อียู หวั่นก๊าซไม่พอใช้ช่วงฤดูหนาว จ่อลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล
ยูเอ็นกังวล หลังบรรดาชาติยุโรปอาจละทิ้งเป้าหมายในการลดโลกร้อน หันกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น
วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตในยูเครนและการคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซีย กำลังทำให้สหประชาชาติกังวล ว่าบรรดาชาติยุโรปอาจละทิ้งเป้าหมายในการลดโลกร้อนและหันกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น
ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังเผชิญกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และหวั่นว่าอาจจะเกิดภาวะพลังงานขาดแคลนในช่วงฤดูหนาว หลังอียูกำลังเผชิญหน้ากับรัสเซียในเรื่องพลังงาน จากการที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน
ขณะที่ รัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรของอียูด้วยการลดปริมาณก๊าซที่ส่งมาให้ยุโรป ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูง และหลายชาติเผชิญความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นาดา อัล-นาชีฟ รองประธานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อบุคคลที่เปราะบางมากที่สุดในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว กำลังทำให้ชาติสมาชิกอียู หันมาลงทุนในโครงสร้างพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไม่ควรมีที่ว่างให้กับการถอยหลังในเรื่องนี้
อัล-นาชีฟ ยังเตือนว่า หากอียูหันกลับมาส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนขึ้น จะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว
เธอยังกล่าวถึงน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากร 33 ล้านคน ว่านี่คือตัวอย่างของการที่โลกล้มเหลวในการลงมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
เธอยังเรียกร้องอียูและชาติสมาชิกให้เร่งพัฒนาโครงการประหยัดพลังงานและแหล่งพลังงานหมุนเวียนโดยด่วนแทน และให้คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว จากการยึดติดอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล
อัล-นาชีฟ ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากกว่านี้ ในการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่กรุงไคโร เดือนพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า ปัจจุบัน อียูมีสัดส่วนการใช้พลังงานคือ:
๐ ก๊าซ 34%
๐ น้ำมัน 31%
๐ ถ่านหิน 11%
๐ พลังงานนิวเคลียร์ 10%
๐ พลังงานน้ำ 7%
๐ พลังงานลม 4%
๐ พลังงานแสงอาทิตย์ 2%
๐ และอื่นๆ 1%
ในจำนวนดังกล่าว อียูนำเข้าก๊าซจากรัสเซียคิดเป็น 40% ของก๊าซทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียได้ระงับการส่งก๊าซของท่อนอร์ด สตรีม 1 มายังเยอรมนี สร้างความกังวลให้กับบรรดาชาติอียูว่า ก๊าซอาจจะไม่เพียงพอในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง โดยรัสเซียอ้างว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ส่งผลกระทบต่อระบบอุปทานของท่อส่งก๊าซ
การที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซ จึงทำให้เยอรมนี ชาติที่ใช้ก๊าซมากที่สุด กังวลและเร่งมองหาพลังงานต่าง ๆ มาสำรองทดแทน เพื่อป้อนสู่ครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เยอรมนีประกาศจะกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเฮยเดน ใกล้ ๆ เมืองฮันโนเวอร์ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนปีหน้า
ถือเป็นการกลับลำนโยบายของเยอรมนี ที่ตั้งเป้าว่าจะยุติการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าฟ้าให้ได้ภายในปี 2038 แต่พอเกิดวิกฤตพลังงานครั้งนี้ ทำให้เยอรมนีออกระเบียบว่าจะอนุญาตให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานว่า บรรดาชาติยุโรปต่างละทิ้งเป้าหมายสีเขียวไปชั่วขณะ และกำลังเร่งหาซื้อถ่านหินมาเติมเต็มวิกฤตพลังงาน โดยกำลังมองหาผู้ขายรายอื่น ๆ คือ ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ โคลอมเบีย และแอฟริกาใต้ เพื่อทดแทนถ่านหินจากรัสเซีย
ที่ผ่านมา อียูนำเข้าถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อน (Thermal Coal) จากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 70% ของที่นำเข้าทั้งหมด เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การนำเข้าต้องระงับไปหลังมาตรการคว่ำบาตรถ่านหินของรัสเซียมีผลบังคับใช้กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อน นั้นถือเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่ผลิตก๊าซคาร์บอนมากที่สุด และยุโรปพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว เพื่อลดมลพิษและเข้าใกล้เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การนำเข้าถ่านหินชนิดดังกล่าวของ 27 ชาติอียูและสหราชอาณาจักร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว 43% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับปีนี้ และจะส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านตัน