‘สหรัฐฯ’ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระทบ ‘เศรษฐกิจโลก’ ฟื้นตัว
.
เดอะ การ์เดียน สื่อสหราชอาณาจักร รายงานว่ากระแสข่าวธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
.
บทความโดยฟิลิปป์ อินแมน์ นักเขียนด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจแตะระดับเต็มจุด จะก่อให้เกิดผลกระทบอันเลวร้ายต่อสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่สหรัฐฯ มองข้ามอย่างเห็นแก่ตัว
.
อนึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (target federal funds rate) หนึ่งในสี่จุดจากระดับเกือบศูนย์เมื่อเดือนมีนาคม ถือเป็นการเริ่มใช้มาตรการอันรัดกุมเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
.
ต่อมาธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอีกครึ่งจุดเมื่อเดือนพฤษภาคม และปรับขึ้นอีกสามในสี่จุด หรือ 75 จุดพื้นฐาน (basis point) เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1994
.
อินแมนระบุว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับบรรดานักลงทุนในการเก็บเงิน โดยนักลงทุนจะต้องขายสกุลเงินของตนเองและซื้อเงินสกุลดอลลาร์เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งสูงยิ่งขึ้น
.
ขณะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ สินค้าและวัตถุดิบที่ขายในสกุลดอลลาร์ รวมถึงน้ำมัน มีราคาแพงขึ้นมาก และส่งผลให้ราคานำเข้า รวมถึงเงินเฟ้อสูงขึ้น
.
ส่วนการกู้ยืมในสกุลเงินดอลลาร์สูงขึ้นเช่นกัน โดยสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์กลายเป็นภาระที่ไม่แน่นอนต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
.
อินแมนระบุว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งจะล้มละลายเมื่อได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ประกอบกับการท่องเที่ยวสูญเสียรายได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
.
ทั้งนี้ อินแมนเสริมว่าสหรัฐฯ ไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงแนวทางดังกล่าว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ทราบดีว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่เกิดจากอุปทานไม่เพียงพอ ซึ่งมีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถรับมือได้ ทว่านั่นไม่ได้ดูเหมือนว่าจะยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลก ตกต่ำสู่ภาวะถดถอย