สาเหตุที่รัสเซียต้องบุกยูเครน?
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แผนของผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ที่หวังจะปิดเกมสงครามกับยูเครนโดยเร็ว ด้วยแสนยายุภาพเหนือชั้นนั้น ทำท่าจะไม่ง่ายเสียแล้ว หลังจากที่สั่งให้กองทัพบุกเข้ายูเครนในวันที่ 24 ที่ผ่านมา ทหารยูเครนตั้งรับการรุกคืบหน้าเหนียวแน่นเกินความคาดหมายของฝ่ายโลกตะวันตก ดูแล้วอาจกลายเป็นศึกยืดเยื้อ
ผู้นำยูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี อดีตนักแสดงตัวตลกวัย 44 ปีกำลังจะกลายเป็นฮีโร่ เพราะประกาศว่าจะสู้สุดใจขาดดิ้น ระดมพลจากประชาชนทั่วไปวัย 18 ถึง 60 ปีให้ร่วมสู้รบเต็มที่ และเริ่มได้ใจประเทศตะวันตกสมาชิกองค์การนาโตที่ส่งความช่วยเหลือทั้งเงินและอาวุธให้ต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่ารัสเซียแทบจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดนรุมกินโต๊ะทุกรูปแบบจากกลุ่มประเทศยุโรป นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งอยากจะให้ยูเครนเป็นสมรภูมิรบเพื่อยันกองทัพของรัสเซียเหมือนจะให้เป็นบทเรียนว่าจะเอาชนะยูเครนไม่ได้ง่ายๆ
ถือว่ากลุ่มประเทศนาโตได้เข้าไปยุ่งกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนอย่างเต็มที่ นอกเหนือการส่งอาวุธและสิ่งของจำเป็นต่างๆ แล้วยังเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มข้น ครอบคลุมการค้าทุกประเภท เว้นแต่การส่งก๊าซธรรมชาติเข้ายุโรป
ล่าสุดใช้มาตรการปิด สกัด ไม่ให้ธนาคารชั้นนำของรัสเซียบางแห่งเข้าถึงระบบสวิฟต์ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารด้านธุรกรรมการเงิน ระหว่างธนาคารและสถาบันการเงิน 11,000 แห่งใน 200 ประเทศทั่วโลก
นี่จะเป็นการสร้างความลำบากให้กับธนาคารรัสเซียและคู่ค้าซึ่งมีสถาบันการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และเยอรมนีด้วย การใช้มาตรการนี้ถือได้ว่าเป็นความรุนแรงเกือบสูงสุดเปรียบได้เป็นเหมือนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงคราม
นอกจากสถาบันการเงินของรัสเซีย บุคคลที่โดนคว่ำบาตรก็รวมทั้งปูติน รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียด้วย ซึ่งจะทำให้ทั้ง 3 คนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินหรือติดต่อด้านการเงินกับใครได้ในกลุ่มสมาชิกของสวิฟต์
รัสเซียมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ สามารถอยู่ได้ระยะนานพอสมควร แม้ค่าเงินรูเบิลจะตกเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ก็ตาม แต่รัสเซียสามารถทดแทนและชดเชยได้จากราคาน้ำมันที่จะขยับสูงขึ้นเพราะวิกฤตสงคราม
รัสเซียและปูตินกำลังถูกฝ่ายโลกตะวันตกและพันธมิตรวาดภาพให้ดูเป็นตัวมหาวายร้ายของโลก ใช้แสนยานุภาพรังแกยูเครนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและเคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต สงครามข้อมูลข่าวสารทำให้รัสเซียไม่มีใครอยากคบด้วย
ถ้าจะเปรียบให้ชัดเหมือนกับว่าสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศนาโตเป็นเหมือนพรรคเทพกำลังร่วมมือกันปราบพรรคมารซึ่งเป็นปูตินและรัสเซีย แม้แต่คนรัสเซียส่วนหนึ่งก็เดินขบวนประท้วงรัฐบาลในหลายเมืองและถูกจับกุมไปมากกว่า 2,000 คน
ถ้าจะมองย้อนไปประมาณ 30 กว่าปีจะได้รู้ว่าต้นเหตุของการที่ปูตินตัดสินใจบุกยูเครนนั้นเป็นเพราะอะไร มีความจำเป็นอย่างไร ถึงต้องทำสงคราม แม้จะรู้ว่ารัสเซียจะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตร ประชาชน ภาคธุรกิจจะประสบภาวะลำบาก
เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกพังทลายในปี 1989 ก่อนนำไปสู่ความล่มสลายของการเมืองในโลกคอมมิวนิสต์ภายใต้สหภาพโซเวียตช่วงนั้น ผู้นำสหภาพโซเวียต คือนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ และเป็นผู้เปิดทางให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
ช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกภายใต้สหภาพโซเวียตได้แยกตัวเป็นอิสระซึ่งผู้นำรัสเซียไม่มีอำนาจจะขัดขวางได้ เท่ากับว่ากลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอสิ้นสภาพหลังจากที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มสนธิสัญญานาโตนานหลายสิบปี
ในการเจรจาเพื่อการสิ้นสุดสงครามเย็น ฝ่ายสหรัฐฯ อยู่ในช่วงของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้เป็นพ่อ มีรัฐมนตรีต่างประเทศชื่อ เจมส์ เบเกอร์ ที่ 3 ได้ตกลงในการเจรจากับกอร์บาชอฟ รับรองว่ากลุ่มนาโตไม่มีความต้องการจะขยายขอบเขตและสมาชิกไปทางด้านแนวตะวันออก ก็คือกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหลาย
คำประกาศที่สำคัญโดยเจมส์ เบเกอร์ ก็คือ “Not one inch” เป็นนัยว่ากลุ่มสนธิสัญญานาโตจะไม่ขยายพื้นที่จากเดิมไปแม้แต่ 1 นิ้ว โดยจะให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตอยู่ตามลำพังอย่างเสรี และจะไม่รับเข้ากลุ่มนาโตเพื่อให้รัสเซียมั่นใจว่าจะไม่ถูกคุกคาม ถ้ามีสมาชิกนาโตประชิดพรมแดนรัสเซีย
คำประกาศนี้ได้รับการรับรองอย่างมั่นเหมาะโดยนายกรัฐมนตรีเยอรมนีขณะนั้น คือนายเฮลมุท โคห์ล ซึ่งก็กล่าวต่อนายกอร์บาชอฟว่านาโตจะไม่ขยายแนวไปจากที่มีอยู่ และยังมีคำรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ นายดักลาส เฮิร์ด ซึ่งมีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี
รัสเซียก็พอใจกับคำประกาศและเชื่อมั่นว่าผู้นำสหรัฐฯ เยอรมนี และอังกฤษจะหมายความตามนั้นในการรักษาคำพูด แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะรัสเซียอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความวุ่นวายทางการเมืองและเปลี่ยนผู้นำเป็นนายบอริส เยลต์ซิน คนรัสเซียอยู่ในช่วงหิวกระหายเสรีภาพและบรรยากาศประชาธิปไตย
รัสเซียและผู้นำอยู่ในสภาพอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะให้ระบบคอมมิวนิสต์สิ้นสุด นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีแบบโลกตะวันตก ขาดอำนาจต่อรองทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ และกลุ่มนาโตไม่รักษาคำมั่นสัญญา
จากปี 1999 นาโตทยอยรับสมาชิกใหม่จากยุโรปตะวันออก เริ่มด้วยโปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก ไม่ใส่ใจกับคำคัดค้านของรัสเซีย อีก 7 ประเทศคือบัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวะเกีย และสโลวีเนีย ฯลฯ จนมี 30 ชาติ
ยูเครนก็ร่ำอยากจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต รัสเซียเตือนหลายครั้งจนถึงวันบุก
บทความโดย โสภณ องค์การณ์
No Result
View All Result