จับตา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน หลังไทยร่วมกับสหรัฐในการซ้อมรบ คอบร้าโกลด์
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนกลายเป็นที่จับตา หลังไทยกับสหรัฐฯกลับมาซ้อมรบร่วมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคม แต่ด้วยที่มันถูกลดระดับลงสืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ จึงมีคำถามผุดขึ้นมาเกี่ยวกับความสำคัญที่ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามพวกนักวิเคราะห์ชี้ว่าการซ้อมรบนานาชาตินี้ยังคงเป็นเครื่องมือด้านการทูตที่มีประโยชน์สำหรับสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเริ่มหันไปจัดซื้ออาวุธจากปักกิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
“คอบร้าโกลด์” หนึ่งในการซ้อมรบเก่าแก่ที่สุดของเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างเจ้าบ้านอย่างไทยกับสหรัฐฯ กลับมาจัดขึ้นอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 5 มีนาคม แต่คราวนี้ได้มีการปรับลดระดับลง สืบเนื่องจากสถานกาารณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
บุคลากรทางทหาร 3,460 นาย หรือราว 1 ใน 3 ของช่วงก่อนเผชิญโรคระบาดใหญ่ จะเข้าร่วมการซ้อมรบ “คอบร้าโกลด์” ในปีนี้ ในนั้นรวมถึงทหารไทย 1,953 นายและทหารสหรัฐฯ 1,296 นาย จากคำแถลงของกองทัพไทยร่วมด้วย ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือน
ในบรรดาประเทศอื่นๆที่มีเกี่ยวข้องนั้น รวมไปถึงสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งจะส่งทหารเข้าร่วมซ้อมรบด้วยเช่นกัน ในขณะที่จีน อินเดียและออสเตรเลีย จะเข้าร่วมในโครงการต่างๆด้านมนุษยธรรมและพลเรือน อย่างเช่นสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนตามพื้นที่ชนบทในประเทศไทย
จีนร่วมสร้างขีดความสามารถความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและพลเรือนมาตั้งแต่ปี 2014 แต่พม่า ซึ่งเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์มาทุกปีระหว่างปี 2015 และ 2020 จะไม่เข้าซ้อมในปีนี้ เนื่องจากคณะผู้ปกครองทหารของพม่าถูกตำหนิต่อวิกฤตการเมืองและมนุษยธรรมที่กำลังเลวร้ายลงเรื่องๆ อันมีชนวนเหตุจากการรัฐประหารที่พวกเขาก่อขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
พอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า พม่า จะไม่ได้รับคำเชิญจนกว่าพวกเขา “จะคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งและปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน”
บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และเวียดนาม จะเข้าร่วมในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team)การฝึกซ้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของทหารระหว่างประเทศ ในขีดความสามารถที่ไม่ใช่ทำสงคราม
การซ้อมรบ “คอบร้าโกลด์” มีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกแช่แข็งตามหลังเหตุรัฐประหารปี 2014 ซึ่งนำพาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก้าวขึ้นสู่อำนาจ
ซาชารี อาบูซา (Zachary Abuza) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสงครามแห่งชาติ (National War College) ในวอชิงตัน สหรัฐฯ ระบุว่า “มันเป็นเพียงแค่การซ้อมรบทวิภาคีเฉยๆ ผมไม่เชื่ออยู่แล้วว่ามันจะถูกจัดขึ้นตามหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2014”
“แต่โดยรวมแล้ว มันเป็นการซ้อมรบที่สำคัญ และมันเป็นหนทางที่ดึงประเทศอื่นๆเข้ามาร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อคบหาสมาคมกับพวกเขาและเสริมสร้างความไว้บางใจบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์มาตั้งแต่ปี 2016 มันช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และรับพวกเขาเข้ามาร่วมปฏิบัติการต่างๆด้วยความสบายใจยิ่งขึ้น ในการซ้อมรบนานาชาติ”
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย หันไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น แม้ยังคงเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ ซึ่งก่อนหน้าโรคระบาดใหญ่ เป็นที่รู้กันดีว่ามีขนาดและขอบเขตที่หาที่เปรียบไม่ได้ มีการโชว์อาวุธที่หลากหลายและใช้กระสุนจริง แต่ในปีนี้ได้มีการถอนการฝึกซ้อมหลักๆ อาทิยกพลขึ้นบก อพยพพลเรือนและกระสุนจริง ออกจากการซ้อมรบ สืบเนื่องจากข้อจำกัดโควิด-19
ระยะหลังเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับความสำคัญที่ลดน้อยถอยลงไปของการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ ท่ามกลางการลดขนาดการซ้อมรบในช่วงโรคระบาดใหญ่ แม้กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปีของการซ้อมรบนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจะเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯแล้ว การซ้อมรบคอบร้าโกลด์ยังบ่งชี้เป็นนัยถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทด้านความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะในยามที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเริ่มแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ
