สงครามยูเครนใกล้ถึงวาระสุดท้าย
โดย สิริอัญญา
วันพุธที่ 7 กันยายน 2565
เมื่อครั้งเริ่มต้นของสงครามยูเครน บรรดาสื่อในเครือข่ายตะวันตกสร้างกระแสอย่างครึกโครมทั่วโลกว่ารัสเซียเป็นผู้ก่อสงครามรุกรานและจะต้องพ่ายแพ้ภายใน 5 วัน ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียจะตกและกลายเป็นกรวดทราย
กลุ่มนาโต้และกลุ่มสหภาพยุโรปได้ระดมการเคลื่อนไหวทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกระหน่ำรัสเซียหมายจะให้ล่มสลายไปคาเท้า มาตรการคว่ำบาตรที่กว้างขวางที่สุดและรุนแรงที่สุดได้ขับเคลื่อนอย่างครึกโครมจนโลกต้องตกตะลึง
ปั่นกระแสกันจนทำให้ผู้คนลืมหลงว่าเหตุของสงครามยูเครนนั้นเกิดจากกลุ่มประเทศนาโต้ต้องการที่จะสถาปนารัฐใหม่ของชาวยิวขึ้นในภูมิภาคนั้น และต้องการทำลายรัสเซียให้แตกสลายเป็นเสี่ยง ๆ ต่อยอดจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ถึงขนาดมีการจัดฐานทัพลับทั้งของนาโต้และของอังกฤษในพื้นที่ภาคใต้ของยูเครน เพื่อเตรียมปฏิบัติการต่อรัสเซียและไครเมียของรัสเซีย
มีการเตรียมการเพื่อระดมประเทศนาโต้ทั้งหลายเข้ารุมสกรัมรัสเซียด้วยการผลักดันให้ยูเครนเข้าเป็นภาคีของนาโต้ และเตรียมที่จะนำขีปนาวุธร้ายแรงเข้าไปติดตั้งในยูเครนเพื่อคุกคามความมั่นคงของรัสเซีย
สภาพเช่นนี้เป็นใครก็ยอมไม่ได้ เพราะนี่คือภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่กระทำต่อรัสเซีย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รัสเซียต้องเปิดปฏิบัติการทางทหารดังที่ทราบกันอยู่ในขณะนี้
วาระซ่อนเร้นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คาดหวังว่าเมื่อรัสเซียติดหล่มในสงครามยูเครนแล้วก็จะไม่สามารถเกื้อหนุนช่วยเหลือจีนได้ เพราะจีนนั้นถูกกาหัวว่าเป็นศัตรูที่เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุด ถึงกับต้องประกาศยุทธศาสตร์เฉพาะในการทำลายจีน นั่นคือยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และเมื่อรัสเซียติดหล่มแล้วก็จะเปิดปฏิบัติการครั้งใหญ่ต่อประเทศจีน
ปรากฏว่าสถานการณ์ถึงวันนี้แผนการทั้งหลายล้มเหลวสิ้นเชิง คือไม่เพียงแต่รัสเซียไม่ติดหล่มในสงครามยูเครนเท่านั้น ประเทศจีนก็สามารถยืนหยัดรับมือกับการคุกคามของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ชนิดไม่ลดราวาศอกให้แก่กัน และยิ่งเพิ่มความพร้อมต่อการทำสงครามใหญ่ไม่ว่าสงครามใหญ่ระดับภาคพื้นแปซิฟิกหรือสงครามโลกที่จะเชื่อมต่อกับอีกหลายสมรภูมิของโลก
ทางด้านสถานการณ์ยูเครนนั้น สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนดังต่อไปนี้
ประการแรก การรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียก่อนหน้านั้นได้รับการเสริมสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่ง และมีบทบาทเป็นหลักทางด้านความมั่นคงของรัสเซียทางพื้นที่ภาคใต้ของยูเครน โดยเฉพาะฐานะทางยุทธศาสตร์ที่ควบคุมทะเลดำและน่านน้ำทั้งหลายในย่านนั้นได้อย่างเข้มแข็ง
ประการที่สอง ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียสามารถปลดแอกภูมิภาคทางใต้ของยูเครนถึงสองภูมิภาค คือ ลูฮันสก์และดอนบาส โดยเมื่อรัสเซียเข้ายึดครองแล้วก็ได้สถาปนาความมั่นคงขึ้นทั้งสองภูมิภาคนี้ จากนั้นก็ได้เปิดให้มีการลงประชามติของประชาชาติในสองภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย
ผลการลงประชามติชี้ขาดให้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนที่เป็นอิสระแต่อยู่ในเครือพันธมิตรของรัสเซีย นั่นคือสาธารณรัฐลูฮันสก์และดอนบาส ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลและองค์ประกอบต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เป็นรัฐอิสระครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
ประการที่สาม นาโต้และสหภาพยุโรปเพ้อฝันว่าจะสามารถกอบกู้สถานการณ์ในยูเครน นั่นคือการยึดดินแดนกลับคืนได้ จึงได้ทุ่มเทความช่วยเหลืออย่างล้นหลาม ถึงขนาดยอมให้ชาติบ้านเมืองตนเองเดือดร้อนวายวอดจนประชาชนลุกฮือขึ้นเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเพื่อถอนการช่วยเหลือยูเครนไปแล้ว 3-4 ประเทศ
แต่เพราะความเพ้อฝันและเข้าใจสถานการณ์ที่ผิดพลาด จึงแทนที่จะมีการเจรจาสงบศึกกลับเพิ่มความรุนแรงของสงครามเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัสเซียจึงยกระดับการทำสงครามขึ้นอีกขั้นใหญ่ และทำการยึดครองพื้นที่อีกสองภูมิภาค คือภูมิภาคทางใต้และภูมิภาคในภาคกลาง ซึ่งพื้นที่ทั้งสองภูมิภาคนี้รวมกันแล้วจะทำให้ยูเครนด้านตะวันออกเกือบทั้งหมดถูกปลดแอกจากยูเครน
ขณะนี้การยึดครองเสร็จสมบูรณ์แล้ว อยู่ในกระบวนการบูรณะและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสัญชาติรัสเซียและใช้พาสปอร์ตรัสเซีย ใช้เงินรูเบิลของรัสเซีย แต่เนื่องจากทั้งสองภูมิภาคนี้มีขนาดใหญ่มากและมีหลายชนชาติ ดังนั้นในการบริหารจัดการจากนี้ไปจึงเป็นการเตรียมการลงประชามติ
ว่าทั้งสองภูมิภาคนี้จะรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียเหมือนที่เคยรวมโซเวียตในอดีต หรือว่าจะเป็นรัฐอิสระแบบสาธารณรัฐลูฮันสก์และดอนบาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัสเซียและพันธมิตรได้คำนึงและยอมรับสิทธิในการตัดสินใจของประชาชาติทั้งหลายในสองภูมิภาคนี้ และคาดว่าการลงประชามติน่าจะเกิดขึ้นก่อนฤดูหนาว
แต่ไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นไปในทางใด ทั้งสองภูมิภาคนี้ก็ไม่ใช่ดินแดนของยูเครนอีกต่อไป คงเหลือว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียหรือจะเป็นสาธารณรัฐอิสระเท่านั้น