อียูจ่อระงับช่วยเหลือฮังการี คว่ำบาตรครั้งแรกในกลุ่มชาติสมาชิก อ้างกังวลปัญหาการทุจริตในประเทศ
สหภาพยุโรปเสนอระงับเงินช่วยเหลือแก่ฮังการีมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านบาท โดยอ้างว่ากังวลเรื่องปัญหาการทุจริตในฮังการี ถือเป็นหนึ่งในความตึงเครียดล่าสุดที่เกิดขึ้นระหว่างอียูและฮังการี ซึ่งเป็นชาติสมาชิก
หน่วยงานบริหารของสหภาพ หรือ อียู เสนอให้มีการระงับการให้เงินช่วยเหลือฮังการีมูลค่า 7.5 พันล้านยูโรป หรือราว 2.7 แสนล้านบาท จากปัญหาการทุจริตในฮังการี ทำให้นี่คือครั้งแรกที่เกิดการคว่ำบาตรเช่นนี้ในกลุ่มอียู ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องหลักแห่งกฎหมาย
ที่ผ่านมา ฮังการีและอียูเผชิญความสัมพันธ์ตึงเครียดกันมาหลายเดือน เพราะอียูกังวลว่า รัฐบาลชาตินิยมของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี กำลังบั่นทอนหลักแห่งกฎหมาย และใช้เงินที่ได้จากอียูในการสร้างความมั่งคั่งในการแวดวงของตนเอง ขณะที่ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีสายประชานิยม นั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย
เมื่อสองปีที่แล้ว อียูได้มีการออกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินแบบใหม่ เพื่อรับมือสิ่งที่อียูเรียกว่า การบั่นทอนประชาธิปไตยของโปแลนด์และฮังการี
โยฮันเนส์ ฮาห์น คณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของอียู กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของการละเมิดหลักแห่งกฎหมาย เกี่ยวกับการใช้และการบริหารจัดการเงินจากกองทุนของอียู เราไม่เชื่อว่างบประมาณของอียูนั้นได้รับการคุ้มครองเพียงพอ
โดยเขาได้อ้างถึง การพบความไม่ชอบมาพากลอย่างเป็นระบบในกฎหมายการจัดหาสาธารณะของฮังการี การจัดการปกป้องเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ความอ่อนแอในการดำเนินคดีทางกฎหมาย และขาดมาตรการต่อต้านการทุจริต
ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรป จึงแนะนำให้มีการะงับเงินจากกองทุนช่วยเหลือฮังการีไปก่อนราวหนึ่งในสาม ของงบประมาณระหว่างปี 2021-2027 ที่มีมูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านยูโร หรือ 40.7 ล้านล้านบาท
สำหรับเงินมูลค่า 2.7 แสนล้านบาทที่จะถูกระงับในรอบนี้นั้น คิดเป็น 5% ของ GDP ของฮังการี โดยชาติสมาชิกอียูมีเวลาไม่เกินสามเดือนในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอนี้
ขณะที่ เมื่อวันเสาร์ (17 กันยายน) ที่ผ่านมา รัฐบาลฮังการีเผยว่า บรรดาสมาชิกรัฐสภาจะมีการลงมติในสัปดาห์นี้ เพื่อผ่านกฎหมายใหม่ เพื่อลดความตึงเครียดกรณีดังกล่าว โดยจะมีการจัดตั้งองค์กรต่อต้านการทุจริตที่เป็นอิสระ เพื่อจับตาดูการใช้เงินของกองทุนอียู ตลอดจนจะยกระดับกระบวนการออกกฎหมายให้โปร่งใสขึ้น
ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาของฮังการี กล่าวว่า ฮังการีจะปฏิบัติตามพันธสัญญาทั้ง 17 ข้อที่มีต่อคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อไม่ให้สูญเสียเงินช่วยเหลือดังกล่าว
ขณะที่ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ยืนยันว่า ฮังการีไม่ได้เป็นประเทศที่มีการทุจริตไปมากกว่าชาติอื่น ๆในอียู
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอียูนี้ มีขึ้นหลังเมื่อวันพฤหัสบดี (15 กันยายน) ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภายุโรปลงมติ 433 ต่อ 123 เสียง สนับสนุนมติที่ประกาศว่า ฮังการีไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบอีกต่อไป
มติดังกล่าว ระบุว่า ฮังการีมีระบอบที่ผสมผสานของการเลือกตั้งแบบอำนาจนิยม ซึ่งถือเป็นการละเมิดวิถีประชาธิปไตยของอียูอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกรัฐสภาอียูต่างแสดงความกังวลเรื่องระบบการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญของฮังการี ความเป็นอิสระของระบบตุลาการ ปัญหาการทุจริต และความผิดปกติในการจัดซื้อสาธารณะ สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนเสรีภาพทางศาสนา
ขณะที่ ปีเตอร์ ซิจจาร์โต รัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการีแถลงตอบโต้มติของรัฐสภายุโรป โดยระบุว่า “นี่คือการดูหมิ่นคนฮังการี หากใครสักคนตั้งคำถามว่าฮังการีมีศักยภาพในการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่”
เขา ยังกล่าวด้วยว่า รู้สึกประหลาดใจที่คนในอียูและรัฐสภายุโรป ยืนยันที่จะกระทำการเหยียดหยามฮังการี และฮังการีรู้สึกไม่พอใจที่คนเหล่านั้นคิดว่าคนฮังการีไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งความตึงเครียดระหว่างอียูและรัฐบาลของออร์บาน
ที่ผ่านมา ฮังการีมักคัดค้านแถลงการณ์ร่วม และการตัดสินใจต่าง ๆ ตั้งแต่การประชุมระดับสูงของนาโตเกี่ยวกับเรื่องยูเครน ไปจนถึงการลงมติของอียูเกี่ยวกับภาษีองค์กร และจุดยืนร่วมของอียูต่อการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ตลอดจนเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมของอียู
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.aljazeera.com/news/2022/9/18/eu-moves-to-cut-7-5bn-funding-for-hungary-over-corruption
https://fortune.com/2022/09/19/eu-trying-cut-off-funding-hungary-putin-ally