สหประชาชาติเผย จำนวนประชากรโลกทะลุ 8,000,000,000 คนแล้ว
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า รายงานจากสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกได้มีตัวเลขเกิน 8,000,000,000 คนแล้วในวันนี้ (15 พ.ย.) ในขณะที่มีรายงานระบุว่า ประชากรจากอินเดียจะแซงหน้าจีน กลายมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2566
“วันประชากรโลกในปีนี้ตรงกับปีที่สำคัญ เมื่อเราคาดการณ์การเกิดของประชากรคนที่ 8 พันล้านของโลก นี่เป็นโอกาสที่จะเฉลิมฉลองความหลากหลายของเรา ยอมรับความเป็นมนุษย์ร่วมกันของเรา และอัศจรรย์ใจกับความก้าวหน้าทางสุขภาพที่ยืดอายุขัย และลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กลงอย่างมาก” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว “ในขณะเดียวกัน มันเป็นเครื่องเตือนใจถึงความรับผิดชอบร่วมกันของเราในการดูแลโลกของเรา และเป็นช่วงเวลาที่จะไตร่ตรองว่าเรายังคงขาดคำมั่นสัญญาต่อกันอย่างไร”
จากรายงานของสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 โดยลดลงต่ำกว่า 1% ในปี 2563 การคาดการณ์ล่าสุดโดยสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8.5 พันล้านคนในปี 2573 และ 9.7 พันล้านในปี 2593 และมีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ในจุดสูงสุดประมาณ 1.04 หมื่นล้านคนในช่วงปี 2080 และคงอยู่ที่ระดับนั้นจนถึงปี 2643
จากรายงาน ‘แนวโน้มประชากรโลก 2022’ ของสหประชาชาติยังระบุด้วยว่า ภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในหลายประเทศ โดยในทุกวันนี้มี 2 ใน 3 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ตลอดอายุขัยต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งเป็นระดับโดยประมาณที่จำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นศูนย์ในระยะยาว สำหรับจำนวนประชากรที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ทั้งนี้ มีประชากรจาก 61 ประเทศหรือพื้นที่ ที่คาดว่าจะลดลง 1% หรือมากกว่านั้นระหว่างปี 2565 ถึง 2593 อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และในบางกรณีเกิดจากอัตราการย้ายถิ่นฐานสูงขึ้น
จากรายงานระบุอีกว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2593 จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ยังมีการคาดการณ์อีกว่า ประเทศในแถบอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราจะมีประชากรคิดเป็นตัวเลขมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ไว้จนถึงปี 2593
หลิวเจินหมิน รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของประชากรและการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นซับซ้อนและหลากหลาย” ก่อนกล่าวเสริมว่า “การเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วทำให้การขจัดความยากจน การต่อสู้กับความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ และการเพิ่มความครอบคลุมของระบบสุขภาพและการศึกษาทำได้ยากขึ้น ในทางกลับกัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศ จะมีส่วนช่วยในการลดระดับการเจริญพันธุ์ และชะลอการเติบโตของประชากรโลก”
สหประชาชาติระบุว่า ในประเทศแถบอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับในบางส่วนของเอเชีย ละตินอเมริกา และแคริบเบียน มีส่วนแบ่งของประชากรในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 25 ถึง 64 ปี) ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงเมื่อในช่วงเวลาไม่นานมานี้ การเปลี่ยนแปลงในส่วนแบ่งอัตราอายุประชากรนี้ เป็นโอกาสในการจำกัดเวลาสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อหัว หรือที่เรียกว่า “การปันผลตามจำนวนประชากร” เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการกระจายอายุที่เหมาะสม ประเทศต่างๆ ควรลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไป โดยรับประกันการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกช่วงอายุ และโดยการส่งเสริมโอกาสสำหรับการจ้างงานที่มีประสิทธิผลและการทำงานที่มีคุณค่า
รายงานของสหประชาชาติยังระบุอีกว่า ส่วนแบ่งของประชากรโลกในอายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2565 เป็น 16% ในปี 2593 โดย ณ จุดนั้นมีการคาดว่า จำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะมีมากกว่า 2 เท่าของจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และใกล้เคียงกันกับจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ทั้งนี้ ประเทศที่มีประชากรสูงอายุ ควรดำเนินการปรับแผนงานสาธารณะให้เข้ากับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดตั้งระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าและระบบการดูแลระยะยาว และโดยการปรับปรุงความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและระบบบำเหน็จบำนาญ
ทั้งนี้ อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรทั่วโลกมีอยู่ที่ 72.8 ปีในปี 2562 เพิ่มขึ้นเกือบ 9 ปีนับตั้งแต่ปี 2533 อัตราการตายที่ลดลงเพิ่มเติมคาดว่าจะส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกมีอยู่ที่ประมาณ 77.2 ปีในปี 2593 แต่ในปี 2564 อายุขัยของกลุ่มประชากรประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด มีอัตราที่พร่องกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 7 ปี
สหประชาชาติระบุว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบทั้ง 3 ของการเปลี่ยนแปลงของประชากร โดยอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรทั่วโลกลดลงเหลือ 71.0 ปีในปี 2564 ทั้งนี้ ในบางประเทศ คลื่นการระบาดใหญ่ที่ต่อเนื่องอาจทำให้จำนวนการตั้งครรภ์และการเกิดในระยะสั้นลดลง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่ง แทบไม่มีหลักฐานว่าการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ ทั้งในระดับหรือแนวโน้ม อย่างไรก็ดี การระบาดใหญ่ได้จำกัดการเคลื่อนไหวของมนุษย์ทุกรูปแบบ รวมถึงการอพยพระหว่างประเทศ
“การดำเนินการเพิ่มเติมของรัฐบาลที่มุ่งลดภาวะเจริญพันธุ์ จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการเติบโตของประชากรระหว่างปัจจุบันและกลางศตวรรษ เนื่องจากโครงสร้างอายุที่อ่อนเยาว์ของประชากรโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผลสะสมของภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง หากยังคงไว้เป็นเวลาหลายทศวรรษ อาจทำให้การเติบโตของประชากรโลกลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ” จอห์น วิลมอธ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติกล่าวเสริม
ที่มา:
https://www.un.org/en/desa/world-population-reach-8-billion-15-november-2022
No Result
View All Result