“สหรัฐฯไม่สามารถทิ้งการซ้อมนี้ไปโดยสิ้นเชิง มันคือหนึ่งในเครื่องไม้เครื่องมือไม่กี่ชิ้นที่เรามีอิทธิพลเหนือการเมืองไทยในเวลานี้” อาบูซากล่าว “ไม่มีเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในขวบปีที่ผ่านมา ก็มองข้ามไทย การขาดการติดต่อคบค้ายิ่งแต่เสริมท่าทีฝักใฝ่ปักกิ่งของพวกผู้นำไทย เคราะห์ร้ายที่พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯและไทยถดถอยลงเรื่อยๆ เนื่องจาก 2 ฝ่ายมีความตระหนักเกี่ยวกับภัยคุกคามที่แตกต่างกันอย่างมาก”
การซ้อมรบในปีนี้มีขึ้นในขณะที่ข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างไทยกับสหรัฐฯดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น กองทัพอากาศของไทยแถลงเมื่อช่วงต้นปี ว่ามีแผนซื้อเครื่องบินรบล่องหน F-35 จำนวน 4 ลำที่ผลิตโดยล็อคฮีด มาร์ติน บริษัทกลาโหมสหรัฐฯ มูลค่า 13,800 ล้านบาท อย่างเร็วที่สุดในเดือนตุลาคม และอาจจัดซื้อสูงสุด 8 ลำ
มีข่าวว่างบประมาณสำหรับจัดซื้อฝูงบิน F-35 ได้รับความเห็นชอบแล้ว ต่างจากคำร้องของบประมาณ 22,500 ล้านบาทของกองทัพเรือไทยสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำจีนเพิ่มเติมอีก 2 ลำซึ่งถูกเลื่อนมานานกว่า 2 ปี หลังมันถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้จ่ายด้านความมั่นคงที่ฟุมเฟือยเกินไปในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดใหญ่
ทิม เคฮิลล์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายธุรกิจโลก ของล็อกฮีด มาร์ติน ยืนยันว่าไทยแสดงความสนใจในฝูงบิน F-35 แต่ยังไม่มีอะไรที่เป็นทางการ และท้ายที่สุดมันจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ
^
สำหรับ F-35 Lightning II เป็นเครื่องบินรบขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกในขณะนี้ ถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความอ่อนไหวสูง โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะขายให้เฉพาะกับประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดเท่านั้น โดยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีเพียงออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีเครื่องบินรุ่นนี้ในประจำการ
อย่างไรก็ตามไทยไม่ได้แค่เป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯและพันธมิตรเท่านั้น อีกด้านหนึ่งไทยยังร่วมซ้อมรบกับจีนอีกด้วย “มันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักว่าทุกกำลังพลของกองทัพไทยเคยซ้อมรบร่วมกับกำลังพลของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน” อาบูซาระบุ
“นับตั้งแต่ปี 2014 ชัดเจนว่าพวกผู้นำของไทยใช้แนวทางป้องกันความเสี่ยง พวกผู้นำทหารของไทยบางคนที่ผมเคยพูดคุยด้วย ตอนนี้เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของคอบร้าโกลด์ ไม่ชัดเจนว่าพวกเขาได้รับประโยชน์อะไรจากมัน โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีของพวกเขากับสหรัฐฯ”
“ไทยเริ่มพึ่งพาจีนมากขึ้นในด้านการจัดซื้ออาวุธหลักๆของพวกเขา ในนั้นรวมถึงเรือดำน้ำ เรือรบผิวน้ำ รถถัง รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ” อาบูซากล่าว พร้อมระบุว่าเวลานี้กองทัพอากาศของไทยนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯในสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ “ผมคิดว่าตอนนี้จีนเฝ้ามองไทยในลักษณะงูตัวหนึ่งจ้องมองหนูที่อยู่ในกรง ด้วยความอดทน”
แชมเบอร์ส กล่าวว่า คอบร้าโกลด์และการซ้อมรบประจำปีอื่นๆ อาทิเช่น การฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ(Cooperation Afloat Readiness and Training) การฝึกร่วม Balance Torch ระหว่างกองกำลังพิเศษสหรัฐฯและไทย เช่นเดียวกับการซ้อมรบทางอากาศนานาชาติประจำปีที่เรียกว่า COPE Tiger เป็นหนทางที่สหรัฐฯจะได้โชว์ยุทโธปกรณ์ทางทหารใหม่ๆของพวกเขา
“ส่วนจีน สามารถเฝ้าดูการซ้อมรบเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอาวุธของสหรัฐฯเพิ่มเติม” เขากล่าว “ในช่วงเวลาที่กรุงเทพฯพยายามไม่พึ่งพิงแต่ละประเทศมากเกินไป และไม่เอียงเข้าหาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป นี่คือเหตุผลหนึ่งที่กรุงเทพฯเลือกที่จะเดินหน้าซ้อมรบทางทหาร จัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารและรับการศึกษาด้านการทหารจากทั้งสหรัฐฯและจีน”
ที่มา South China Morning Post
No Result
View All Result