อียูสานสัมพันธ์ไต้หวัน หนุนประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป หรือ อียู เดินทางเยือนเกาะไต้หวัน พร้อมย้ำว่า ยุโรปจะหนุนประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างเต็มที่
นิโคลา เบียร์ สมาชิกสภายุโรป ที่อยู่ระหว่างการเยือนเกาะไต้หวันเป็นเวลา 3 วัน ประกาศว่า ยุโรป และไต้หวัน จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับความท้าทายหลายด้านที่เกิดขึ้นบนโลก โดยที่ทั้งสองนั้นเป็น “ครอบครัวของระบอบประชาธิปไตย”
“การเบ่งบานของไต้หวัน ก็เหมือนกับการเบ่งบานของยุโรป…เราจะไม่ปิดหูปิดตาเรื่องภัยคุกคามจีนต่อไต้หวัน…ที่ผ่านมายุโรปมีปฏิกิริยาต่อกรณีฮ่องกงช้าเกินไป แต่เราจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับไต้หวัน” เบียร์ กล่าว
การเยือนไต้หวันของเบียร มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกัน ในขณะที่เกิดภัยคุกคามกรณีรัสเซียแทรกแซงยูเครน
เบียร์ ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี ซู เจิง-ชาง ซึ่งเธอย้ำว่า ยุโรปต้องการอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมในสถาบันระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับไต้หวัน
ขณะที่ไม่นานมานี้ รัฐสภายุโรปเองได้ผ่านแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อไต้หวันหลายเรื่อง และเธอมีตารางพบกับประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวัน เพื่อหารือประเด็นความมั่นคง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนต่อด้วย
ในมุมมองของยุโรป ไต้หวัน ซึ่งมีประชากร 23 ล้านคน เผชิญกับความตึงเครียด และต้องอยุ่ภายใต้ภัยคุกคามจากจีน ที่ย้ำมาตลอดว่าไต้หวันคือมณฑลหนึ่งของจีน ไม่ถือว่าเป็นรัฐที่ปกครองตนเองอย่างอิสระ
เบียร์ ระบุว่า ในภาวะที่รัสเซียกำลังแทรกแซงยูเครน ก็ยิ่งสร้างความกังวลว่า จีนอาจดำเนินการทางทหารแทรกแซงไต้หวันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถคว้าชัยในศึกครั้งนี้ได้ ก็จะยิ่งชัดเจนว่า จีนอาจดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
แต่เบียร์ย้ำว่า “จะไม่มีช่องว่าให้กับความก้าวร้าวของจีนต่อประชาธิปไตยของไต้หวัน อย่างน้อยก็ในเวลานี้ ที่เราเผชิญสงครามในยุโรป…ซึ่งเราไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในเอเชีย”
อดีตรมว.กลาโหมสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มาร์ก เอสเปอร์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็อยู่ที่เกาะไต้หวันเช่นกัน โดยได้กล่าวกับนางไช่ ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกจาก “ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์” ซึ่งหมายถึงนโยบายสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน ที่ขาดความชัดเจนว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่อไต้หวันได้มากน้อยเพียงใด กรณีที่อาจเกิดการรุกรานจากจีน
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ยอมรับจีน และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน แต่ในขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เรียกความสัมพันธ์กับไต้หวันว่า “เป็นความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่แน่นแฟ้น” โดยสหรัฐฯ เป็นผู้จำหน่ายอาวุธรายใหญ่ให้กับไต้หวันมาอย่างยาวนาน เพื่อใช้สำหรับปกป้องตนเองจากภัยคุกคามจากจีน ที่ย้ำมาตลอดว่าจะเอาไต้หวันกลับคืน “หากจำเป็น”
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้ง โดยระบุถึง “ความมุ่งมั่น” ของสหรัฐฯ ที่จะปกป้องไต้หวัน หากถูกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนรุกราน ถึงกับต้องทำให้ทำเนียบขาวต้องรีบแถลงทันทีว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์แต่อย่างใด
เอสเปอร์ ระบุว่า การรุกรานยูเครน ของรัสเซีย เป็นตัวชี้ชัดแล้วว่า ทุกวันนี้ ฝ่ายเผด็จการยังคงเดินหน้าสร้างภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยของโลก
“แต่ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยในตะวันตกเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่จากรัสเซีย .. แต่คือที่นี่ ในเอเชีย.. ที่จีนเดินหน้าสร้างความท้าทายต่อระเบียบการระหว่างประเทศ และคุกคามเสรีภาพทั่วทั้งภูมิภาค .. จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยในยุโรปจะยืนหยัดและปกป้องประชาธิปไตย เช่น ไต้หวัน ต่อการรุกรานของจีน”
จีนพร้อมตอบโต้ หาก ‘เพโลซี’ เยือนไต้หวัน
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีรายงานว่า “แนนซี เปโลซี” ประธานสภาของสหรัฐฯ เตรียมเดินทางเยือนไต้หวันเร็ว ๆ นี้ด้วย
ทำให้จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาแถลงตอบโต้ทันที ระบุว่า ถ้าหากว่า “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน จะบ่อนทำลายอธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของจีนอย่างรุนแรง
รวมถึงจะกระทบอย่างหนักหน่วงต่อรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และจะเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ อย่างร้ายแรง ไปถึงกลุ่มเรียกร้องเอกราชในไต้หวัน
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวต่อไปว่า “แต่หากสหรัฐฯ ยังยืนกรานจะเดินไปในเส้นทางที่ผิดดังกล่าว จีนก็จะใช้มาตรการที่แรงและเด็ดขาด เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของจีน”