ไทยกำลังจะกลายเป็นสนามรบแบบยูเครน
โดย สิริอัญญา
หลังจากสหรัฐได้ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อการต่อต้านจีน และถือจีนเป็นภัยคุกคามของประเทศทั้งหลายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแล้ว ความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างก็เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นอย่างแหลมคมจนกระทั่งส่อว่ากำลังจะกลายเป็นสงครามทั้งระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
ในปี 2562 ประเทศไทยได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเป็นพันธมิตรตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กับสหรัฐ และหลังจากนั้นก็เกิดกิจกรรมมากหลายที่ดำเนินไปในแนวทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ถือจีนเป็นภัยคุกคามที่จะต้องขัดขวางต่อต้านและเตรียมการรับมือต่อภัยคุกคามนั้น
ประเทศไทยได้เบี้ยวข้อตกลงในการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ที่จะเชื่อมเส้นทางสายไหมทั่วโลก และจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางของภูมิภาคนี้ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งคนและสินค้ากับประเทศจีนและทั่วโลกได้ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอนาคตที่แน่นอน
ประเทศไทยได้เบี้ยวข้อตกลงตามปฏิญญาซันย่า ซึ่งเป็นข้อตกลงพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ที่จะร่วมกันพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นแม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนา ที่จะรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดยักษ์ที่รับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเดินทางท่องเที่ยวตามลำน้ำโขง 6 ประเทศ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวทางลำน้ำที่สำคัญของโลก และเพื่อประโยชน์ในการขนส่งสินค้าระหว่าง 6 ประเทศ โดยใช้เรือที่มีระวางขับน้ำถึง 500 ตัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถขนส่งสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตรไปยังประเทศจีน ประเทศเพื่อนบ้าน และไปทั่วโลกได้โดยสะดวก
ประเทศไทยได้เบี้ยวข้อตกลงในการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ โดยระงับการจัดซื้อไปแล้ว 2 ลำ และที่จัดซื้อไปแล้ว 1 ลำ อยู่ระหว่างการก่อสร้างก็กำลังหาทางยกเลิก แต่โชคดีที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ทักท้วงเอาไว้
ประเทศไทยถูกประกาศเป็น 1 ใน 6 แกนนำของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย ไทย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนนี้ประเทศไทยจะมีฐานะเป็นกองทัพหน้าให้กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในการต่อต้านจีน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหมายความถึงรัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและมาเลเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของจีนด้วย
เมื่อถูกประกาศเป็น 1 ใน 6 แกนหลักของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แล้วประเทศไทยก็ไม่เคยปฏิเสธ ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวในทิศทางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก อย่างต่อเนื่อง เช่นการเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อกระชับความร่วมมือตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก การทำความตกลงกับอังกฤษ สิงคโปร์ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
กระทั่งกระดี๊กระด๊าจะไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียนกับสหรัฐในเรื่องการต่อต้านภัยคุกคามจากจีนตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แต่ถูกสมเด็จฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียนเบรกจนหัวทิ่มบ่อด้วยการประกาศว่าผู้นำประเทศอาเซียนจะไม่ไปประชุมเพราะไม่ว่าง และให้เลื่อนไปไม่มีกำหนด
ในภูมิภาคอาเซียนนั้นกำลังมีภาวะสงครามกลางเมืองอยู่ในพม่า ระหว่างรัฐบาลพม่าซึ่งเป็นพันธมิตรกับจีน รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ รวมทั้งประเทศในกลุ่มองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้อีกหลายประเทศกับฝ่ายต่อต้านของนางอองซานซูจี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เกิดเป็นสงครามกลางเมืองกันขึ้น
ถึงขนาดมีการจัดซ้อมรบใหญ่นอกน่านน้ำพม่าเพื่อลักไก่เข้ายึดเอารัฐยะไข่ เพื่อตั้งเป็นฐานให้กับรัฐบาลพลัดถิ่นของนางอองซานซูจี แต่ฝ่ายรัฐบาลพม่ารู้เท่าทัน ดังนั้นจึงเกิดการซ้อมรบใหญ่ระหว่างรัสเซีย จีน อิหร่าน ตัดหน้า นับเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้จนทำให้แผนลักไก่ยึดรัฐยะไข่ต้องล้มเหลวไป
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าและต่างชาติที่สนับสนุนต้องการยึดพม่าเพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่ติดต่อกับจีนตอนใต้ เพื่อสกัดการขยายตัวของประเทศจีน ในขณะที่มีลักษณะเป็นการคุกคามรุกรานจีนอย่างออกนอกหน้า เพราะถ้ากลุ่มอินโด-แปซิฟิก สามารถยึดพม่าได้บางส่วนหรือทั้งหมดแล้วก็จะคุกคามความมั่นคงของจีนอย่างรุนแรงตั้งแต่ภาคใต้คือยูนนาน ฉงชิ่ง เสฉวน และด้านบนขึ้นไปคือซินเกียง ทิเบต ซึ่งจีนถือว่าเป็นเส้นแดงที่ข้ามมิได้
ถึงขนาดแสดงท่าทีชัดเจนว่าถ้ามีกองกำลังทหารต่างชาติรุกเข้าพม่า กองทัพจีนก็พร้อมที่จะเคลื่อนทัพเข้าช่วยพม่ารบกับกองกำลังรุกรานต่างชาติขับออกจากพม่า แบบเดียวกับเมื่อครั้งสงครามเกาหลี
และไม่ได้พูดกันแค่ปากเปล่า จีนได้สนับสนุนคำร้องขอของพม่าที่ขอให้จีนส่งกำลังทหารไปคุ้มครองท่อแก๊สที่จีนลงทุนกับพม่าตั้งแต่รัฐยะไข่ไปจนถึงยูนนาน เพื่อป้องกันการทำลายจากการข่มขู่ของฝ่ายตรงกันข้ามที่จะทำลายท่อแก๊สนี้ จีนจึงส่งกำลังทหาร 100,000 คนเข้าพม่า นัยว่าเพื่อป้องกันวินาศกรรมท่อแก๊สดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันจีนก็ได้ย้ายกำลังทหาร 500,000
คนไปตั้งไว้ที่มองโกเลียใน ซึ่งสามารถเคลื่อนทัพเข้าช่วยพม่าได้ในระยะเวลาอันสั้น
กำลังทหารจีน 600,000 คน กำลังทหารพม่าอีก 400,000 คน ยังไม่รวมกำลังทหารของเกาหลีเหนือและอิหร่าน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะส่งกำลังเท่าใดมาช่วยพม่าก็ยังนับว่าเป็นจำนวนมหาศาล
ในขณะเดียวกัน ข่าวคราวและหลักฐานชัดเจนว่าต่างชาติได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และทหารรับจ้างเข้าไปช่วยฝ่ายต่อต้านรบกับรัฐบาลพม่า และมีการสร้างสถานการณ์มากหลายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับพม่า และเมื่อนั้นต่างชาติก็จะใช้สิทธิ์ส่งทหารเข้ามาช่วยประเทศไทยทำสงครามกับพม่า และประเทศไทยก็จะกลายเป็นสนามรบแบบเดียวกับยูเครน
ดังนั้นประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจึงต้องตื่นตัวขึ้นทำความเข้าใจและเห็นภัยร้ายแรงของสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก หรือที่จีนเรียกว่านาโต้ 2 ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในประเทศไทยขณะนี้