วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลก และสงครามในยูเครน เป็นประเด็นที่สำคัญในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 77
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 77 (UNGA77) ได้เริ่มขึ้นแล้วที่มหานครนิวยอร์กในสัปดาห์นี้ ผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ จะร่วมหารือในระดับสูงตั้งแต่วันอังคารที่ 20 กันยายนถึงวันจันทร์ที่ 26 กันยายน เรามาดูกันว่า การประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง
บรรดาผู้นำรัฐบาลนานาประเทศต่างเดินทางเข้าร่วมในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 77 ในสัปดาห์นี้ (20-26 ก.ย.) โดยจะมี “วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลกและสงครามในยูเครน” เป็นประเด็นหารือที่สำคัญ
ทั้งนี้ นายอันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ตัดสินใจไม่เดินทางไปร่วมถวายอาลัยต่อพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเขาจำเป็นต้องอยู่ที่นิวยอร์กเพื่อต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศและร่วมประชุมด้านการศึกษาในวันจันทร์นี้ (19 ก.ย.) ก่อนที่จะเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปี หรือ UNGA (United Nations General Assembly) ครั้งที่ 77 ในเช้าวันอังคาร (20 ก.ย.)
นายราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA (International Atomic Energy Agency) กล่าวว่า สถานการณ์ในยูเครนทำให้โลกเหมือนกับกำลังเล่นอยู่กับไฟในเวลานี้ นั่นคือเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ “ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชียกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย” กรอสซีกล่าว
อีกประเด็นสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกต่างพยายามหาทางช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน
นายริชาร์ด โกวาน ผู้อำนวยการองค์กร International Crisis Group เปิดเผยว่า หลายชาติในแอฟริกาและเอเชียต่างมีความสัมพันธ์ทางทหารหรือทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย แม้ว่าประเทศเหล่านี้ต้องการตำหนิวิจารณ์รัสเซียที่ส่งกำลังเข้าบุกรุกยูเครน แต่พวกเขาก็ไม่อยากสร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลรัสเซียในที่ประชุมยูเอ็นเช่นกัน
ด้านนายอันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เชื่อว่า โอกาสที่จะเกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในตอนนี้ ค่อนข้างริบหรี่ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ สงครามดังกล่าวได้ก่อให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วโลก ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็ยิ่งทำให้วิกฤตดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งกำลังประสบภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
รายงานระบุว่า ประชาชนแอฟริการาว 20 ล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงจากความอดอยากหิวโหยอย่างสาหัส และภัยแล้งก็กำลังคุกคามประชากรเกือบ 8 ล้านคนในโซมาเลีย
No Result
View All Result