ดอกเบี้ย…อย่าขี้ตามช้าง!
โดย สิริอัญญา
วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2565
เหตุการณ์พิสดารในเรื่องการเงินและเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นในสหรัฐ และกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ โดยทั่วไป ยกเว้นประเทศที่รู้สภาพว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นก็จะสามารถเอาตัวรอดได้ และศูนย์รวมของเรื่องพิสดารดังกล่าวอยู่ที่ปรากฎการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างบ้าคลั่งชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ทำไมสหรัฐถึงต้องขึ้นดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ในอดีตนั้นในแต่ละปีจะมีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐเพียงปีละ 2-4 ครั้งเท่านั้น และโดยทั่วไปก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือถ้าจะขึ้นลงบ้างก็เป็นการปรับขึ้นลงในระดับ 0.25% เป็นอย่างมาก
และทุกครั้งที่มีการปรับดอกเบี้ยในสหรัฐก็จะส่งผลต่อตลาดหุ้น ต่อราคาสินค้า และต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐเองและบรรดาประเทศทั้งหลายที่ยึดถือเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสรณะ โดยที่สรณะดังกล่าวนั้นผู้ที่ยึดถือลืมคิดไปว่าแท้จริงแล้วเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเพียงเงินกงเต็กที่ไม่มีหลักประกันใดๆ หนุนหลังเหมือนกับเงินตราประเทศอื่นในโลกนี้ ซึ่งเขามีหลักประกันหนุนหลังเป็นประกันอยู่เหมือนกันทั้งโลก
สหรัฐทำได้ก็เพราะว่ามีบทบาทควบคุมประเทศผู้ผลิตน้ำมันให้ต้องขายน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์เท่านั้น จึงทำให้ประเทศทั้งหลายต้องแสวงหาเงินดอลลาร์เพื่อเอาไปซื้อน้ำมัน ความต้องการดอลลาร์ก็อยู่ตรงนี้
แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังจากเกิดสงครามยูเครนได้เกิดการปะทะกันระหว่างขั้วนาโต้และขั้ว SCO หรือขั้วองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ในทุกมิติ รวมทั้งค่าเงินด้วย
SCO ประสบความสำเร็จในการดึงกลุ่มประเทศโอเปกมาเป็นพวก และเปิดรับการค้าน้ำมันด้วยเงินสกุลอื่น โดยเฉพาะเงินหยวนและเงินรูเบิล จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐลดปริมาณการใช้ลง ในขณะที่สหรัฐได้พิมพ์เงินดอลลาร์ออกใช้ตามอำเภอใจในจำนวนที่สูงมากถึง 33 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อประเทศทั้งหลายสามารถใช้เงินหยวนและเงินรูเบิลซื้อหาน้ำมันได้และประเทศกลุ่ม SCO ก็ตกลงทำมาค้าขายกันด้วยสกุลเงินของกลุ่ม SCO และพากันเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างขนานใหญ่ ดังนั้นจึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย คือเมื่อเทียบค่ากับเงินรูเบิลของรัสเซียแล้วกลับอ่อนตัวลงหลายเท่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดังนั้นเพื่อจะทำให้ประเทศต่างๆ และนักลงทุนทั้งหลายถือดอลลาร์ต่อไปหรือซื้อดอลลาร์มาลงทุนไว้ต่อไปจึงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันอุตลุดชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงทำให้การลดค่าของเงินดอลลาร์ค่อยๆ ชะลอตัวลง แต่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเมื่อค่าเงินดอลลาร์ได้รับผลกระทบก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยกันอีก เป็นวงจรอุบาทว์อยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายหน กระทั่งล่าสุดคาดหมายกันว่าในการประชุมครั้งหน้าจะมีการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ครั้งเดียวถึง 1% หรือเท่ากับ 4 เท่าของอัตราที่เคยขึ้นปกติ
วงจรอุบาทว์เช่นนี้ที่ผ่านมาได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถรักษาค่าเงินดอลลาร์เอาไว้ได้ ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็กลับตกลงในสภาพเดิม
การที่เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐในการส่งสินค้าไปขาย หรือจากการท่องเที่ยว แต่สหรัฐกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้เพราะสหรัฐไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกที่มีรายได้สำคัญอีกแล้ว และเนื่องจากมีปัญหาภายในที่ผู้คนซื้อหาอาวุธปืนมายิงกันเป็นว่าเล่นจึงได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว รวมความว่าประโยชน์ที่ได้กลับไม่ได้
การที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำให้สหรัฐได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าในราคาถูกลง แต่สหรัฐก็ได้รับประโยชน์น้อยลงเพราะมัวแต่คว่ำบาตรชาติต่างๆ เปรอะไปหมด จึงทำให้ปริมาณการนำเข้ามีปัญหาและต้องซื้อหาในราคาที่สูงขึ้นอีก จะได้ประโยชน์บ้างก็ในเรื่องการนำเข้าพลังงานแต่ก็ไม่เต็มที่ เพราะเหตุการณ์ที่ไปเที่ยวคว่ำบาตรใครต่อใครนั่นเอง
รวมความก็คือวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างทั่วด้านในสหรัฐ แต่ส่วนที่ได้กลับไม่ได้
ที่สำคัญ เมื่อสหรัฐมีภาระหนี้ถึง 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นการลงโทษประเทศชาติเป็นส่วนรวม เพราะดอกเบี้ยยิ่งสูงมากเท่าใด สหรัฐก็ยิ่งรับภาระจากดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น และภาระนี้จะบั่นทอนความเข้มแข็งของสหรัฐจนกลายประเทศล้มละลายในที่สุด
ยิ่งกว่านั้น ชาวอเมริกันเป็นมนุษย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดของโลกเกินล้นกว่าภาระหนี้ของชาวโลกทั้งปวง นั่นคือชาวอเมริกันมีภาระต้องผ่อนหนี้โดยทั่วไปในอัตราเฉลี่ยถึง 80 ปี ซึ่งเกินกว่าอายุขัยของลูกหนี้เหล่านั้น แต่ทำกันไปได้ก็เพราะอาศัยวิธีการประกันต่อความเสียหายกันไปเรื่อยๆ กล่าวโดยง่ายก็คือไปตายกันดาบหน้า
ดังนั้นภาระหนี้สินของชาวอเมริกันที่มีจำนวนมหาศาลจึงเป็นภาระอันหนักหน่วงของชาวอเมริกัน การขึ้นดอกเบี้ยแม้ 0.25% ก็เกิดผลกระทบต่อหนี้เหล่านั้น และเมื่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ ผู้ที่ต้องรับภาระหนักหนาสาหัสมากที่สุดก็คือชาวอเมริกันนั่นเอง
หมายความว่าในระยะ 80 ปีจากนี้ไป สภาพการแบกรับภาระหนี้ของชาวอเมริกันจะท่วมท้น แม้ระบบประกันต่อที่รองรับค้ำยันไว้ก็จะไม่สามารถค้ำยันได้อีกต่อไป
เหล่านี้คืออาการล่มสลายของสหรัฐที่อาจจะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจใดๆ ที่ท่านอิหม่ามคาไมนี่ ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน ได้กล่าวด้วยญาณทัศนะว่าในที่สุดสหรัฐจะแตกสลายเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ซึ่งจะประมาทคำกล่าวนี้ไม่ได้โดยเด็ดขาด