ไบเดน แนะผู้นำอิสราเอล ยกเลิกแผนปฏิรูปตุลาการ
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แผนปฏิรูประบอบตุลาการของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ทำให้เกิดการประท้วงมานานกว่าสองเดือน และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการผละงานประท้วงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีเสียงเรียกร้องให้เนทันยาฮูลาออกจากตำแหน่ง
แม้ว่าล่าสุดเขาได้ประกาศพักแผนนี้เป็นการชั่วคราว แต่หลายฝ่ายก็ยังคงจับตามองด้วยความไม่ไว้วางใจ
ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แนะนำให้เนทันยาฮู ยกเลิกแผนปฏิรูปตุลาการที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งร้าวลึก เกิดความไม่สงบในประเทศมานานหลายเดือน ซึ่งขณะนี้ถูกระงับชั่วคราว
ไบเดน ระบุว่า เขาก็เหมือนกับผู้สนับสนุนอิสราเอลอีกหลายราย ที่รู้สึกเป็นห่วงอิสราเอลมาก และหวังว่านายกรัฐมนตรีอิสราเอล จะพยายามประนีประนอมอย่างแท้จริง แต่ก็ยังต้องรอดูกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่ได้พิจารณาที่จะเชิญผู้นำอิสราเอลไปที่ทำเนียบขาว อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้น ขณะที่เนทันยาฮูถูกถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่า ใช้ความรุนแรงเหนือประชาธิปไตยของอิสราเอล เพื่อพยายามเสริมสร้างอำนาจของตัวเอง นำไปสู่การประท้วงและการนัดหยุดงานที่ทำให้เป็นอัมพาตทั่วประเทศ
ด้านเนทันยาฮูออกแถลงการณ์ตอบโต้ประธานาธิบดีไบเดนอย่างรวดเร็ว ระบุว่า
อิสราเอลเป็นประเทศอธิปไตยที่ตัดสินใจโดยความประสงค์ของประชาชนและไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงกดดันจากต่างประเทศ แม้แต่จากเพื่อนที่ดีที่สุดอย่างสหรัฐฯ ก็ตาม
พร้อมระบุว่า เขารู้จักประธานาธิบดีไบเดนมากว่า 40 ปี และซาบซึ้งในความมุ่งมั่นที่ไบเดนมีต่ออิสราเอลมาอย่างยาวนาน พร้อมยืนยันว่า พันธมิตรอิสราเอล-สหรัฐฯ ไม่มีวันแตกหัก โดยมักจะก้าวข้ามความไม่ลงรอยเป็นครั้งคราวระหว่างกันได้
นอกจากนี้ เนทันยาฮูยังกล่าวว่า รัฐบาลของเขาพยายามที่จะปฏิรูปตุลาการ “ผ่านฉันทามติในวงกว้าง”
อิสราเอลประท้วงต้านแผนปฏิรูประบอบตุลาการ
เหตุประท้วงครั้งใหญ่เริ่มขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีอิสราเอล พยายามผลักดันแผนปฏิรูประบอบตุลาการ โดยกฎหมายฉบับแรกที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ ได้ผ่านสภาไปเรียบร้อย เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการคัดค้านของหลายคนในรัฐบาล
โยอาฟ กัลแลนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้เนทันยาฮูล้มเลิกแผนดังกล่าวทันที ชี้ว่าเป็นการทำลายความมั่นคงของชาตินำประเทศกลับสู่กลียุค เนื่องจากเจ้าหน้าที่กองทัพมีความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับกฎหมายนี้
เนทันยาฮูจึงประกาศปลดกัลแลนท์ออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ให้ประชาชนโกรธแค้นและออกมาประท้วงกันมากขึ้น
นครเยรูซาเลมมีการประท้วงที่ใหญ่ที่สุด ประชาชนนับหมื่นคนออกมาประท้วง และมีรายงานว่าผู้คนหลากหลายอาชีพประท้วงในหลายเมืองเช่นกัน
แผนปฏิรูปตุลาการคืออะไร ทำไมผู้คนจึงออกมาประท้วง?
