ยูเครน ปิดท่อส่งน้ำมันของรัสเซียที่ป้อนสู่ยุโรปกลาง
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ยูเครนปิดท่อส่งน้ำมันของรัสเซียที่ป้อนสู่ยุโรปกลางมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกเอง ขวางเคียฟไม่ให้รับชำระค่าขนส่งจากมอสโก จากการเปิดเผยของ ทรานส์เนฟต์ บริษัทท่อส่งน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซียในวันอังคาร (9 ส.ค.)
.
ยุโรปพึ่งพิงน้ำมันดิบ ดีเซล ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ของรัสเซียเป็นอย่างมาก และราคาพลังงานพุ่งทะยานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากปัญหาขาดแคลนอุปทาน ด้วยที่ยุโรปพยายามดิ้นรนหาแหล่งพลังงานทางเลือกมาทดแทนพลังงานของรัสเซีย
.
ล่าสุด มีรายงานว่ายูเครนระงับกระแสน้ำมันของท่อลำเลียงดรูซบา ที่ป้อนสู้พื้นที่ต่างๆ ในยุโรปกลาง สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ขัดขวางไม่ให้มอสโกชำระค่าลำเลียงก๊าซผ่านประเทศของพวกเขา ความเคลื่อนไหวที่ส่อแววซ้ำเติมความกังวลเกี่ยวกับอุปทานพลังงาน กระแสน้ำมันเส้นทางล่องใต้ของท่อลำเลียงดรูซบาได้รับผลกระทบ แต่เส้นทางขึ้นเหนือที่ให้บริการโปแลนด์และเยอรมนี ไม่ประสบปัญหาติดขัดแต่อย่างใด
.
การระงับกระแสน้ำมันผ่านท่อลำเลียงแห่งนี้ในวันอังคาร (9 ส.ค.) จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างเช่น สโลวะเกีย ฮังการีและสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งทั้งหมดต้องพึ่งพิงน้ำมันดิบรัสเซียเป็นอย่างมาก และมีศักยภาพอย่างจำกัดในการนำเข้าอุปทานทางเลือกอื่นทางทะเล ด้าน MOL บริษัทพลังงานของฮังการี และ Transpetrol บริษัทผู้ดูแลท่อลำเลียงในสโลวะเกีย ยืนยันว่ากระแสน้ำมันหยุดชะงักมาหลายวันแล้ว สืบเนื่องจากประเด็นการชำระเงินค่าลำเลียง
.
ทั้งนี้ MOL เผยว่าพวกเขาใช้คลังสำรองมาหลายสัปดาห์แล้วและกำลังดำเนินการเพื่อหาทางออก ส่วน Slovnaft โรงกลั่นน้ำมันของ MOL เผยว่าพวกเขาได้ปรึกษาหารือในเบื้องต้นกับพันธมิตรยูเครนและรัสเซียไปแล้ว เกี่ยวความเป็นไปได้ของการที่จะชำระค่าลำเลียงโดย Slovnaft หรือ MOL
.
ฮังการี เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพิงน้ำมันรัสเซียมากที่สุด และรัฐบาลของพวกเขาล็อบบี้อย่างหนัก จนได้ข้อยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรที่อียูกำหนดเล่นงานมอสโก โดย ฮังการี สามารถนำเข้าน้ำมันดิบผ่านท่อลำเลียงอาเดรีย ที่เชื่อมสถานีน้ำมัน Omisalj ในโครเอเชีย กับโรงกลั่นน้ำมัน Duna ในฮังการี แต่ศักยภาพของเส้นทางลำเลียงนี้มีอย่างจำกัด และขนส่งก็แพงกว่าผ่านท่อลำเลียงดรูซบาค่อนข้างมาก ในส่วนของสโลวะเกีย ทางเลือกสำหรับแหล่งนำเข้าน้ำมันถือว่าน้อยนิดยิ่งกว่า เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันผ่านฮังการี
.
ด้าน MERO บริษัทท่อลำเลียงของสาธารณรัฐเช็ก เผยว่าพวกเขามีสต๊อกน้ำมันที่ใช้งานได้ไปอย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนสิงหาคม และปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีแผนระบายคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ที่มีอยู่เกือบๆ 90 วัน ท่ามกลางความคาดหมายว่าอุปทานน้ำมันรัสเซียที่จ่ายผ่านท่อลำเลียงดรูซบามายังสาธารณรัฐเช็ก จะกลับมาอีกรอบภายในไม่กี่วันนี้
.
Transneft ของรัสเซียบอกว่าพวกเขาได้ชำระเงินค่าขนส่งน้ำมันงวดเดือนสิงหาคม ให้แก่ UkrTransNafta บริษัทผู้ดูแลท่อลำเลียงของยูเครนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม แต่เงินจำนวนดังกล่าวถูกส่งกลับมาในวันที่ 28 กรกฎาคม เนื่องจากการชำระเงินไม่ผ่านการอนุมัติ จนกระทั่งยูเครนระงับกระแสน้ำมันของรัสเซีย ที่จ่ายผ่านท่อลำเลียงป้อนสู่ยุโรปกลาง ในวันที่ 4 สิงหาคม
.
ถ้อยแถลงของ Transneft ระบุ ก๊าซพรอมแบงก์ ซึ่งรับทำธุรกรรมการชำระเงิน แจ้งมาว่าเงินดังกล่าวถูกตีกลับ สืบเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ของสหภาพยุโรป ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ธนาคารต่างๆ ของยุโรปจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จากเดิมที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าจะอนุญาตให้มีการทำธุรกรรมหรือไม่
.
ด้วยปัจจุบันทางคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของสหภาพยุโรปยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ สำหรับทุกธนาคาร ดังนั้นการทำธุรกรรมจึงเผชิญความยุ่งยากซับซ้อน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ฮังการี สโลวะเกีย และสาธารณรัฐเช็ก หันพึ่งอุปทานน้ำมันดิบอูราลของรัสเซียผ่านท่อลำเลียงดรูซบามากยิ่งขึ้น และลดการซื้อน้ำมันทางทะเล
.
ปัญหาติดขัดด้านการชำระค่าขนส่งนี้มีขึ้น หลังจาก รัสเซีย ชาติผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ได้จ่ายกระแสก๊าซผ่านท่อลำเลียงป้อนสู่หลายชาติสมาชิกอียูในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก โดยอ้างปัญหาการซ่อมบำรุงกังหันแปลงก๊าซของท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 เช่นเดียวกับมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโก
——————————-
แหล่งข่าว
https://www.reuters.com/business/energy/russia-suspends-oil-exports-via-southern-leg-druzhba-pipeline-due-transit-2022-08-09/
https://www.aljazeera.com/news/2022/8/9/russian-oil-transit-via-ukraine-halted-due-to-western-sanctions
https://mgronline.com/around/detail/9650000076105