เหตุใดรัสเซียจึงหวาดระแวงองค์กรนาโต้ จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน?
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า
ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนต่างเป็นประเด็นที่ทั่วโลกพากันจับตา นอกจากความเสี่ยงในการเผชิญหน้ามีโอกาสลุกลามเป็นสงครามใหญ่ระหว่างมหาอำนาจ ที่อาจสั่นคลอนเศรษฐกิจและโลกในทุกมิตินับจากนี้ อีกทั้งยังเป็นผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงไม่จบสิ้น
ชนวนขัดแย้งคราวนี้เกิดจากการส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าประชิดชายแดนยูเครน แน่นอนว่านั่นทำให้ทางยูเครนรวมถึงชาติตะวันตกจำนวนมากตื่นตัว แม้รัสเซียจะอ้างว่าการส่งกำลังทหารประชิดชายแดนและเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์เบราลุสเป็นไปเพื่อซ้อมรบตามกำหนดการณ์ แต่หลายประเทศต่างพากันจับตาไม่ไว้วางใจในท่าที
ข้อเรียกร้องประการสำคัญของทางรัสเซียคือ การให้นาโตเลิกแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังยุโรปตะวันออก ไม่ยอมรับยูเครนเป็นสมาชิก ยกเลิกการซ้อมรบร่วมในหลายประเทศ ถอนกำลังนานาชาติที่กระจายตัวอยู่ในยุโรปตะวันตกทั้งหมด รวมถึงยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ใน โดยบอกว่าทางนาโตกำลังใช้กำลังทหารกระจายไปในชาติสมาชิกเพื่อล้อมกรอบรัสเซีย
จุดเริ่มต้นของ NATO องค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออักษะล่มสลาย โลกจึงเหลือเพียง 2 มหาอำนาจที่ชูอุดมการณ์แตกต่าง สหภาพโซเวียตที่แผ่ขยายอิทธิพลปกคลุมยุโรปตะวันออก กลืนประเทศน้อยใหญ่จำนวนมากให้อยู่ภายใต้ร่มธง นั่นทำให้สมาชิกชาติตะวันตกรู้สึกตัวว่าพวกเขาไม่อาจอยู่เฉยได้อีก
นั่นทำให้ NATO หรือ สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ถูกก่อตั้งเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 เมษายน 1949 จากการรวมตัวของประเทศต่างๆ 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ไอซ์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์ และโปรตุเกส เพื่อสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาคานอำนาจกับโลกคอมมิวนิสต์
จุดประสงค์ของนาโตคือ การจัดตั้งระบบพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลกับสหภาพโซเวียตไม่ให้แผ่ขยายอิทธิพลมากกว่านี้ โดยการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกทั้งด้านการทหารกรณีภัยคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกไปด้วย
สิ่งนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจให้โลกคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตจึงจัดตั้ง สนธิสัญญาวอร์ซอ ขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 1955 เพื่อเป็นการตอบโต้คานอำนาจกับฝั่งประชาธิปไตย ทั้งสององค์กรจึงกลายเป็นสองขั้วอำนาจใหญ่ที่จับตามองซึ่งกันและกัน พร้อมเข้ารับมือหากมีการเคลื่อนไหวคุกคามโดยอาศัยกำลังทหาร
ทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขันแผ่ขยายอำนาจทั้งจากสงครามตัวแทนและความขัดแย้งต่างๆ ทำให้นาโตขยายการรับชาติสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ภายหลังประเทศเหล่านั้นเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย เพิ่มบรรยากาศตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายจนปี 1980 เป็นต้นมา กระแสความเกลียดชังจึงเริ่มซบเซา นำทางไปสู่การเจรจาเพื่อผ่อนคลายความขัดแย้งในที่สุด
