ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอิรัก
โดย สิริอัญญา
วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565
สถานการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลางกำลังก้าวสู่ขั้นใหม่อีกขั้นหนึ่งแล้ว สภาพโดยทั่วไปก่อนหน้านี้คือสภาพความขัดแย้งและสงครามในพื้นที่ซีเรียและอิรัก ในพื้นที่ซาอุดิอาระเบียกับเยเมน และในพื้นที่ที่ราบสูงโกลันระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาสและฮิซบุลเลาะห์ รวมทั้งขบวนการปฏิวัติอิสลามอื่น ๆ
สำหรับความขัดแย้งในอิรักและซีเรียนั้นอยู่ในขั้นวิกฤตมาตั้งแต่ช่วงก่อนประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 72 ซึ่งช่วงนั้นพื้นที่อิรักและซีเรียส่วนใหญ่ถูกยึดครองจากผู้รุกราน และกำลังจะจัดตั้งประเทศใหม่ขึ้นอีกประเทศหนึ่งคือสาธารณรัฐอิสลามแห่งไอซิสในพื้นที่เขตแดนที่เชื่อมต่อระหว่างอิรักกับซีเรีย
ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยที่ 72 มีการเตรียมเสนอญัตติตั้งสาธารณรัฐอิสลามแห่งไอซิสขึ้นในพื้นที่แดนต่อแดนอิรักและซีเรีย แต่ประธานาธิบดีปูตินได้ปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ว่ารัสเซียคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวและจะวีโต้ข้อเสนอดังกล่าว พร้อมทั้งประกาศว่ารัสเซียจะช่วยอิรักและซีเรียในการรักษาบ้านเมืองไว้
ปราศรัยเสร็จประธานาธิบดีปูตินก็เดินทางกลับทันที และเปิดการประชุมสภาความมั่นคงแห่งรัสเซีย มีมติให้ส่งกำลังทหารเข้าขัดขวางการตั้งสาธารณรัฐอิสลามแห่งไอซิส จากนั้นกองทัพรัสเซียก็เปิดฉากถล่มกองกำลังของไอซิสในพื้นที่แดนต่อแดนดังกล่าวจนแตกสลายไป และทำให้แผนการจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามแห่งไอซิสล้มเหลวลงตั้งแต่บัดนั้น
แต่สภาพความขัดแย้งและสงครามในอิรักและซีเรียยังคงดำเนินต่อไป โดยสหรัฐและพันธมิตรได้เผชิญหน้ากับพันธมิตรห้าประเทศ คือ รัสเซีย จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซีเรีย และอิรัก ได้มีการเสริมกำลังทหารและขยายฐานทัพของรัสเซียในซีเรีย ทั้งฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือ ในขณะที่กองกำลังปฏิวัติอิสลามต่าง ๆ ในอิรักและซีเรียก็ประสานการเคลื่อนไหวต่อสู้ขับไล่ผู้รุกรานอย่างเป็นรูปขบวนมากขึ้น
ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวจากทางจีนและเกาหลีเหนือให้เป็นข่าวต่อภายนอก คงมีแต่รัสเซียเป็นกองหน้าและมีอิหร่านเข้าสมทบอย่างเป็นทางการ และมีการตั้งคณะเสนาธิการร่วมขึ้นเพื่อประสานการสงครามในพื้นที่นั้น
ในที่สุดภายใต้สภาพที่เป็นจริงของซีเรียและอิรักจึงมีการนำแผนยุทธการเหลียวเสิ่นของประธานเหมาเจ๋อตุงในสงครามปลดแอกประเทศจีน ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกระทำต่อพรรคก๊กมินตั๋งในภาคอีสานและได้ชัยชนะอย่างงดงาม
หลักยุทธการที่สำคัญของยุทธการเหลียวเสิ่นคือ “ตีแต่ไม่ล้อม” และ “ล้อมแต่ไม่ตี” ตามสภาพการณ์ที่เป็นจริงของพื้นที่ โดยได้ใช้หลักยุทธการตีแต่ไม่ล้อมในดินแดนของซีเรีย และใช้หลักยุทธการล้อมแต่ไม่ตีในดินแดนของอิรัก
เนื่องจากสภาพของซีเรียนั้นเป็นเอกภาพ ผู้นำซีเรียได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งรัฐบาลและฝ่ายศาสนามีความเป็นเอกภาพ ดังนั้นรัสเซียจึงออกหน้าได้เต็มที่และเปิดสงครามขับไล่ผู้รุกรานอย่างต่อเนื่อง ยึดคืนดินแดนจำนวนมากที่ถูกยึดครองไป จนกล่าวได้ว่ายุทธการตีแต่ไม่ล้อมในซีเรียประสบความสำเร็จขั้นใหญ่ กระทั่งซีเรียสามารถตั้งรับกับยุทธวิธีชิงโจมตีแบบสายฟ้าแลบของอิสราเอลอย่างได้ผล
แต่ในอิรักนั้นแตกต่างกัน ฝ่ายรัฐบาลมีลักษณะโลเล ตีสองหน้า และฝ่ายศาสนาก็เป็นแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถทำสงครามใหญ่ในลักษณะบัญชาการที่เป็นเอกภาพได้ ลักษณะสงครามจึงเป็นสงครามแบบจรยุทธ์ โดยใช้ยุทธศาสตร์สงครามยืดเยื้อเพื่อทำให้กำลังของผู้รุกรานอ่อนแอลงโดยลำดับ
อิรักได้รับความเสียหาย ทั้งบ้านเมืองถูกทำลาย ประชาชนล้มตายบาดเจ็บจำนวนมาก และทรัพยากรสำคัญคือน้ำมันถูกปล้นสะดมเอาไปทุกวัน สร้างความโกรธแค้นเกลียดชังให้กับประชาชาติอิรักอย่างล้นเหลือ จึงมีผู้เข้าชื่ออาสาสมัครเพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือที่เรียกว่าจีฮัดเพื่อยึดดินแดนคืนจากผู้รุกราน โดยมีเป้าหมายพร้อมที่จะพลีชีพเพื่อเข้าถึงสภาวะที่เรียกว่าชาฮีดหรือนักบุญถึง 4 ล้านคน
ประชาชนต้องการปลดแอกประเทศชาติจึงชิงชังรังเกียจรัฐบาลตีสองหน้า ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจึงเกิดเหตุการณ์แลนด์สไลด์ขึ้นในอิรัก พรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีแนวทางปลดแอกอิรักได้รับชัยชนะอย่างล้นหลาม และสามารถจัดตั้งประชาชนของอิรักขึ้นได้สำเร็จ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการทำสงครามปลดแอกอิรัก
แต่รัฐบาลนั้นก็ไม่สามารถขับเคลื่อนการต่อสู้ได้อย่างเต็มที่เพราะเนื่องจากฝ่ายศาสนาไม่เป็นเอกภาพ จึงไม่สามารถรวมศูนย์บรรดาเหล่านักรบจีฮัดเข้าสู่สมรภูมิได้อย่างเป็นแบบแผน ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างรบ ต่างคนต่างตีสองหน้า จึงทำให้สงครามยืดเยื้อและเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนในที่สุดฝ่ายศาสนาก็ทนไม่ไหว