาซื้อง่าย จนมีบางคนเปรียบเทียบว่า “ยาบ้านั้นถูกกว่าลูกอม”
.
ข้อมูลหนึ่งที่สะท้อนชัดถึงปัญหายาบ้าในไทย คือรายงานจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ที่เผยแพร่เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแก๊งค้ายาในเอเชียนั้นผลิตและส่งออกยาบ้าสู่ตลาดได้มากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ในขณะนั้นจะเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่ก็สามารถปรับตัวและหาช่องทางรับมือได้อย่างรวดเร็ว
.
ในขณะที่แหล่งผลิตและขนส่งส่วนใหญ่นั้นมาจากไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งข้อมูลนี้กลายเป็นคำถามสำคัญที่คนไทยกำลังสงสัยว่า ทำไมไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการระบาดของวิกฤตยาบ้า?
.
ย้อนดูรายงาน UNODC
.
▪ UNODC เผยแพร่รายงานสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชีย พบว่า แก๊งค้ายาในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ระบาดโรคโควิด ในปี 2020 ได้อย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มการผลิตและส่งออกยาเสพติดแบบสังเคราะห์อย่าง ‘ยาบ้า’ ออกสู่ตลาดได้มากขึ้นเป็นประวัติการณ์
.
▪ รายงานของ UNODC ระบุว่า เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือยาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชีย ประสบปัญหาการลักลอบขนส่งในช่วงต้นของการแพร่ระบาดโรคโควิด ซึ่งสถานการณ์ยังรุนแรง ก่อนที่แก๊งค้ายาจะสามารถหาช่องทางหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และส่งยาเสพติดออกสู่ตลาดในประเทศต่างๆ ได้มากกว่าปี 2019
.
▪ ข้อมูลจากทางการในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2020 สามารถตรวจยึดยาบ้าได้เกือบ 170 ตัน มากกว่าปี 2019 ถึง 19%
.
▪ ซึ่งแม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขมูลค่าการค้ายาบ้า แต่เชื่อว่าจะไม่น้อยกว่าในปี 2019 ที่มีข้อมูลอยู่ระหว่าง 3-6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.3 แสนล้านบาท ถึง 1.9 ล้านล้านบาท
.
▪ “ในขณะที่การระบาดใหญ่ (ของโรคโควิด) ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว องค์กรอาชญากรรมที่ครอบงำภูมิภาคมีการปรับตัวและลงทุนอย่างรวดเร็ว พวกเขายังคงผลักดันการผลิตยาบ้า ท่ามกลางความพยายามเพื่อสร้างตลาดและความต้องการสินค้า” เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระบุในแถลงการณ์
.
ไทยเป็นแหล่งผลิตและขนส่งรายใหญ่?
.
▪ รายงานยังชี้ว่า แก๊งค้ายาเสพติดสามารถเติบโตและขยายการผลิตท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยการปรับตัวรับมือต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
.
▪ โดยแก๊งค้ายาเหล่านี้เริ่มใช้สารเคมีที่มีการควบคุมน้อยกว่าในการผลิตยาบ้า พร้อมทั้งเลือกแหล่งผลิตใหม่และเส้นทางส่งสินค้าใหม่ ในสถานที่ซึ่งยากที่ทางการจะเข้าตรวจสอบและจับกุม ขณะเดียวกันยังได้ลูกค้าใหม่ที่ไกลถึงประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก
.
▪ การผลิตและลักลอบขนส่งยาเสพติดส่วนใหญ่ในเอเชียถูกขับเคลื่อนจากประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้งไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา
.
▪ หลายแหล่งผลิตยาบ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่พบในกัมพูชา แม้จะถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับศูนย์ผลิตยาเสพติดในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ชายแดนไทยและลาว และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกองกำลังติดอาวุธและเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ซึ่งในปี 2020 ทางการกัมพูชาสามารถกวาดล้างแหล่งผลิตยาเสพติดได้ 5 แห่ง และในจำนวนนี้ 4 แห่งเป็นแหล่งผลิตยาบ้า
.