หรือถ้าจะให้พูดแท้จริงนาโตคือผลพวงและการรวมตัวที่เกิดขึ้นจากสงครามเย็น เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของสหภาพโซเวียต หนึ่งในหัวใจหลักขององค์กรคือ มาตรา 5 เมื่อประเทศสมาชิกถูกโจมตีจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต ทุกประเทศที่เข้าร่วมจะเข้าสู่สถานะสงครามโดยอัตโนมัติ ถือเป็นการช่วยคานอำนาจคุกคามจากโซเวียตเป็นอย่างดี หรือก็คือแต่แรกสุดนาโตคือองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตซึ่งก็หมายถึง รัสเซีย นั่นเอง
บทบาทของ NATO ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น
ดังที่เราทราบกันว่าสหภาพโซเวียตสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการนับแต่ 26 ธันวาคม 1991 เป็นต้นมา ถือเป็นเวลายาวนานหลายสิบปีหลังการจบสิ้นของอีกขั้วอำนาจ แต่องค์กรของนาโตที่จัดตั้งเพื่อต่อต้าน แม้ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้วกลับไม่ล้มหายตามไป แต่เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ให้สอดคล้องโลกปัจจุบันมากขึ้นแทน
แนวทางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเน้นความร่วมมือและปกป้องรักษาสันติภาพแก่บรรดาชาติสมาชิก รวมถึงการสานสัมพันธ์กับรัสเซียเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในยุโรป โดยภายหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ทางนาโตมีบทบาทเข้าไปรักษาสันติภาพภายในบอสเนีย, มาซิเนีย รวมถึงโคโซโว อีกทั้งคอยสนับสนุนด้านการทหารแก่ประเทศต่างๆ
ขณะเดียวกันทางนาโตเองก็เปิดรับชาติสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะหยุดลงแม้สิ้นสุดสงครามเย็นไปแล้ว ได้แก่ในปี 1999 ก็รับเช็ก, ฮังการี และโปแลนด์เข้ามา รวมถึงปี 2003 ที่เปิดรับ บัลแกเรีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย และโรมาเนีย ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนาโต ทำให้ดินแดนของนาโตขยายไปจรดพรมแดนรัสเซีย
แน่นอนนี่คือสาเหตุประการสำคัญทำให้รัสเซียไม่พอใจ เพราะนาโตแสดงบทบาทเป็นศัตรูแก่รัสเซียเสมอมา การขยายรับสมาชิกให้ความร่วมมือทางการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ทำให้รัสเซียรู้สึกตัวเองตกอยู่ภายใต้การคุกคาม จากการล้อมกรอบประเทศสมาชิกนาโตกระชั้นเข้ามาถึงพรมแดนรัสเซีย
ฟางเส้นสุดท้ายของเรื่องนี้จึงมาตกอยู่ในพื้นที่ของประเทศยูเครน หนึ่งในประเทศใต้อิทธิพลโซเวียตที่ถือเป็นเพื่อนบ้านสำคัญ แต่นานวันความหวาดระแวงของรัสเซียกลับพุ่งเป้าไปหาประเทศนี้มากขึ้น เมื่อยูเครนส่งสัญญาณว่า พวกเขาต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชาติสมาชิกของนาโตเช่นกัน
สิ่งนี้เองกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาระหว่างสองชาติและเป็นประเด็นมาถึงปัจจุบัน
ชนวนความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน กับความหวาดระแวงหยั่งลึกนับแต่สงครามเย็น
ความพยายามในการผลักดันยูเครนเข้าร่วมสมาชิกนาโตไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2004 เมื่อนาโตขยายอิทธิพลและชาติสมาชิกให้กว้างไกลยิ่งขึ้น การเลือกตั้งในปีนั้นสองตัวเต็งสำคัญถือเป็นตัวแทนของสองฝั่ง โดย วิกเตอร์ ยุชเชนโก เป็นผู้สนับสนุนนโยบายโอนอ่อนต่อนาโต ส่วน วิกเตอร์ ยานูโควิช คือผู้สมัครที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย
