‘จิราพร-ชญาภา’ ควง ‘เศกสิทธิ์’ ว่าที่นายกฯ อบจ.ร้อยเอ็ด เยี่ยมประชาชนหลังถูก ‘พายุโนรู’ พัดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์เสียหาย วอนรัฐบาลเร่งช่วย
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2565 จิราพร สินธุไพร ส.ส. จ.ร้อยเอ็ด เขต 5 และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ ว่าที่ นายก อบจ.ร้อยเอ็ด เอมอร สินธุไพร อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย พร้อมผู้นำชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องประชาชนที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ที่ถูกน้ำท่วมพื้นที่จากผลกระทบจากพายุโนรู เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวรับน้ำมาจากลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ปริมาณฝนตกสะสมในปริมาณมาก จนทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และท่วมไร่นาพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องประชาชน ตำบลสามขา ตำบลท่าหาดยาว ตำบลยางคำ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
เบื้องต้น จิราพร ได้ประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้การเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว ซึ่งพบว่าหน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีความใส่ใจเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างดี แต่ให้ความช่วยเหลือโดยการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเท่านั้น
จิราพร กล่าวว่า จากการพูดคุยสอบถามพี่น้องประชาชนพบว่า พวกเขาต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากอีก เป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนต้องพบเจอเกือบทุกปี เมื่อประกอบกับโรคโควิด-19 และโรคลำปีสกินก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบาก ยิ่งถูกซ้ำเติม จึงแทบจะไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำมี 2 เรื่อง ได้แก่
ระยะสั้น แก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
1. นำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภคพื้นฐานมาแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น แม้ทางอำเภอโพนทรายจะนำมาแจกจ่ายบ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้น
2. พี่น้องประชาชนที่ได้อพยพสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย หนีน้ำท่วม ต้องการหญ้าแห้งเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในเบื้องต้น ได้ประสานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือบ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะคาดว่าน้ำจะท่วมขังหลายสัปดาห์
3. ไม่มีสุขาใช้ โดยนายเศกสิทธิ์ จะประสาน อบจ.ร้อยเอ็ด นำสุขาน็อคดาวน์มาติดตั้ง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
4. บางหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมขังนานนับสัปดาห์ เริ่มส่งกลิ่นเหม็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งป้องกันเรื่องโรคระบาด
ระยะการเยียวยา
1. รัฐบางต้องเร่งวางมาตรการเยียวยาพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
2. การซ่อมบำรุงถนนและเส้นทางการคมนาคมในท้องถิ่นที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วม
3. การวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง
“ชาวบ้านทั้งเบื่อหน่าย ทั้งชาชินกับน้ำท่วม น้ำแล้ง วนลูปเกือบทุกปี จนแทบไม่กลัวแล้วว่าน้ำจะท่วมบ้าน แต่กลัวน้ำท่วมนา เป็นตลกร้ายที่ไม่ควรเกิดขึ้น ตอนน้ำไม่ท่วม ทำการเกษตรก็ต้องเจอต้นทุนการผลิตสูง ปุ๋ยที่มีราคาแพง แต่ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านกัดฟันกู้เงินมาลงทุนทำนา แต่ต้องเจอกับน้ำท่วม ไม่รู้จะเอาที่ไหนไปใช้หนี้ ชีวิตวนเวียนอยู่แต่กับความทุกข์ยากขมขื่น ยิ่งปีนี้มีข้อจำกัดทางกฎหมายของ กกต. ใน 180 วัน ส.ส.หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนได้ ส่วนนายก อบจ.ร้อยเอ็ด กกต. ก็ยังไม่รับรอง แต่ก็ไม่นิ่งดูดายต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ยังพยายามช่วยเหลือประสานงานช่วยพี่น้องอย่างเต็มที่ ทุกคนช่วยกันเต็มที่แล้ว แล้วพลเอกประยุทธ์ทำอะไรอยู่ อยู่มา 8 ปี แต่ไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเป็นรูปธรรม ถ้าทำได้แค่นี้ก็อย่ากอดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้อีกเลย” จิราพร กล่าว