รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ จีนข่มขู่คุกคามประเทศเพื่อนบ้าน ปล้นทรัพยากรในแปซิฟิก
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พลเอก ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์จีนว่ากระทำการอันเป็นการบีบบังคับ ก้าวร้าว และอันตราย ซึ่งคุกคามเสถียรภาพประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชีย พร้อมให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านแรงกดดันใดๆ จากจีน
“ประเทศในอินโด-แปซิฟิกไม่ควรเผชิญกับการข่มขู่ทางการเมือง การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ หรือการคุกคามโดยกองกำลังทางทะเล” ออสตินกล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุม Shangri-La Dialogue ซึ่งเป็นการประชุมด้านการป้องกันประเทศชั้นนำของเอเชีย
“การเคลื่อนไหวของจีนเป็นการคุกคามที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในอินโด-แปซิฟิก” ออสตินกล่าว โดยยกตัวอย่างถึงการกระทำที่บ่งชี้ว่าจีนกำลังข่มขู่คุกคามเพื่อนบ้าน เช่น การส่งเครื่องบินรบหลายลำขึ้นสู่ท้องฟ้าใกล้กับไต้หวัน การสกัดกั้นเครื่องบินลาดตระเวนของพันธมิตรสหรัฐฯ อย่างเป็นอันตราย และทำการประมงผิดกฎหมายซึ่งถือเป็นการ ‘ปล้นเสบียงของภูมิภาค’
การกล่าววิพากษ์วิจารณ์จีนของ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากที่เมื่อเย็นวันศุกร์ (10 มิถุนายน) เขาได้ประชุมหารือในระดับทวิภาคีกับเว่ยเฟิ่งเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน
โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าพยายามเปลี่ยนสถานะที่ดำรงอยู่มานานหลายทศวรรษของเกาะไต้หวัน
อย่างไรก็ดี ออสตินปฏิเสธว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ทำอย่างที่จีนกล่าวหา โดยระบุว่า “เรามุ่งมั่นที่จะรักษาสถานภาพของภูมิภาคนี้ที่ดำเนินไปด้วยดีมาอย่างยาวนาน” ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ภายใต้นโยบาย ‘จีนเดียว’ สหรัฐฯ ยอมรับจุดยืนของจีนที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการต่อการอ้างสิทธิของปักกิ่งบนเกาะไต้หวัน ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และมีประชากร 23 ล้านคน
ออสตินกล่าวต่อไปว่า ในขณะที่สหรัฐฯ ยืนหยัดรักษาสถานะของภูมิภาค แต่จีนกลับกระทำการที่แตกต่างออกไป
“เราเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางทหารใกล้ไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการที่เครื่องบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) บินใกล้ไต้หวันในจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเกือบทุกวัน” รมว.กลาโหมสหรัฐฯ กล่าว โดยอ้างถึงเครื่องบินรบของจีนที่บินเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone) ของไต้หวัน
ในส่วนของจีน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จีนกล่าวหาวอชิงตันว่าคุกคามสถานะที่เป็นอยู่บนเกาะไต้หวัน ด้วยการขายอาวุธให้ไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ “บ่อนทำลายอำนาจอธิปไตย และผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนอย่างร้ายแรง”
ในการประชุมร่วมกับออสติน รมว.กลาโหมจีนกล่าวย้ำจุดยืนของจีนว่า จีนเตรียมพร้อมที่จะทำสงครามหากไต้หวันประกาศอิสรภาพจากแผ่นดินใหญ่
ก่อนหน้านี้ เว่ยเฟิ่งเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน เน้นย้ำว่า หากใครกล้าแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีน กองทัพจีนจะทำสงครามเพื่อต่อสู้และทำลายความพยายามในการ ‘ประกาศอิสรภาพของไต้หวัน’ ด้วยวิธีใดก็ตาม พร้อมทั้งปกป้องอธิปไตยของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างเด็ดเดี่ยว” หวู่เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน แถลงข่าวหลังการประชุมระหว่างออสตินกับเว่ย
“เราไม่แสวงหาการเผชิญหน้าหรือความขัดแย้ง และเราไม่แสวงหาสงครามเย็นครั้งใหม่ นาโตแห่งเอเชีย (Asian NATO) หรือภูมิภาคที่แบ่งออกเป็นกลุ่มศัตรู” เขากล่าว
ด้านออสตินกล่าวหลังจากนั้นว่า วอชิงตันไม่หวั่นเกรงในการสนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วน
นอกจากนี้ แม้การกล่าวปาฐกถาของออสตินในการประชุม Shangri-La Dialogue มุ่งตรงไปที่ไต้หวันเป็นส่วนใหญ่ แต่นอกจากไต้หวันแล้ว รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ยังโจมตีจีนในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นด้วย
“ในทะเลจีนตะวันออก การขยายกองเรือประมงของจีนเป็นชนวนเหตุให้เกิดความตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ในทะเลจีนใต้ จีนกำลังใช้กองทหารบนเกาะเทียมซึ่งเต็มไปด้วยอาวุธที่ทันสมัย เพื่อยกระดับการอ้างสิทธิทางทะเลอย่างผิดกฎหมาย” ออสตินกล่าว
“เราเห็นเรือจีนปล้นเสบียงของภูมิภาค ปฏิบัติการอย่างผิดกฎหมายภายในน่านน้ำของประเทศอื่นๆ ในอินโด-แปซิฟิก และไกลออกไปทางตะวันตก เราเห็นปักกิ่งเสริมกำลังจุดยืนของตนตามแนวชายแดนกับอินเดีย”
ในการตอบคำถามเกี่ยวกับรายงานเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับการก่อสร้างไซโลขีปนาวุธนิวเคลียร์ใหม่กว่า 100 แห่งทางตะวันออกของจีน เขากล่าวว่าจีน “ได้ดำเนินตามแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์เพื่อการปกป้องประเทศของเรามาโดยตลอด”
เขาเสริมว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่จัดแสดงในขบวนพาเหรดทางทหารปี 2019 ที่ปักกิ่ง ซึ่งรวมถึงเครื่องยิงขีปนาวุธข้ามทวีป DF-41 ที่ปรับปรุงแล้วของจีน ได้ดำเนินการและนำไปใช้งานแล้ว
“จีนได้พัฒนาขีดความสามารถมาเป็นเวลากว่าห้าทศวรรษแล้ว เป็นเรื่องที่ยุติธรรมที่จะบอกว่ามีความก้าวหน้าที่น่าประทับใจ” เขากล่าว “นโยบายของจีน…มีความสอดคล้อง เราใช้เพื่อป้องกันตัวเอง เราจะไม่ใช่คนแรกๆ ที่ใช้ (อาวุธ) นิวเคลียร์”
เขากล่าวว่าเป้าหมายสูงสุดของคลังอาวุธนิวเคลียร์ของจีนคือการป้องกันสงครามนิวเคลียร์
“เราพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์เพื่อปกป้องการทำงานหนักของชาวจีน และปกป้องประชาชนของเราจากหายนะของสงครามนิวเคลียร์” เขากล่าว
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวถึงการสะสมของนิวเคลียร์ของจีนว่าน่ากังวล และกล่าวว่า ดูเหมือนว่าปักกิ่งกำลังเบี่ยงเบนจากยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์หลายทศวรรษที่มีพื้นฐานมาจากการป้องปรามเพียงเล็กน้อย สหรัฐเรียกร้องให้จีนมีส่วนร่วมกับสหรัฐ “ในมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงของการทำให้การแข่งขันทางอาวุธที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ”
No Result
View All Result