▪ “กลุ่มอาชญากรที่เป็นองค์กรสามารถดำเนินการขยายการค้ายาเสพติดสังเคราะห์ในระดับภูมิภาคได้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่น้ำโขงตอนบน และรัฐฉานของเมียนมา ด้วยการรักษาปริมาณสารเคมีให้เพียงพอในพื้นที่การผลิต แม้จะมีมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อการค้าข้ามพรมแดนอย่างถูกกฎหมาย” ดักลาสกล่าว
.
▪ ขณะที่แก๊งค้ายาพยายามหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันโรคโควิด ด้วยการใช้เส้นทางลักลอบขนส่งผ่านประเทศลาวที่มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ก่อนข้ามชายแดนต่อไปยังศูนย์กลางลักลอบขนส่งยาเสพติดทั้งในไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ยังพบว่าฮ่องกงก็เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางที่มีการลักลอบขนส่งยาบ้าเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 10 เท่า
.
▪ UNODC ยังชี้ว่า การที่ยาบ้าทะลักออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้ราคาขายส่งยาบ้าทั้งในไทย กัมพูชา และมาเลเซีย ลดลงจนมีราคาถูก ในขณะที่ทำให้ความต้องการซื้อและเสพยาบ้ายิ่งสูงขึ้น ซึ่งปริมาณการผลิตยาบ้าที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลจากสารเคมีตั้งต้นที่หาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยาเสพติดสังเคราะห์อื่นๆ เช่น ยาเลิฟ และยาเค ก็เพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียเช่นกัน
.
▪ ขณะที่ดักลาสและผู้เชี่ยวชาญมองว่าสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชียปีนี้อาจเลวร้ายลงอีก เนื่องจากแก๊งค้ายาเสพติด โดยเฉพาะในเมียนมา อาจใช้โอกาสจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่พังทลายในการเพิ่มการผลิตและลักลอบขนส่งยาเสพติด
.
▪ “เมื่อเศรษฐกิจพังทลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายมักจะก้าวขึ้นมาและมีอำนาจมากขึ้น นั่นคือสถานการณ์ที่เรากลัวและคาดคิดไว้” ดักลาสกล่าว
.
อัตราการลักลอบขนส่งยาบ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
.
▪ สำหรับรายงานฉบับล่าสุดของ UNODC ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าตั้งแต่ปี 2016-2020 มีถึง 117 ประเทศ ที่มีรายงานการจับกุมและตรวจยึดยาบ้า ซึ่งมากกว่าช่วงปี 2006-2010 ที่มีเพียง 84 ประเทศ ในขณะที่ปริมาณยาบ้าที่ตรวจยึดได้นับตั้งแต่ปี 2010-2020 ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวมากกว่า 5 เท่า
.
▪ ขณะที่การตรวจยึดยาบ้าในประเทศแถบอาเซียนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 30% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ส่วนในทวีปเอเชียตะวันตก พบว่าช่วงปี 2021 มีอัตราตรวจยึดยาบ้าได้เพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากกว่า 50%
.
▪ หนึ่งในข้อมูลที่เห็นได้ชัดจากรายงานของ UNODC คือ สถานการณ์ขัดแย้งนั้นสามารถเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดแก๊งค้ายาให้ผลิตยาเสพติดแบบสังเคราะห์ เช่น ยาบ้า เนื่องจากการที่สามารถผลิตที่ไหนก็ได้ และผลลัพธ์นี้อาจจะยิ่งมากขึ้น หากพื้นที่ขัดแย้งนั้นอยู่ใกล้ตลาดที่เป็นแหล่งค้ายาเสพติด
.
ข้อมูลทั้งหมดนี้สะท้อนชัดถึงปัญหายาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ ที่กำลังระบาดรุนแรงทั้งในไทยและหลายประเทศ โดยสิ่งหนึ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามหลังเกิดเหตุการณ์นี้คือ ทางการไทยจะแก้ไขวิกฤตยาเสพติดได้อย่างไร และใช้เวลานานแค่ไหน?
แหล่งข่าว
https://edition.cnn.com/2021/06/10/asia/covid-19-synthetic-drugs-asia-intl-hnk/index.html
https://www.unodc.org/unodc/frontpage/2022/June/unodc-world-drug-report-2022-highlights-trends-on-cannabis-post-legalization–environmental-impacts-of-illicit-drugs–and-drug-use-among-women-and-youth.html