สาระสำคัญของแผนดังกล่าว คือ การเปลี่ยนแปลงอำนาจและที่มาของฝ่ายตุลาการ เช่น เพิ่มอำนาจให้สภาลบล้างคำตัดสินของศาลได้ หากผ่านเสียงข้างมาก 61 เสียงจากทั้งหมด 120 เสียง และเปลี่ยนระบบการแต่งตั้งผู้พิพากษา ให้รัฐบาลแต่งตั้งบุคคลสาธารณะขึ้นมา 2 คนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการสรรหาผู้พิพากษา จากเดิมที่ให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษาที่อยู่ในตำแหน่ง และผู้เกี่ยวข้องฝ่ายนิติบัญญัติอื่น ๆ เป็นผู้คัดเลือก
เนทันยาฮูชี้ว่า แผนปฏิรูปของเขาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อควบคุมบรรดาผู้พิพากษานักเคลื่อนไหว รวมทั้งเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของฝ่ายบริหารและตุลาการ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากมองว่า นี่เป็นความพยายามลดทอนอำนาจตุลาการ เพื่อช่วยให้นายเนทันยาฮูรอดพ้นจากการตรวจสอบในข้อหาคอร์รัปชัน และการตรวจสอบอื่น ๆ ในอนาคต
ขณะที่นักวิจารณ์มองว่า แผนปฏิรูปตุลาการจะยิ่งให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีมากเกินไป และจะกระทบต่อความเป็นอิสระของระบบตุลาการได้ รวมถึงชี้ว่า เขาพยายามผลักดันการปฏิรูปดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีทุจริตของตัวเขาเองด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ได้ประกาศเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูประบบยุติธรรม เพื่อหวังจำกัดการใช้อำนาจของศาล ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคของเขายกขึ้นมาหาเสียง และผ่านการเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชน จึงหวังจะผลักดันให้สำเร็จ
ขณะที่ตัวของเขาเองก็มีคดีติดตัวหลายข้อกล่าวหา รวมถึงทุจริตและรับสินบนด้วย แต่เขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ผู้นำอิสราเอลพักแผนปฏิรูปศาลชั่วคราว
แม้แต่ ประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซอก แห่งอิสราเอล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ให้ระงับแผนปฏิรูประบบตุลาการเอาไว้ก่อน หลังเกิดการประท้วงไปทั่วประเทศเป็นสัปดาห์ที่ 10 แล้ว และความรุนแรงก็นับวันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยปกติแล้ว ประธานาธิบดีของอิสราเอล มีบทบาทด้านงานพิธีการ และจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของประธานาธิบดีอิสราเอลชี้ให้เห็นว่า แผนปฏิรูปตุลาการของเนทันยาฮูสร้างรอยร้าวให้กับสังคมอย่างมาก
ในที่สุดนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ได้ประกาศว่า กำลังหยุดแผนปฏิรูปตุลาการเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน และจะประนีประนอมในการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามในรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม หนึ่งวันหลังเนทันยาฮูประกาศพักแผนดังกล่าว ผู้ประท้วงหลายร้อยคนออกมาชุมนุมตามท้องถนนอีกครั้ง เพราะยังมองว่าความเคลื่อนไหวของเขาเป็นแค่การซื้อเวลา และเพื่อกดดันนักการเมืองให้ถอนแผนปฏิรูปดังกล่าวออกจากสภาดวย
สำนักข่าวบีบีซีของสหราชอาณาจักร มองว่า ไม่มีสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะถอยเมื่อรัฐสภามีการประชุมอีกครั้งในเดือนหน้า เนทันยาฮูจะสามารถหาทางประนีประนอม เพื่อให้เขาอยู่ในอำนาจโดยไม่ทำให้สังคมอิสราเอลแตกแยกได้
ผลสำรวจความคิดเห็นโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 12 ที่ได้ความนิยมสูงสุดพบว่า ชาวอิสราเอล 68% ตำหนิเนทันยาฮูสำหรับวิกฤตนี้ และหากมีการเลือกตั้งในวันนี้ เนทันยาฮูและพันธมิตรของเขาจะพ่ายแพ้
ห่างจากการประท้วง ประชาชนบางส่วนบอกว่า พวกเขาเบื่อกับความไม่สะดวกของการประท้วง หรือสนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนี้แล้ว
อ้างอิง: