‘ปูติน’ ชื่นชม ‘สี’ วางตัวสมดุลในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน นักวิเคราะห์มองจีนเป็นต่อรัสเซีย
ทั่วโลกจับตาการพบปะกับระหว่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่พบกันที่อุซเบกิสถาน ทั้งคู่ได้เริ่มหารือกันแล้ว
Editor’s Pick: ‘ปูติน’ ชื่นชม ‘สี’ วางตัวสมดุลในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน นักวิเคราะห์มองจีนเป็นต่อรัสเซีย
ทั่วโลกจับตาการพบปะกับระหว่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่พบกันที่อุซเบกิสถาน ทั้งคู่ได้เริ่มหารือกันแล้ว
การพบปะระหว่างสองผู้นำชาติมหาอำนาจ ได้ถูกจับตามองจากทั่วโลก ทั้งสองคนได้พบกันที่อุซเบกิสถาน และได้นั่งร่วมโต๊ะหารือกันในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ขณะที่ นักวิเคราะห์มองว่าจีนเป็นต่อความสัมพันธ์ในครั้งนี้
การพบปะกันครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะที่ความสัมพันธ์ของประธานาธิบดี ปูติน กับชาติตะวันตกสั่นคลอน ขณะที่ฝั่งจีนก็มีประเด็นการซ้อมรบใกล้ไต้หวัน ที่กระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นำไปสู่การเตรียมคว่ำบาตร
การเดินทางมายังอุซเบกิสถานในครั้งนี้ นับเป็นการเดินทางออกนอกประเทศจีน ครั้งแรกของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทั้งสองผู้นำเคยพบกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในครั้งนั้น ทั้งสองระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนนั้น “ไม่มีข้อจำกัด”
การพบกันครั้งล่าสุดนี้ เป็นการพบปะนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิก องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ปูติน และสี นั่งอยู่ตรงข้ามกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งจีน และรัสเซีย นั่งขนาบข้าง
ปูติน ได้เริ่มด้วยการกล่าวโทษฝ่ายที่ต้องการสร้าง ‘โลกที่มีขั้วเดียว’ หรือ ‘Unipolar World’ พร้อมทั้งชื่นชมจีนที่มีจุดยืนที่สมดุล ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย และยูเครน ขณะเดียวกันก็ระบุว่าเข้าใจถึงความกังวลของจีนต่อประเด็นดังกล่าว ก่อนที่จะประณามตะวันตกว่า ทำการยั่วยุบริเวณช่องแคบไต้หวัน
ขณะที่ สี จิ้นผิง ระบุว่า จีนให้ความสำคัญต่อการความมั่นคงและการนำโลกไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น โดยกล่าวว่า “จีนต้องการร่วมมือกับรัสเซีย ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญในการแสดงให้เห็นความรับผิดชอบของชาติมหาอำนาจ และการสร้างความมันคง รวมถึงพลังในแง่บวก ของโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย”
สำนักข่าว Al Jazeera รายงานบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า สถานการณ์โดยรวมขณะนี้ ทั้งปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ที่นำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก และความพยายามที่จะโดดเดี่ยวรัสเซีย ทำให้รัสเซียต้องการกระชับสัมพันธ์กับจีน
ด้านอเล็กซานดอร์ กาเบรียฟ จาก ‘Carnegie Endowment for International Peace’ ชี้ว่า การตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการการทหารของรัสเซียในยูเครน ทำให้รัสเซียหันมาพึ่งพาจีนมากขึ้น การค้าระหว่างจีน และรัสเซีย มีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจของรัสเซีย ท่ามกลางการคว่ำบาตรของตะวันตก
แต่ในขณะเดียวกัน การคว่ำบาตรดังกล่าวก็ส่งผลดีต่อจีนในทางอ้อม ซึ่งได้วางตัวเป็นตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซีย และจีนยังเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งสามารถซื้อน้ำมันของรัสเซียได้ในราคาที่ถูกลง
ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงมองว่า แม้จีนกับรัสเซียจะมีภาพลักษณ์เป็นสองชาติมหาอำนาจที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กัน เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎระเบียบระหว่างประเทศ แต่หากมองลึกลงไป ความสัมพันธ์ดังกล่าว ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมเท่าไหร่นัก โดยจีนถูกมองว่ามีอำนาจเหนือความสัมพันธ์ในครั้งนี้ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปหากความขัดแย้งในยูเครนยืดเยื้อ และรัสเซียอาจต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นในแง่เศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่าย จีนและรัสเซียจะมีจุดยืนร่วมกันในการประณามตะวันตก ที่เข้ามายุ่งกับกิจการภายใน แต่ฝ่ายจีนเองก็ตระหนักดีกว่า หากให้การสนับสนุนรัสเซียมากเกินไป อาจนำไปสู่การคว่ำบาตร
ในทางกลับกัน หากให้การสนับสนุนรัสเซียน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศสั่นคลอนได้ ทำให้จีนมีจุดยืนที่สมดุลต่อประเด็นดังกล่าว และจีนไม่คุ้มที่จะเสี่ยงในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นรัสเซียยูเครน ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด ในขณะเดียวกันจีนก็ไม่ออกมาประณามรัสเซียเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารเช่นกัน
ส่วนด้าน ปูติน เคยระบุว่า ความพยายามที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียนั้นเป็นไปไม่ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย กับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นได้สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่รัสเซีย และชาติตะวันตกกำลังบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจโลก และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก