เมื่่อฟินแลนด์เข้านาโตแล้ว
โดยนิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตเป็นองค์การระหว่างประเทศในระบบพันธมิตรทางทหารที่มีมาตรการความมั่นคงร่วมกัน ตั้งโดยสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือซึ่งลงนามเมื่อ 4 เมษายน 1949
นาโตถูกตั้งเพื่อต่อต้านการรุกรานของสหภาพโซเวียตและประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น
ภาคีสมาชิกแรกเริ่มมีเพียง 12 ประเทศคือ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส
เปิดฟ้าส่องโลกขอแสดงความยินดีกับฟินแลนด์ ที่จันทร์ 3 เมษายน 2023 การเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของฟินแลนด์สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟินแลนด์ก็รักษาสถานะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางทหาร ความที่มีพรมแดนประชิดติดกับโซเวียต (ซึ่งต่อมาคือรัสเซีย) ทำให้ฟินแลนด์พยายามรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัสเซีย
กระทั่ง 24 กุมภาพันธ์ 2022 มีเหตุการณ์รัสเซียบุกอูเครน ทำให้ฟินแลนด์ตระหนักถึงภัยของรัสเซียที่ตนอาจจะได้รับ ฟินแลนด์จึงตัดสินใจสละสถานะประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางทหาร และเข้ามาร่วมกับนาโต
สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีเพียง 14 มาตรา แต่ที่เป็นหัวใจก็คือมาตรา 5 ที่เขียนไว้ว่า ภาคีของสนธิสัญญาเห็นพ้องต้องกันว่าการโจมตีด้วยกำลังอาวุธต่อประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ จะถือว่าเป็นการโจมตีต่อภาคีทุกประเทศ
นั่นหมายความว่า ในอนาคตหากฟินแลนด์ถูกโจมตีโดยรัสเซีย ประเทศสมาชิกอื่นของนาโต 30 ประเทศก็สามารถชุมนุมสุมศีรษะรวมกันยำรัสเซียได้
เมื่อได้เป็นสมาชิกนาโตแล้ว ฟินแลนด์จึงมีความมั่นคงทางด้านการทหาร ไม่ถูกโดดเดี่ยวเดียวดาย หากทะเลาะกับรัสเซียก็จะมีเพื่อนที่เข้ามาช่วยได้อย่างเปิดเผย
ผิดกับอูเครนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต ความช่วยเหลือจากประเทศอื่นจึงทำได้อย่างไม่เต็มที่
ไม่ใช่เฉพาะฟินแลนด์ที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต แม้แต่สวีเดนก็ต้องการเข้าร่วมกับนาโตด้วยเช่นกัน แต่การสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนมีปัญหาติดกึกติดกักไม่ราบรื่นเหมือนของฟินแลนด์ เพราะมีสมาชิกนาโต 2 ประเทศคัดค้านคือตุรกีและฮังการี
ตุรกีค้านโดยอ้างว่าสวีเดนให้ที่พักแก่กลุ่มที่ตุรกีถือว่าเป็นพวกก่อการร้าย พร้อมทั้งต่อรองให้สวีเดนทำข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนก่อน จึงจะยอมให้สัตยาบันรับรองการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน
ส่วนฮังการียังไม่ให้สัตยาบันรับรองสวีเดนเพราะไม่พอใจที่สวีเดนวิจารณ์ผลงานด้านประชาธิปไตยของนายวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี
นาโตมีโครงสร้างทางสถาบันและกลไกการปฏิบัติงานที่ซับซ้อน มีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านกิจการพลเรือนและกิจการทางทหาร คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ในด้านกิจการพลเรือน
ส่วนสมัชชาแอตแลนติกเหนือทำหน้าที่เป็นสภาขององค์การเพื่อให้องค์การดำเนินงานโดยสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย มีสมาชิกที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรของทุกชาติ สภานี้มีการประชุมประจำปีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
ส่วนสำคัญของนาโตอยู่ที่คณะกรรมาธิการทหาร ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ทำงานด้านการทหาร มีกองกำลังป้องกันที่แยกย่อยออกเป็น 3 กองกำลังหลักคือกองบัญชาการพันธมิตรฝ่ายยุโรป กองบัญชาการพันธมิตรฝ่ายแอตแลนติก และกองบัญชาการช่องแคบอังกฤษ
นอกจากนั้น นาโตยังมีองค์กรและหน่วยงานทหารอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในเขตของสนธิสัญญา
รัสเซียเคยสนใจเข้าเป็นสมาชิกนาโตเพราะรัสเซียอยากให้ยุโรปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าใครฟังปราศรัยของปูตินบ่อยๆ อาจจะเคยได้ยินเรื่องที่ปูตินเล่าว่าหลายครั้งที่รัสเซียเอ่ยเรื่องความสนใจกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มักจะได้รับแต่การยิ้มเยาะหัวเราะใส่
จุดประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ก็คือการรวบรวมประเทศต่างๆ ที่จะใช้เล่นงานรัสเซียเพื่อให้รัสเซียแตกแยกแผ่นดินออกเป็นประเทศเล็กชาติน้อยซอยย่อยออกไปอีกหลายประเทศ
ขืนให้รัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นอันตรายต่อการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ
การเข้าไปกอบโกยตักตวงทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศเล็กที่มีอิทธิพลน้อย สามารถทำได้ง่ายกว่าประเทศใหญ่
หลังจากมั่นใจว่าสหรัฐฯต้องการแยกแผ่นดินรัสเซีย รัสเซียก็ไม่เคยพูดถึงการเข้านาโตอีกเลย.