การเลือกตั้งในยูเครนครั้งนั้นยุชเชนโกถูกวางยาพิษ ชัยชนะของยานูโควิชก็ไม่ได้การยอมรับจากประชาชนนำไปสู่การประท้วง ทำให้เกิดการเลือกตั้งซ่อมและยุชเชนโกได้รับชัยชนะไปในที่สุด เขาผลักดันให้ยูเครนอยู่ในสถานะ “ประเทศหุ้นส่วน” ที่พร้อมพิจารณาให้เข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกได้ทุกเมื่อ สิ่งนี้เองเป็นประเด็นที่รัสเซียไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
หากยูเครนเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกนาโตได้สำเร็จ ถึงตอนนั้นกองกำลังนานาชาติใต้คำสั่งนาโตจะเข้ามาประชิดชายแดนรัสเซียพร้อมยุทโธปกรณ์โดยสะดวก สิ่งนี้เองที่ผู้นำรัสเซียมองเป็นภัยคุกคาม จึงเกิดเป็นความพยายามในการขัดขวางของทางรัสเซีย ไม่ยินยอมให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกโดยเด็ดขาด
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้นมาหลายครั้ง ในปี 2014 เมื่อเกิดการประท้วงใหญ่จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้ยานูโควิชที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียถูกถอดถอนก่อนลี้ภัยไปรัสเซีย นั่นทำให้ทางรัสเซียบอกว่าการถอดถอนนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามด้วยการส่งกำลังทหารเข้าประชิดพรมแดนคาบสมุทรไครเมียอย่างรวดเร็ว
ช่วงเวลาเดียวกัน ไครเมีย รัฐหนึ่งในประเทศยูเครนได้ประกาศแยกตัวจากยูเครนหันไปอยู่ใต้การปกครองของรัสเซีย ด้วยแนวโน้มของคนในเมืองที่เอนเอียงไปทางรัสเซียและใช้ภาษารัสเซียเป็นส่วนมาก พวกเขาจึงยินดีในการอยู่กับรัสเซียมากกว่า รัสเซียจึงผนวกไครเมียพื้นที่ภาคใต้ของยูเครนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ อีกทั้งมีข่าวลือว่ารัสเซียสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางฝั่งตะวันออกของยูเครนอีกด้วย
การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 14,000 คน และทำให้เกิดผู้อพยพอีกกว่า 1 ล้านคนทีเดียว
การเคลื่อนไหวของ NATO และชะตาเคราะห์ที่ไม่จบสิ้นของยูเครน
ช่วงเวลาการผนวกไครเมียของรัสเซียทางนาโตไม่ได้แทรกแซงเข้าเรื่องดังกล่าว แต่ภายหลังจึงเริ่มมีการส่งกำลังทหารเข้าประจำพื้นที่ในแถบยุโรปตะวันออกเป็นครั้งแรก กองกำลังนานาชาติกระจายตัวไปในหลายประเทศทั้ง เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, โปแลนด์ ไปจนถึงโรมาเนีย สร้างความไม่พอใจให้แก่รัสเซียมากยิ่งขึ้น
นั่นนำไปสู่ความพยายามรูปแบบใหม่เพิ่มเติม มีข่าวว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ในยูเครน ทั้งการโจมตีโครงข่ายไฟฟ้า โจรกรรมข้อมูลไซเบอร์ รวมถึงโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลอยู่หลายครั้ง อีกทั้งสถานการณ์ตามแนวชายแดนและพื้นที่ทางตะวันออกก็ไม่เคยสงบลง ทำให้ยูเครนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
มีความพยายามในการลดแรงกดดันของทางฝั่งยูเครนหลายครั้งแต่ไม่เป็นผลนัก โดยเฉพาะในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สั่งลดความช่วยเหลือไปหายูเครน ทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาของทางยูเครนเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก
จนกระทั่งเดือนเมษายนปี 2021 รัสเซียเริ่มส่งทหารราว 100,000 นายเข้าประชิดพรมแดนยูเครนด้วยข้ออ้าง ฝึกซ้อมทหาร เป็นการจุดชนวนความตึงเครียดภายในยุโรปตะวันตกขึ้นมาอีกหนก่อนถอนกำลังไปบางส่วน กระทั่งช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เอง การยกกำลังพลเข้าประชิดชายแดนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
ข้อเรียกร้องของรัสเซียคือ ให้นาโตไม่อนุญาตให้ยูเครนเป็นสมาชิกโดยถาวร รวมถึงถอนกำลังทหารที่กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมนาโตหลังปี 1997 รวม 14 ประเทศ ด้วยเหตุผลว่านี่คือแผนการปิดล้อมรัสเซียของชาติตะวันตก แน่นอนว่าชาติตะวันตกและนาโตเองไม่มีทีท่าตอบรับข้อเรียกร้องดักล่าว รัสเซียจึงยังคงส่งกำลังเข้ามาประชิดชายแดนต่อไป
แต่นั่นทำให้บรรดาชาติสมาชิกภายในนาโตไม่มีทางอยู่เฉย สหรัฐฯกล่าวเตือนว่าหากรัสเซียรุกรานยูเครนจริง พวกเขาต้องชดใช้อย่างสาสม มีการสั่งเตรียมพร้อมทหาร 8,500 นายไว้รองรับ หากกรณีเกิดสงครามภายในยูเครน รวมถึงอพยพทั้งนักการทูตและพลเมืองของตัวเองออกจากยูเครน เช่นเดียวกับบรรดาชาติตะวันตกอื่นๆ
ปัญหาคือชาติสมาชิกภายในนาโตเองก็ไม่ได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากนัก นานาประเทศส่งยุทโธปกรณ์ให้ความช่วยเหลือยูเครน เตรียมพร้อมสำหรับการปะทะ แต่เยอรมนีที่เป็นอีกหนึ่งชาติสำคัญในยุโรปกลับไม่เห็นด้วยในแนวทางนี้ ไม่ได้ให้ความสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนนักนอกจากด้านการแพทย์ เห็นได้ชัดว่าภายในนาโตเองก็ไม่ได้เห็นด้วยในการเปิดศึกกับรัสเซียเสียทีเดียว
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้มาจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ด้วยยุโรปยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและพลังงานจากรัสเซียอยู่มาก หากรัสเซียยุติการจ่ายพลังงานเป็นไปได้ว่าประเทศในยุโรปที่เป็นสมาชิกนาโตเกือบทั้งหมดจะขาดแคลนพลังงาน อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถข้ามผ่านฤดูหนาวไปได้ เป็นเหตุให้บางประเทศไม่อยากขัดแย้งกับรัสเซียอย่างเปิดเผยนัก
แม้แนวโน้มชาติสมาชิกนาโตจะเห็นไปทางเดียวกันในการให้ความช่วยเหลือยูเครน แต่ก็น่ากังวลไปพร้อมกันว่าหากสงครามปะทุขึ้นทิศทางของโลกจะเป็นแบบไหน เช่นเดียวกับภูมิภาคตะวันตกของยูเครนที่มีการแยกตัวของกลุ่มกบฏออกมาเป็น สาธารณรัฐประชาชนโดเนตส์ และ สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งรัสเซียให้การรับรองความเป็นเอกราชไป
กระนั้นใช่ว่ายูเครนจะไม่มีความหวังเสียทีเดียว เมื่อมีความพยายามในการเจรจาจากหลายประเทศ ทั้งประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ จากเยอรมนี สองผู้นำต่างเดินทางไปเยือนรัสเซียเพื่อเจรจาพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกัน เช่นเดียวกับท่าทีของรัสเซียที่ย้ำชัดว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้ต้องการสงคราม
แม้เราจะไม่แน่ใจว่าการเจรจาพูดคุยครั้งนี้จะช่วยเหลือประชาชนของยูเครนคลี่คลายความขัดแย้งได้แค่ไหนก็ตาม
——————–
ที่มา
- https://www.matichon.co.th/columnists/news_276323
- https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2715e39c306000a364?cate=5d5bcb4e15e39c3060006872
- https://www.aljazeera.com/news/2022/2/13/timeline-how-the-ukraine-russia-crisis-reached-the-brink-of-war
- https://www.npr.org/2022/02/12/1080205477/history-ukraine-russia
- https://www.thaipost.net/one-newspaper/86421/
- https://www.dailynews.co.th/news/771682/