จีนพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกเร็วกว่าเสียง 2.5 เท่า บินระดับเดียวกับเครื่องบินก่อนมุดลงใต้ทะเลก่อนถึงเป้าหมาย หลังหลบเรดาร์เพื่อโจมตีเรือรบ
.
รายงานจากเว็บไซต์ South China Morning Post สื่อภาษาอังกฤษในฮ่องกง อ้างทีมนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติเทคโนโลยีกลาโหม ในมณฑลเหอหนานของจีนที่ระบุว่า ในตอนนี้ทางการจีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นใหม่ สำหรับการโจมตีเรือรบโดยเฉพาะ
.
โดยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกดังกล่าว จะมีความยาวประมาณ 5 เมตร เคลื่อนที่เร็วกว่าเสียงราว 2.5 เท่า และสามารถเคลื่อนที่ด้วยความสูงระดับเดียวกับเครื่องบินพาณิชย์ทั่วไป ก่อนจะหลบเลี่ยงไปเคลื่อนที่ใต้ทะเลแบบเดียวกับตอร์ปิโด เมื่อเข้าใกล้เป้าหมายในระยะ 10 กิโลเมตร เพื่อให้อาวุธดังกล่าวสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ข้าศึก
นายหลี่ เผิงเฟย หัวหน้าทีมวิจัยอ้างว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีระบบป้องกันทางเรือใดที่สามารถยับยั้งอาวุธที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาได้ เนื่องจากอาวุธนี้มีจุดเด่นที่ความรวดเร็ว และมีวิถีการยิงหลายรูปแบบ ทั้งการเคลื่อนที่ในอากาศและการเคลื่อนที่ในน้ำ
.
ทีมวิจัยได้เปิดเผยการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกนี้ผ่านวารสาร ‘Solid Rocket Technology’ ของสมาคมการบินอวกาศแห่งชาติจีนเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยในรายงานยังชี้ว่า อาวุธนี้จะใช้ธาตุโบรอนเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
.
โดยก่อนหน้านี้ โบรอนเป็นธาตุที่เคยถูกนำมาพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอากาศยานมาแล้ว ทั้งในกองทัพอากาศสหรัฐฯ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 อย่างไรก็ตาม ธาตุดังกล่าวมีข้อจำกัดเรื่องการควบคุม รวมไปถึงการใช้โบรอนยังส่งผลให้เครื่องยนต์สึกหรอ
.
จนกระทั่งในระยะหลัง มีรายงานจากทางการจีนว่า กำลังเดินหน้าพัฒนาอากาศยานที่ใช้โบรอนเป็นเชื้อเพลิงได้ โดยโบรอนจะทำให้อากาศยานทำความเร็วกว่าเสียงถึง 5 เท่าตัว
.
ความคืบหน้าการพัฒนาโบรอนเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เริ่มมีเสียงกังวลจากนักวิจัยที่ชี้ว่า ในอนาคตโบรอนอาจเป็นหนึ่งวัตถุดิบที่อยู่ในสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เนื่องจากจีนต้องพึ่งพาโบรอนจากต่างประเทศราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่ราคาของโบรอนก็สูงกว่าธาตุอื่น เช่น อะลูมิเนียมถึง 100 เท่า
.
ที่มา South China Morning Post