สถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ประณามบางกอกโพสต์ เผยแพร่ข่าวเท็จและไม่มีมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านและชาวไทยมุสลิมที่สงสัยว่า ทำงานเป็นสายลับให้กับอิหร่าน
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 สื่อมุสลิม เดอะพับลิกโพสต์ รายงานว่า ได้รับจดหมายข่าวลงวันที่ 6 มิถุนายน 2565 จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทยซึ่งมีเนื้อหาตอบโต้รายงานดังกล่าวของบางกอกโพสต์ พร้อมทั้งประณามว่าเป็นการแพร่ข่าวเท็จ โดยระบุว่า
“สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ ปฏิเสธและขอประณามข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลของสื่อในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับประเทศอิหร่านและพลเมืองอิหร่าน
หลังสื่อไทยเผยแพร่ข่าวเท็จนี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้ดำเนินการติดตามประเด็นนี้ผ่านช่องทางการทูต จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่การเมืองและความมั่นคงของไทยยืนยันข้ออ้างนี้
สถานเอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่าความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และมิตรภาพระหว่างสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทยมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกันมาโดยตลอด
นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเริ่มต้น อิหร่านต้องเผชิญกับวิธีการใส่ร้ายป้ายสีทำนองนี้มาโดยตลอด ในขณะที่อิหร่านต้องการต่อสู้กับการก่อการร้าย รวมถึงการเอาชนะไอซิส
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมีไปมีอิทธิพลต่อการเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อย่างสันติของอิหร่าน ซึ่งอยู่ภายใต้การสอดส่องของ IAEA โดยสมบูรณ์ ไซออนิสต์และสื่อตะวันตกบางส่วนได้เผยแพร่ข้อกล่าวหาเท็จเกี่ยวกับอิหร่าน
สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านซึ่งมีประสบการณ์เฉพาะตัวและมีประวัติความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย และได้เสนอความร่วมมือในเรื่องนี้แก่ประเทศที่เป็นมิตรรวมถึงราชอาณาจักรไทย
สถานเอกอัครราชทูตฯ ถือว่าการตีพิมพ์ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และมิตรระหว่างอิหร่าน – ไทย
สถานทูตจะยังคงพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศของเรา”
โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์บางกอกโพสต์ ได้เผยแพร่รายงานข่าวในภาษาอังกฤษที่เขียนโดย “นายวัสยศ งามขำ” อ้างแหล่งข่าวตำรวจระดับสูง ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออก “คำสั่งลับ” ให้ตำรวจทั่วประเทศจับตาสายลับจากอิหร่าน
บางกอกโพสต์รายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงกำลังติดตามการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านและชาวไทยมุสลิมที่สงสัยว่าทำงานเป็นสายลับให้อิหร่านในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
บางกอกโพสต์ยังอ้างด้วยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ออกคำสั่งให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรทั้ง 9 ภาค เฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของสายลับเหล่านี้
บางกอกโพสต์ระบุว่า คำสั่งนี้อ้างถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ปีที่แล้ว ที่ทางการอินโดนีเซียพบว่า นายกัสเซม ซาบีรี กิลชาลาน (Ghassem Saberi Gilchalan) เดินทางเข้าประเทศโดยถือหนังสือเดินทางบัลแกเรีย ต่อมาพบว่าเป็นของปลอม และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ชายคนนี้ถูกจับโดยทางการชาวอินโดนีเซียที่ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ขณะกำลังจะเดินทางออกไปยังประเทศกาตาร์
ชายคนนี้บอกตำรวจว่าเขาใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อเข้าประเทศ ตำรวจชาวอินโดนีเซียพบว่าเขาเข้ามาในประเทศมากกว่า 10 ครั้งโดยใช้เอกสารปลอม และศาลตัดสินจำคุกเขาสองปีในความผิดดังกล่าว
ตำรวจชาวอินโดนีเซียยังพบว่า ชายคนนี้มีโทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 1 เครื่อง ซิมการ์ดจำนวนหนึ่ง และเงินสดมูลค่ากว่า 320,000 บาท แหล่งข่าวกล่าวเสริม
การตรวจสอบบนโทรศัพท์มือถือของเขาพบชื่อของชาวไทยมุสลิมบางคน แหล่งข่าวของบางกอกโพสต์กล่าว และเสริมว่า ทางการชาวอินโดนีเซียเชื่อว่านายกิลชาลานคนนี้เป็นสายลับจากอิหร่าน
หลังถูกสอบสวนเพิ่มเติม นายกิลชาลานบอกกับตำรวจอินโดว่า เขาได้รับมอบหมายจากอดีตนักการทูตอิหร่านในมาเลเซียให้ทำหน้าที่เป็นสายลับทั้งที่นั่นและในอินโดนีเซียหลายครั้ง
ความพยายามครั้งล่าสุดเกี่ยวข้องกับการล็อบบี้ทางการชาวอินโดนีเซียเพื่อปล่อยเรือบรรทุกน้ำมัน MT Horse ที่ติดธงชาติอิหร่าน ซึ่งถูกจับในน่านน้ำของประเทศเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว
ชายคนดังกล่าวยังตั้งบริษัทบังหน้าขึ้นในบาหลี ซึ่งถูกใช้เป็นเซฟเฮาส์สำหรับปฏิบัติการลับของเขา แหล่งข่าวกล่าว
“การเปิดเผยของนายกิลชาลานครั้งนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วนในหลายประเทศซึ่งกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติการลับและสายลับของอิหร่าน ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของชาติในแต่ละประเทศ”
“การดำเนินการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
นายนายกิลชาลานและอดีตนักการทูตเคยมาเยือนประเทศไทยหลายครั้ง และยังได้พบกับชาวไทยมุสลิมชีอะห์ที่มีชื่อเสียงซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน รายงานของบางกอกโพสต์ระบุ
“ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ที่สายลับจากอิหร่านอาจกำลังปฏิบัติการลับในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางปลอม และคนไทยบางคนก็ถูกสงสัยว่าทำงานเป็นสายลับด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ” บางกอกโพสต์อ้างแหล่งข่าว
“มีข้อกังวลเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปกของไทย [ในเดือนพฤศจิกายน] ซึ่งผู้นำระดับโลกจะเข้าร่วม การเตรียมการด้านความมั่นคงเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญในระดับสูงสุด
“เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้เกิดความไม่สงบหรือความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นได้” แหล่งข่าวกล่าว พร้อมเสริมว่าทางการต้องการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นระเบิดที่สุขุมวิท 71 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มิให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
ในคราวนั้นชายชาวอิหร่านสามคนถูกจับกุมและถูกจำคุกเนื่องจากเหตุระเบิดที่เชื่อกันว่าได้ได้เกิดระเบิดก่อนเวลาอันควรที่บ้านเช่าในพื้นที่แห่งหนึ่ง