บริษัทเทคโนโลยีอาวุธอเมริกา เจรจาเวียดนาม เตรียมขายอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์และโดรน
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริษัทด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ได้เจรจาหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเวียดนาม เกี่ยวกับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทางหาร รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์และโดรน ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว 2 รายที่ทราบเรื่องการเจรจาดังกล่าว ซึ่งนับเป็นสัญญาณใหม่ที่ว่า เวียดนามอาจลดการพึ่งพาอาวุธของรัสเซียก็ได้
บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน Lockheed Martin (LMT.N) บริษัทโบอิ้ง Boeing (BA.N) บริษัทเรย์ธีออน Raytheon (RTX.N) บริษัทเท็กซ์ตรอน Textron (TXT.N) และบริษัทไอเอ็ม ซีสเต็มส์ กรุ๊ป IM Systems Group ได้พบหารือกับเจ้าหน้าที่ของเวียดนามนอกรอบงานแสดงอาวุธขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการรายงานของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ที่จัดการพบหารือดังกล่าว
แหล่งข่าวที่เข้าร่วมการเจรจาด้านอาวุธระบุว่ากระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และกระทรวงกลาโหมมีส่วนร่วมในการเจรจาดังกล่าวด้วย
การหารือเบื้องต้นนี้ที่ไม่อาจนำไปสู่ข้อตกลงใดๆ มีขึ้นในขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังแสวงหาผู้จัดหาอาวุธรายใหม่ และเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งยูเครนที่ขัดขวางขีดความสามารถของรัสเซีย ที่เป็นพันธมิตรทางทหารหลักของเวียดนามมานานหลายทศวรรษ โดยสงครามที่มอสโกเรียกว่า ‘ปฏิบัติการพิเศษ’ ได้ก่อให้เกิดการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มงวด
“นี่เป็นจุดเริ่มต้นของกองทัพประชาชนเวียดนามที่เปิดใจกว้างมากขึ้นต่ออาวุธของสหรัฐฯ และความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ในด้านการป้องกันโดยรวม” เหวียน เท้ เฟือง ผู้เชี่ยวชาญทางทหารและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ กล่าว
นักวิเคราะห์ระบุว่า ข้อตกลงทางทหารกับสหรัฐฯ อาจเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งกรณีที่วอชิงตันอาจขัดขวางการขายอาวุธอันเนื่องจากประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดของฮานอยกับจีน ค่าใช้จ่ายสูง และระบบที่ผลิตโดยสหรัฐฯ จะสามารถผนวกเข้ากับอาวุธดั้งเดิมของเวียดนามได้หรือไม่
บุคคลที่เข้าร่วมการประชุมหารือกล่าวว่าบริษัทต่างๆ ได้เสนออุปกรณ์ทางทหารหลากหลายประเภท และได้หารือเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ไม่ทำอันตรายถึงตาย ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์สำหรับการรักษาความมั่นคงภายใน โดรน เรดาร์ และระบบอื่นๆ เพื่อการเฝ้าระวังทางอากาศ ทะเล และอวกาศ
ส่วนแหล่งข่าวอีกรายที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าวว่า การหารือเรื่องโดรนและเฮลิคอปเตอร์เริ่มขึ้นก่อนงานแสดงอาวุธ และเกี่ยวข้องกับอาวุธจำนวนมาก
กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นของรอยเตอร์ในประเด็นนี้ ขณะที่บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งจัดแสดงเครื่องบินรบและเครื่องบินขนส่งทางทหารที่งาน ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
ด้านโฆษกบริษัทโบอิ้งได้ส่งคำถามไปยังกระทรวงกลาโหม ส่วนเรธีออน เท็กซ์ตรอน และไอเอ็ม ซีสเต็มส์ กรุ๊ป ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นเช่นกัน
การหารือดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามามีอิทธิพลกับเวียดนาม หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามมานานเกือบครึ่งศตวรรษ และนับตั้งแต่ยกเลิกการห้ามค้าอาวุธในปี 2559 การส่งออกด้านการป้องกันของสหรัฐฯ มายังเวียดนามถูกจำกัดอยู่แค่เรือยามฝั่งและเครื่องบินฝึก ขณะที่อาวุธในคลังแสงของเวียดนามราว 80% รัสเซียเป็นผู้จัดหาให้
งานแสดงอาวุธดึงดูดบริษัทด้านการป้องกันได้หลายสิบแห่งจาก 30 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดต่างหวังที่จะได้ส่วนแบ่งจากงบประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่เวียดนามใช้จ่ายต่อปีในการนำเข้าอาวุธท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน
แหล่งข่าวทั้ง 2 รายที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เนื่องจากการหารือเป็นความลับ กล่าวว่าบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ได้แยกหารือกับเวียดนามเกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสารและการป้องกันตัวใหม่ ซึ่งสามารถแทนที่หนึ่งใน 2 ดวงจากบริษัทสหรัฐฯ ที่ฮานอยได้ดำเนินการอยู่แล้ว
สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะหารือเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางทหารใดๆ ก็ตามที่เวียดนามอาจต้องการซื้อ
กองทัพสหรัฐฯ ได้จัดหาเรือยามฝั่งขนาดค่อนข้างเล็ก 2 ลำ และส่งมอบเครื่องบินฝึก T-6 Texan จำนวน 2 ลำ จากทั้งหมด 10 ลำที่จะส่งให้ภายในปี 2570 และยังให้คำมั่นว่าจะจัดหาโดรนลาดตระเวน ScanEagle ของโบอิ้งให้เวียดนาม
แหล่งข่าวและนักวิเคราะห์ระบุว่า เวียดนามยังกำลังพิจารณาข้อตกลงกับซัปพลายเออร์จากอิสราเอล อินเดีย และประเทศในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของเวียดนามรองจากรัสเซีย
อ้างอิง