องค์การการค้าโลก (WTO) เตือนวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารที่เป็นผลมาจากสงครามในยูเครนอาจยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแอฟริกาซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดแคลนข้าวสาลีและปุ๋ย
ยูเครนนับเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกซึ่งครอ’สัดส่วนการส่งออกอยู่ 9% ในตลาดโลก ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ที่ครองสัดส่วนมากถึง 42% ของตลาดน้ำมันดอกทานตะวันทั่วโลก และ 16% ของตลาดข้าวโพดทั่วโลก
ผลจากสงครามทำให้ตอนนี้มีข้าวสาลีราว 20-25 ล้านตันติดค้างอยู่ในโกดังและท่าเรือของยูเครนโดยไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากท่าเรือชายฝั่งทะเลดำได้ถูกปิดล้อมโดยกองทัพรัสเซีย จนนำไปสู่ความผันผวนของราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ซึ่งเอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เป็นเรื่องเศร้ามากที่เห็นราคาธัญพืชพุ่งสูงขึ้น
ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกระบุว่า “ข้าวสาลีปรับราคาขึ้นแล้วถึง 59% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่น้ำมันดอกทานตะวันก็มีราคาแพงขึ้น 30% และข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ก็ได้ปรับราคาขึ้น 23%
องค์การสหประชาชาติได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยกำลังเตรียมการที่จะสร้างเส้นทางเพื่อส่งออกข้าวและธัญพืช ด้วยความร่วมมือกับตุรกีซึ่งจะส่งเรือรบเข้าคุ้มกันเรือบรรทุกสินค้าออกจากท่าเรือโอเดสซาและท่าเรืออื่นๆ ในยูเครน แต่รัสเซียได้ออกมาเตือนว่าต้องให้ยูเครนทำการเคลียร์ทุ่นระเบิดทั้งหมดออกจากท่าเรือในทะเลดำก่อน
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวเมื่อวันพุธ (8 มิ.ย.) ว่า “เราพูดอยู่ทุกวันว่าเราพร้อมจะรับประกันความปลอดภัยของเรือที่ออกจากท่าเรือยูเครนและมุ่งหน้าไปยังน่านน้ำของตุรกี เราพร้อมที่จะดำเนินการเช่นนั้นโดยร่วมมือกับมิตรชาวตุรกีของเรา”
ทางด้านยูเครนได้ออกมาระบุว่า พวกเขาต้องการ “การรับประกันความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ” ก่อนเริ่มดำเนินการขนส่งอีกครั้ง เนื่องจากกังวลว่ารัสเซียอาจจะใช้เส้นทางเดินเรือที่มีศักยภาพนี้โจมตีเมืองโอเดสซาจากทางทะเล
ผลพวงจากความขัดแย้งที่ดำเนินมากเกือบ 4 เดือน เริ่มส่งผลกระทบต่อบางประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เป็นผู้นำเข้าธัญพืชจากยูเครน เช่น ลิเบียและเอริเทรียซึ่งนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในแต่ละปี และเลบานอนซึ่งนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนมากถึง 60% ของประมาณการนำเข้าทั้งหมดในประเทศ
ที่มา
https://www.bbc.com/news/business-61727651